แพทย์เตือนอย่าซื้อยาต้านซีเซียมกินเอง ยืนยันผลไม้-สินค้าปราจีนฯปลอดภัย





22 มีนาคม 2566 ที่ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ศ.นพ.วินัย วนากุล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยาและหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ศูนย์พิษวิทยาและภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน และ ผศ.กฤศณัฏฐ์ เชื่อมสามัคคี ภาควิชารังสีวิทยา ร่วมแถลงประเด็น “ซีเซียม-137 กับยาต้านพิษ พรัสเซียนบลู (Prussian blue)”

ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า ซีเซียม-137 เป็นสารกัมมันตรังสี โดยเป็นไอโซโทปของซีเซียมมีค่าครึ่งชีวิต (Half-life) หรือความแรงของรังสี ประมาณ 30 ปี เมื่อสลายตัวจะปล่อยรังสีบีต้าและรังสีแกมมา เมื่อได้รับซีเซียม-137 จะเกิดผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยจะมีอาการนำมาก่อน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย จากนั้น จะหายไปชั่วคราว ต่อมาอีก 3 สัปดาห์ จะได้อาการใน 3 ระบบหลัก ๆ คือ ระบบโลหิต มีผลกดไขกระดูกทำให้เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดต่ำลงได้, ระบบทางเดินอาหารมีผลทำให้คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นเลือด และระบบประสาท ทำให้สับสน เดินเซ หรือชัก ขณะที่ผลระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้

รศ.พญ.สาทริยา กล่าวว่า สำหรับพรัสเซียนบลู เป็นสารที่ให้สีน้ำเงินใช้แพร่หลายในการเขียนภาพ และถูกนำมาใช้เป็นยาต้านพิษรักษาภาวะพิษจากซีเซียมใช้เฉพาะผู้ที่มีการปนเปื้อนซีเซียมในร่างกายเท่านั้น ไม่ใช้ในกรณีที่ได้รับการปนเปื้อนตามผิวหนังหรือเสื้อผ้า โดยกลไกการออกฤทธิ์ของพรัสเซียนบลูจะไปจับกับซีเซียมในสำไส้ ป้องกันไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และลดการดูดซึมกลับจากระบบทางเดินอาหารไปยังตับและขับมาทางน้ำดีที่จะเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาได้ ทั้งนี้ ผลข้างเคียงของการได้รับยาในขนาดที่รักษาได้ เช่น ท้องผูก ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ สีของอุจจาระ เยื่อบุหรือฟันเปลี่ยนสี

“ไม่ควรซื้อมารับประทานเอง เนื่องจากพรัสเซียนบลูที่ซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต อาจผลิตมาเพื่อประโยชน์ด้านอื่นไม่ได้ถูกผลิตเป็นยาใช้ในมนุษย์ ซึ่งจะมีเกรดความบริสุทธิ์ การปนเปื้อนต่างกัน ดังนั้น หากนำมาใช้ก็อาจมีผลข้างเคียงได้ ฉะนั้น การรักษาด้วยยาชนิดนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งจะมีการตรวจวัดปริมาณซีเซียมในร่างกาย ส่วนจะใช้พรัสเซียนรักษานานเท่าไร ขึ้นอยู่กับปริมาณสารซีเซียมในร่างกาย” รศ.พญ.สาทริยา กล่าว

ด้าน ผศ.กฤศณัฏฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้ซีเซียม-137 ทั้งในโรงพยาบาล (รพ.) และโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การวัดปริมาณขี้เถ้า กระดาษ หรือเหล็ก ซึ่งการใช้ รพ.ใช้น้อยกว่าที่เกิดเหตุ 1,000 เท่า จากการแถลงของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) พบว่า ที่เกิดเหตุมีค่าความแรงรังสีอยู่ที่ 41.4 mCi หรือคิดเป็นน้ำหนัก 0.000505 กรัม หรือ 505 ไมโครกรัม ซึ่งน้อยกว่าเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล มีการคาดการณ์ว่า มีซีเซียมปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม 27 กิโลกรัม

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ครั้งนี้ก็จะน้อยกว่าถึง 56.7 ล้านเท่า หรือถ้าเทียบเหตุการณ์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ก็ต่างกัน 11 ล้านเท่า ส่วนเหตุการณ์โคบอลต์-60 เมื่อปี 2543 ที่มีความแรงรังสีมากกว่าครั้งนี้ 1,000 เท่า และพลังงานโคบอลต์มีพลังมากกว่าซีเซียม 2 เท่า นั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

ผศ.กฤศณัฏฐ์ กล่าวว่า ซีเซียม มีจุดเดือดที่ 671 องศาเซลเซียส ถ้ามีการหลอมก็จะละเหยเป็นไอและฝุ่นอยู่ในห้องหลอม หากไม่ถูกจัดเก็บในระบบปิดก็มีโอกาสให้ปนเปื้อน ปลิวหลุดมาในสิ่งแวดล้อม แต่จากการแถลงข่าวของ ปส. ระบุว่า มีห้องระบบปิดในการหลอม ดังนั้น จึงมีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ฉะนั้น ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ

“ส่วนความกังวลในการรับประทานผลไม้จากพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เรียนว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ผลไม้ ข้าว หรือนม มีสารกัมมันตรังสีธรรมชาติอยู่แล้ว เรียกว่า รังสีพื้นหลัง ซึ่งขณะนี้ ปส.ได้ตรวจปริมาณรังสีที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม มีเพียง 41.1 mCi ดังนั้น จึงไม่สามารถทำให้ผลไม้ในพื้นที่ปนเปื้อนได้” ผศ.กฤศณัฏฐ์ กล่าว

รวมถึงสามารถเดินทางไปในพื้นที่ที่ห่างจากโรงงาน และไปเที่ยวใน จ.ปราจีนบุรี ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่สังเกตวัตถุต้องสงสัย เพราะปัจจุบันยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสิ่งที่ถูกหลอมจะเป็นอันเดียวกันกับที่หายไปหรือไม่ ซึ่งหากพบวัตถุสงสัย ต้องแจ้งสายด่วน ปส.1296

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่า ซีเซียม-137 ที่หายไปเป็นอันเดียวกับที่พบในโรงหลอมเหล็ก ผศ.กฤศณัฏฐ์ กล่าวว่า ต้องอาศัย 2 เทคนิค จากนิติวิทยาศาสตร์และทางเคมี โดยใช้วิธีหาปริมาณซีเซียมที่ออกมาจากสารกัมมันตรังสีในโรงหลอม เทียบกับสารซีเซียมคงตัวในธรรมชาติของซีเซียมที่หายไป ที่จะมีปริมาณ 41.1 mCi

เมื่อถามถึงความพร้อมของยาพรัสเซียนบลูในประเทศไทย ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า พรัสเซียนบลูใช้เป็นยาต้านพิษซีเซียมและโลหะหนัก โดยตลอด 20 ปี ไม่ต้องใช้ ทำให้ยาหมดอายุ ดังนั้น ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มียาพรัสเซียนบลู แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำลังพิจารณาจัดหา ขอย้ำว่า สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องใช้พรัสเซียนบลู แต่เหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้เรามีการเตรียมพร้อมมากพอสมควร

เมื่อถามถึงข้อเท็จจริงที่มีการแชร์ข้อมูลว่า รังสีซีเซียม-137 สามารถแพร่กระจายได้ถึง 1,000 กิโลเมตร ผศ.กฤศณัฏฐ์ กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะซีเซียมในเหตุการณ์นี้ มีปริมาณน้อยมาก ก็จะถูกเจือจางโดยธรรมชาติ ทำให้ไม่ปลิวไปไกล

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: