หญิงอังกฤษฉี่ไม่ออกเป็นปี สุดท้ายพบโรคประหลาด ต้องผ่าตัด





เว็บไซต์ต่างประเทศ รายงานว่า สาวอังกฤษคนนี้ชื่อ “แอล อดัมส์” วัย 30 ปี ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคประหลาดทำให้ปัสสาวะไม่ออกนาน 14 เดือน โดยพบอาการดังกล่าวในเช้าวันหนึ่งของเดือนตุลาคมปี 2563 ไม่ว่าเธอจะพยายามเบ่งปัสสาวะ หรือดื่มน้ำเยอะแค่ไหน แต่ปัสสาวะไม่ยอมออกมาเลย

เมื่อมีอาการดังกล่าวอดัมส์ตัดสินใจไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในลอนดอนเพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียด โดยแพทย์ พบว่า อดัมส์มีปัสสาวะคั่งในกระเพาะมากถึง 1 ลิตร ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก เพราะปกติแล้วกระเพาะปัสสาวะของผู้หญิงจะจุได้เพียง 500 ม.ล. ส่วนผู้ชายจะจุได้ 700 ม.ล.

หลังจากนั้นหมอได้ใส่สายสวนปัสสาวะเพื่อให้น้ำปัสสาวะออก หมอก็ได้ทำการตรวจการทำงานของกระเพาะปัสสาวะต่อทันที ซึ่งกระบวนการตรวจสอบเพื่อวินิจฉัยโรคที่เธอเป็น ต้องใช้เวลานานถึง 8 เดือน ซึ่งระหว่างที่อดัมส์รอผลการตรวจจะต้องทำการสวนปัสสาวะด้วยตัวเอง โดยใช้สายสวนที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ

ในที่สุดหมอได้วินิจฉัยว่า เธอเป็นโรคFowler’s Syndrome เป็นโรคที่พบได้ยาก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุระหว่าง 20-35 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออก ต้องสวนปัสสาวะ แต่ตรวจไม่พบความผิดปกติใด ๆ ที่จะอธิบายอาการถ่ายปัสสาวะไม่ออกนี้ได้ สำหรับโรคนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย เพราะมีผู้ป่วยน้อย ส่งผลให้พวกเขาได้รับการรักษาไม่ตรงตามโรค

สำหรับการรักษาโรคดังกล่าว แพทย์แนะนำให้อดัมส์เข้ารับการผ่าตัด “การกระตุ้นเส้นประสาทใต้กระเบ็นเหน็บ (Sacral nerve stimulation)” ในเดือนมกราคม 2565 ที่ผ่านมา การผ่าตัดดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะโดยตรง โดยผ่าตัดฝังอุปกรณ์กระตุ้นเส้นประสาทไว้ในร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งการผ่าตัดก็ผ่านพ้นไปด้วยดี แม้จะไม่สามารถปัสสาวะได้ตามปกติ เพราะเธอยังต้องใช้เครื่องสวนปัสสาวะร่วมด้วยอยู่ แต่ก็ดีกว่าทนทรมานเหมือนที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของBladder Health UK ระบุว่า การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะบ่อยๆ อาจเป็นปัญหาสำหรับผู้หญิงที่เป็นโรค Fowlers Syndrome เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะไม่ระบายออกอย่างเหมาะสม อาการของโรคนี้ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการปวดหลัง ไต และเหน็บชา ร่วมกับมีเลือดปนในปัสสาวะ อาการกระตุกของกระเพาะปัสสาวะอาจเป็นปัญหาได้เช่นกัน

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: