ประกันสังคมเพิ่ม35รพ. ผ่าตัดฟรี ไม่ต้องรอคิวนาน ให้บริการถึง30มิ.ย.





8 มีนาคม 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการให้บริการทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษาของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนที่ป่วยและมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการ

นำร่องในกลุ่มโรคที่มีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษามากที่สุดสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคม เพื่อลดการรอคอยการผ่าตัด ลดระยะเวลาการพักฟื้น โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการแต่อย่างใด

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงครั้งนี้มีผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม รวมทั้งผู้บริหารสถานพยาบาลทั้ง 35 แห่ง พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมให้การต้อนรับ ณ โรงแรมเอเชียกรุงเทพ ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

นายบุญสงค์กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ร่วมมือกับสถานพยาบาลที่มีศักยภาพตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด นำร่องในกลุ่ม 5 โรค ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม, ก้อนเนื้อที่มดลูก, โรคนิ่วในไตหรือถุงน้ำดี, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคหัวใจและหลอดเลือด

โดยที่ผ่านมามีโรงพยาบาลเข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการทางการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 แล้วจำนวน 10 แห่ง ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2566 มีจำนวนผู้ป่วยเข้ารับการ ทำหัตถการแล้ว จำนวน 692 ราย

ซึ่งผลการดำเนินงานเป็นไปได้ด้วยดี ผู้ประกันตนได้รับการรักษาเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่มีภาวะแทรกซ้อนและอัตราการเสียชีวิต ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงการรักษา อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยคลอบคลุมมากยิ่งขึ้น

จึงได้มีการพิจารณาสถานพยาบาลที่สมัครเข้าร่วมเพิ่มเติมโดยมีสถานพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด จำนวน 35 แห่ง พร้อมให้บริการรักษา ให้กับผู้ประกันตนตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

โรงพยาบาลที่เข้าร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้บริการทางการแพทยเพิ่มเติม 35 แห่งมีดังนี้

สถานพยาบาลให้บริการรักษาด้านหัตถการโรคหัวใจและหลอดเลือด จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลวิภาราม กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเพชรเวช กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลไทยนครินทร์ กรุงเทพฯ,

โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รามคำแหง กรุงเทพ, โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ปทุมธานี, โรงพยาบาลราชธานี อยุธยา, โรงพยาบาลวิภารามปากเกร็ด นนทบุรี, โรงพยาบาลภัทร-ธนบุรี ปทุมธานี, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ เชียงราย,

สถานพยาบาลให้บริการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลวิภาราม กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รามคำแหง กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช ลพบุรี

สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดนิ่วในไตและถุงน้ำดี จำนวน 20 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ปทุมธานี, โรงพยาบาลราชธานี อยุธยา, โรงพยาบาลภัทร-ธนบุรี ปทุมธานี, โรงพยาบาลเกษมราฎร์ ศรีบุรินทร์ เชียงราย, โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช ลพบุรี, โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลหัวเฉียว กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 กรุงเทพฯ,

โรงพยาบาลลาดพร้าว กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลการุญเวช ปทุมธานี, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ สระบุรี, โรงพยาบาลบางปะกอก 3 สมุทรปราการ, โรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร ชลบุรี, โรงพยาบาลเอกชล 2 ชลบุรี, โรงพยาบาลหริภุญชัย เมโมเรียล ลำพูน, โรงพยาบาลร่มฉัตร นครสวรรค์, โรงพยาบาลหนองคาย หนองคาย, โรงพยาบาลเทพปัญญา เชียงใหม่, โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่

สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดมะเร็งเต้านม จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎ์ ประชาชื่น กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลภัทร-ธนบุรี ปทุมธานี, โรงพยาบาลบางปะกอก 3 สมุทรปราการ, โรงพยาบาลหนองคาย หนองคาย, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่

สถานพยาบาลให้บริการผ่าตัดก้อนเนื้อที่มดลูก จำนวน 16 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ปทุมธานี, โรงพยาบาลราชธานี อยุธยา, โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บางแค กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลลาดพร้าว กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร ชลบุรี, โรงพยาบาลเอกชล 2 ชลบุรี,

โรงพยาบาลหริภุญชัย เมโมเรียล ลำพูน, สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรุงเทพฯ โรงพยาบาลลานนา เชียงใหม่, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย สมุทรสาคร, โรงพยาบาลกรุงไทย นนทบุรี, โรงพยาบาลราชธานี โรจนะ อยุธยา, โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์ สมุทรปราการ, โรงพยาบาลเกษมราษฎ์ฉะเชิงเทรา ฉะเชิงเทรา

นายบุญสงค์อธิบายต่อว่า สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์โดยตรงกับสถานพยาบาลที่ทำบันทึกข้อตกลง โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการแต่อย่างใด สำหรับระยะเวลาดำเนินการถึง 30 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผู้ประกันตนต่อไป

“สำนักงานประกันสังคมมุ่งมั่นและทุ่มเทการทำงาน โดยยึดหลักการดำเนินงานภายใต้แนวทางของรัฐบาลภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลและเข้าถึงการให้บริการ”

“รักษาทางการแพทย์ของประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ได้มอบนโยบายในเรื่องการจัดการและพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์และเข้าถึงการรักษาจากสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมให้มากที่สุด”

 

ข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: