ภาคธุรกิจหวั่นค่าแรง600 ไม่ส่งผลดีต่อเพื่อไทย แนะค่อยๆ ปรับ หวั่นนักลงทุนเผ่นหนี





7 ธันวาคม นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยถึงกรณีที่ พรรคเพื่อไทย มีนโยบายขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อวันว่า นโยบายดังกล่าวจะมีผลกระทบอย่างมากต่อภาคธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เนื่องจากหากค่าแรงที่ประกาศออกมาเป็นจริงเท่ากับปรับขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้คนที่รับงานไว้แล้วไปไม่ไหว หรือคนที่รับงานใหม่หากค่าแรงสูงขึ้นเกินไป จะทำการตลาดยากขึ้น จะทำให้เป็นปัญหาต่อระบบธุรกิจในอนาคต

“ปัจจุบันผู้ประกอบการมีภาระต้นทุนสูงอยู่แล้ว จากผลกระทบสงคราม ราคาพลังงาน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นโดยเฉลี่ย 10% เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ด้วย ซึ่งนักธุรกิจส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจอยู่ในขณะนี้ไม่ได้มีกำไรอะไรมาก ต่างพยายามประคองตัวกันไปอยู่ เพราะไม่รู้อีกกี่ปีเศรษฐกิจถึงจะดีขึ้นอย่างเต็มที่” นายวรวุฒิกล่าว

มองไม่ส่งผลดีเพื่อไทย-นักธุรกิจไม่เลือก

นายวรวุฒิกล่าวว่า มองว่านโยบายค่าแรง 600 บาทต่อวัน จะไม่เป็นผลดีต่อพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง โดยเกรงว่านักธุรกิจจะต้องคิดหนักและอาจจะไม่เลือกเพื่อไทย เพราะค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบันที่ปรับขึ้นเกือบ 10% สูงสุด 353 บาทต่อวัน มีผลต่องานก่อสร้างและราคาบ้านประมาณ 2% ถ้าค่าแรงขึ้นเป็น 600 บาทต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 250 บาท เท่ากับปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% จะส่งผลกระทบต่อค่าก่อสร้างและราคาบ้านประมาณ 15% ถือว่าสูงมาก เพราะกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทางตรงกระทบกับภาคแรงงานร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ต้องปรับขึ้นค่าขนส่ง เพราะอยู่ในส่วนของกิจกรรมด้านเศรษฐกิจทั้งหมด

“โดยส่วนตัวผมยังไม่เห็นด้วยที่จะปรับขึ้นค่าแรงของพรรคเพื่อไทย เพราะหากได้รับจัดตั้งเป็นรัฐบาลในปีหน้า จะต้องทำตามนโยบายเรื่องค่าแรงอย่างแน่นอน เหมือนกับรอบที่แล้วที่ปรับขึ้นค่าแรงจาก 200 บาท เป็น 300 บาทต่อวัน เรายังเดือดร้อน แต่ผมมองว่าค่าแรงในระดับเท่านี้ถือว่ายังโอเค เพราะก่อนหน้านี้ค่าแรงเราค่อนข้างต่ำ” นายวรวุฒิกล่าว

ชี้ซ้ำเติม ศก.ยังไม่ฟื้นดี นักลงทุนเผ่นหนี

นายวรวุฒิกล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปีหน้าเศรษฐกิจโลกไม่ค่อยดี รวมถึงเศรษฐกิจประเทศจีนเองก็ไม่ค่อยดี ซึ่งจีนยังเป็นห่วงเรื่องโควิด ยังไม่รู้ปีหน้าจะกลับเข้ามาในประเทศไทยหรือเปล่า ซึ่งไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ทั้งนี้ อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อค่าแรงมีการปรับขึ้นสูงเป็นเท่าตัวจะทำให้นักลงทุนย้ายฐานออกจากประเทศไทย

นายวรวุฒิกล่าวว่า ปัจจุบันจากสถานการณ์เศรษฐกิจและนโยบายซีโร่โควิดของประเทศจีน รวมถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า ทำให้หลายประเทศย้ายการลงทุนจากจีน หันมาสนใจประเทศไทย แต่ถ้าหากมีนโยบายขึ้นค่าแรงอาจจะทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายการลงทุนออกไปเหมือนรอบที่แล้วที่ค่าแรงขึ้น 300 บาท หรือแม้แต่นักลงทุนไทยเองก็ย้ายไปลงทุนต่างประเทศจากค่าแรงที่สูง

แนะควรปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป

“การขึ้นค่าแรงจะทำให้เกิดความไม่แน่ไม่นอนต่อเศรษฐกิจในปี 2566-2567 ที่คาดว่ายังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่ นอกจากนี้ ทำให้คนจะหาที่อยู่บ้านยากขึ้น เพราะบ้านขึ้นราคาตามต้นทุนเพิ่มขึ้น 15% เช่น จากบ้านราคา 3 กว่าล้านบาท เป็น 4 ล้านบาท สำหรับข้อเสนอแนะควรจะปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปในแต่ละปี ไม่ใช่ปรับพรวดเดียว 600 บาทถ้าเป็นแบบนั้น ธุรกิจช็อกกันแน่นอน บางรายอาจจะถอดใจ ปิดกิจการ เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ คนตกงาน” นายวรวุฒิกล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: