รองผู้ว่าฯกทม.สั่งห้าม ร้านบะหมี่ดังขายบนทางเท้า ขายได้วันละหมื่นน่าจะมีเงินเช่าที่





6 มกราคม ที่เขตจตุจักร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร และคณะ ลงพื้นที่ตรวจและติดตามงานของ สำนักงานเขตจตุจักร ภายในพื้นที่เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

โดเวลา 15.45 น. นายจักกพันธุ์และคณะ ตรวจหาบเร่แผงลอย หน้าคอนโดประชานิเวศน์ 1 ถนนเทศบาลรังรักษ์เหนือ โดยได้แวะร้านบะหมี่หมูแดงชื่อดัง ที่ตั้งขายอยู่บนทางเท้า

นายจักกพันธุ์สอบถามกับผู้ค้า ได้ความว่า ขายมาแล้ว 14 ปีแล้ว ขายได้วันละหมื่นกว่าบาท หรือเกือบ 300,000 บาทต่อเดือน แต่ที่ยังไม่ย้ายออก เพราะกลัวว่าจะไม่มีลูกค้า

นายจักกพันธุ์ จึงแนะนำว่ายังสามารถค้าขายได้เหมือนเดิม แต่จะตั้งโต๊ะเก้าอี้ให้ลูกค้านั่งรับประทานบนทางเท้าไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีที่ให้ประชาชนเดินสัญจร อีกทั้งทางเท้ากว้างเพียง 1.5 เมตร

“ถ้าเกิดกรณีคนลงไปเดินบนผิวจราจร แล้วเกิดรถเฉี่ยวชนขึ้นมาจะทำอย่างไร คือตอนนี้ไม่เกิดก็โอเค แต่ถ้าเกิดขึ้นมา ก็ต้องหาทางป้องกัน ที่พูดไม่ได้หมายความว่าห้ามขาย เขาก็ขายได้ ผม และ ผอ.เขต ก็จะหาที่ให้ด้วย แต่ขณะเดียวกันพื้นที่เอกชนก็ต้องมีค่าเช่าอะไรบ้าง แต่ดูแล้วที่เขาค้าขายมีสเกลพอสมควร ก็น่าจะมีศักยภาพจ่ายค่าเช่าได้” นายจักกพันธุ์กล่าว

นายจักกพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีจุดผ่อนผันทั้งหมด 95 จุด มีผู้ค้าจำนวน 6,048 ราย นอกจุดผ่อนผัน 697 จุด มีผู้ค้าจำนวน 15,000 ราย โดยสำนักงานเขตมีการปรับเงินสำหรับผู้ค้านอกจุดผ่อนผัน อย่างไรก็ตาม การใช้ทางเท้าเป็นที่ขายของ ต้องไม่ให้กระทบกับผู้เดินเท้า

นายจักกพันธุ์กล่าวอีกว่า จุดที่ไปดู ไม่มีทางเท้าให้ประชาชนเดิน จึงต้องมีการย้ายไปในจุดที่เหมาะสม โดยมอบหมายให้ ผอ.เขตจตุจักร เข้าไปพูดคุยกับเจ้าของพื้นที่หน้าคอนโด ซึ่งมีพื้นที่ให้ผู้ค้าได้ 13-15 ราย พร้อมกับเจรจาให้ผู้ค้าเสียค่าเช่าในราคาต่ำที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานภาพรวมการลงพื้นที่ ของ นายจักกพันธ์ และ นายพรเลิศ ผอ.เขตจตุจักร ในวันนี้

โดยเวลา 14.30 น. นายจักกพันธุ์ ลงพื้นที่เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ อาคารสำนักงานเขตจตุจักร โดยให้แนวทาง วิธีการคัดแยกขยะ ดังนี้

1.ขยะทั่วไป (ถังสีน้ำเงิน) ได้แก่ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษ

2.ขยะรีไซเคิล (ถังสีเหลือง) ได้แก่ กระดาษ พลาสติก แก้ว กระป๋อง อลูมิเนียมหรือสิ่งของที่ไม่ใช้งาน

3.ขยะอันตราย (ถังสีส้ม) ได้แก่ ขยะที่มีสารปนเปื้อนวัตถุอันตราย สารเคมี วัตถุไวไฟ

4.ขยะติดเชื้อ (ถังสีแดง) ได้แก่ หน้ากากอนามัย หรือสิ่งของที่สัมผัสกับสารคัดหลั่ง เขตฯ ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรและประชาชนที่มาติดต่อราชการร่วมมือกันคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์

จากนั้น นายจักกพันธุ์และคณะ เดินทางไปตรวจวัดควันดำตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 บริษัท เชิดชัยมอเตอร์เซลล์ จำกัด โดยใช้เครื่องตรวจวัดควันดำด้วยระบบความทึบแสง จากนั้น เร่งเครื่องยนต์อย่างรวดเร็วจนสุดคันเร่ง และคงไว้ที่ความเร็วสูงสุดไม่น้อยกว่า 2 วินาที ทำการตรวจวัดค่าควันดำ 2 ครั้ง ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นเกณฑ์ตัดสิน สำหรับค่ามาตรฐานควันดำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ.2564 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 13 เมษายน 2565 กำหนดค่ามาตรฐานควันดำตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบความทึบแสงต้องไม่เกิน 30% และตรวจด้วยเครื่องมือวัดระบบกระดาษกรองต้องไม่เกิน 40% ส่วนค่ามาตรฐานเสียงระดับเสียงปลายท่อไอเสียรถยนต์ต้องไม่เกิน 100 เดซิเบล

ทั้งนี้ นายจักกพันธุ์ ได้มอบหมายให้เขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางป้องกันฝุ่น PM2.5 เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด

ต่อมา นายจักกพันธุ์ เดินทางต่อไปยัง สวนป่าประชานุกูล ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก ใกล้แยกประชานุกูลเลียบคลองประปา เพื่อสำรวจพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที โดย สวนป่าประชานุกูล มีเนื้อที่ 3 ไร่ 3 งาน เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยต่อสัญญาทุก 5 ปี (2563-2567) เขตจตุจักร ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวน จัดทำแนวรั้วกั้นขอบเขตรอบสวน ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม จัดทำทางเดิน-วิ่งออกกำลังกาย ทั้งนี้ นายจักกพันธุ์ มอบหมายให้เขตฯ ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติม หรือพิจารณาจัดหาโซล่าเซลล์มาติดตั้งภายในสวน เพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชนผู้มาใช้บริการ

จากนั้น นายจักกพันธุ์ และทีมงาน เดินทางไปติดตาม โครงการปรับปรุงศูนย์ฝึกอาชีพจตุจักร ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น เนื้อที่ 96 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ที่ดินของกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตจตุจักร ตั้งอยู่บริเวณซอยเทศบาลนิมิตรเหนือ 34 มีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคาร 1,300 ตารางเมตร ลักษณะการใช้งานของพื้นที่ เป็นห้องเรียนฝึกอาชีพ ชั้น 1 ประกอบด้วย ห้องโชว์ผลงาน ห้องเรียนเบเกอรี่ ขนมหวาน ขนมไทย ห้องเรียนอาหารคาว-หวาน ชั้น 2 ประกอบด้วย สำนักงาน ห้องเรียนตัดผมเสริมสวยสุภาพสตรี ห้องเรียนตัดผมสุภาพบุรุษ ห้องเรียนนวดแผนไทย ชั้น 3 ห้องเรียนสอนตัดเย็บเสื้อผ้า ห้องเรียนจัดดอกไม้สด-ดอกไม้แห้ง ห้องเรียนปั้นดิน-แกะสลักผลไม้-ผ้าบาติค ชั้น 4 ประกอบด้วย ห้องเรียนเทียนหอม-สบู่หอม ห้องเรียนทำเล็บสวยงาม ห้องเรียนคอมพิวเตอร์-ทำตลาดออนไลน์ ชั้น 5 ประกอบด้วย ห้องเรียนเสริมตามโอกาสต่างๆ ห้องประชุมใหญ่ ห้องประชุมเล็กอเนกประสงค์ สำหรับพื้นที่ส่วนการให้บริการ ประกอบด้วย ห้องน้ำชาย-หญิง ห้องน้ำผู้พิการ โถงพักคอย ลิฟท์โดยสารขนาด 10-11 คน มีปุ่มและเสียงเพื่อผู้พิการ ทางลาดผู้พิการที่ต้องใช้รถเข็น ปัจจุบันโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพจตุจักร อยู่ในขั้นตอนของการเดินระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ระบบประปา การเก็บรายละเอียด และติดตั้งระบบสัญจรแนวดิ่ง (ลิฟต์) ภายหลังการติดตามงาน นายจักกพันธุ์ ได้เร่งรัดผู้รับจ้างให้ดำเนินการในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คาดว่าประมาณเดือนมีนาคม 2566 จะเปิดให้บริการได้

สำรวจพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า Tops Market ประชานิเวศน์ ถนนเทศบาลรังรักษ์เหนือ ผู้ค้า 21 ราย ทำการค้าวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.00-15.00 น. เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน 1 จุด บริเวณถนนกำแพงเพชร 4 ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ามิกซ์จตุจักรถึงทางเท้าลานจอดรถห้างเจเจมอลล์ เวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. มีผู้ค้า 40 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณถนนสายหลักและถนนสายรอง จำนวน 9 จุด ผู้ค้า 108 ราย ได้แก่

1.ถนนกำแพงเพชร (ตึกแดง) ผู้ค้า 8 ราย ทำการค้าวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.00-21.00 น.

2.ถนนกำแพงเพชร 3 ผู้ค้า 46 ราย ทำการค้าวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.00-21.00 น.

3.ถนนกำแพงเพชร 4 ผู้ค้า 12 ราย ทำการค้าวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 07.00-21.00 น.

4.ถนนเทศบาลสงเคราะห์ ผู้ค้า 7 ราย ทำการค้าวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.00-15.00 น.

5.ถนนเทศบาลนิมิตเหนือ ผู้ค้า 4 ราย ทำการค้าวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.00-15.00 น.

6.หน้าสวนจตุจักร ผู้ค้า 7 ราย ทำการค้าวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 07.00-21.00 น.

7.หน้าห้างยูเนี่ยนมอลล์ ผู้ค้า 12 ราย ทำการค้าวันอังคาร- อาทิตย์ เวลา 16.00-21.00 น.

8.หน้าโรงพยาบาลเปาโลเกษตร ผู้ค้า 3 ราย ทำการค้าวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 07.00-20.00 น.

9.หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ค้า 9 ราย ทำการค้าวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 07.00-14.00 น.

ทั้งนี้ นายจักกพันธุ์ ได้มอบหมายให้เขตฯ ประสานกับทางห้าง เพื่อย้ายผู้ค้าเข้าไปตั้งวางขายสินค้าบริเวณพื้นที่ว่างด้านข้าง โดยให้จัดเก็บค่าเช่าในราคาต่ำที่สุด เนื่องจากทางเท้าบริเวณดังกล่าวมีขนาดเล็กคับแคบ อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้ทางเท้าในการเดินทางสัญจร และเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ต่อไป

ต่อมา เดินทางไปเยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนเคหะสถานเจริญชัย ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยจากต้นทาง ซึ่งเขตฯ ได้ส่งชุมชนดังกล่าวประกวดชุมชนปลอดขยะประจำปี 2566 ของ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะจากต้นทาง ดังนี้

1.กิจกรรมการใช้ประโยชน์จากขยะอาหารและเศษใบไม้กิ่งไม้ในชุมชน นำขยะอาหารที่คัดแยกจากครัวเรือนมาทำปุ๋ยอินทรีย์ กิจกรรมการปรับภูมิทัศน์ในชุมชน ด้วยการตัดแต่งกิ่งไม้เก็บเศษใบไม้นำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้เครื่องบดย่อยกิ่งไม้ ใช้เวลาในการหมัก 15-30 วัน นำมาใช้ในแปลงปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างรายได้และลดรายจ่ายให้กับชุมชน

2.กิจกรรมการใช้ประโยชน์จากขยะอาหาร การทำน้ำยาอเนกประสงค์ น้ำยาล้างจาน โดยนำเศษผลไม้จากครัวเรือนและจากร้านค้า มาผลิตเป็นน้ำยาอเนกประสงค์ น้ำยาล้างจาน เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยจากต้นทาง และสร้างรายได้ในชุมชน

3.กิจกรรมการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน กำหนดวันทิ้งขยะมูลฝอยในชุมชนทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ กำหนดสัญลักษณ์ธงสีเขียวหมายถึง ครอบครัวที่คัดแยกขยะรีไซเคิล ขยะอาหาร ขยะทั่วไป และขยะอันตราย ธงสีชมพูหมายถึง ครอบครัวที่คัดแยกขยะอาหาร ขยะทั่วไป ขยะอันตราย ส่วนขยะรีไซเคิลไม่ประสงค์จะทิ้งโดยจะนำไปใช้ประโยชน์เอง

ต่อมา ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โครงการก่อสร้างที่พักอาศัย BLUE พหลโยธิน 35 ประกอบด้วย อาคาร A สูง 8 ชั้น และอาคาร B สูง 8 ชั้น ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ทั้งนี้ นายชัชชาติ ได้มอบหมายเขตฯ ตรวจสอบตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและเสียง รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัย เดือนละ 2 ครั้ง การติดตั้งตาข่ายคลุมอาคารป้องกันฝุ่น การพ่นฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นละอองและเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ พื้นที่สำหรับล้างล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ โดยเน้นย้ำผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 ตามเกณฑ์มาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมและป้องกันมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: