คลังเล็งเก็บแวต “บุหรี่-เหล้า” เพิ่มเป็น10% หารายได้โปะรัฐ-ใช้หนี้





26 กันยายน กระทรวงการคลัง เล็งหารายได้โปะรัฐด้วยการปรับวิธีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) เป็น 2 อัตรา โดยสินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าที่ไม่จำเป็น อาจจะเก็บเต็มเพดานที่ 10%

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง จะเสนอแนวคิดการใช้อัตราภาษีแวต 2 อัตรา โดยอัตราปกติ 7% สำหรับสินค้าทั่วไปและจัดเก็บอัตราสูงกว่า 7 % สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย คาดว่าจะสร้างรายได้เข้ารัฐกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งแนวคิดการจัดเก็บภาษีแวต 2 อัตรานั้น ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เคยศึกษาไว้นานแล้ว โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าที่จำเป็นในชีวิต ภาษีอยู่ที่อัตราเดิม 7 % แต่สินค้าบางชนิด ที่ไม่จำเป็นหรือจัดอยู่ในสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สุรา ยาสูบ จะเก็บในอัตราสูงกว่าปกติ ตามเพดานในกฎหมาย กำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มสูงสุดไม่เกิน 10 %
แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง เสนอปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย และฝ่ายการเมืองไม่สนับสนุน เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อประชาชน ช่วงที่ผ่านมามีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการปรับลดภาษี ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรม ทำให้อัตราสูงสุดตามโครงสร้างลดลงเหลือ 35% จากเดิม 37% และปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ลงเหลือ 20%

“ส่วนการปรับขึ้นภาษีทำได้ค่อนข้างยากโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่รายจ่ายของรัฐบาลพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้รัฐบาลต้องออกพ.ร.ก.เงินกู้ฉบับพิเศษ 2 ฉบับ รวมวงเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบด ส่งผลให้รัฐบาลต้องขยายเพดานของการก่อหนี้สาธารณะเป็นไม่เกิน 70% จากเดิมไม่เกิน 60% เพื่อรองรับการขยายตัวของภาระหนี้สาธารณะสูงขึ้น ซึ่ง ณ กรกฎาคมนี้หนี้สาธารณะอยู่ที่ 60.75 %”แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมสรรพากร ถือเป็นกรมจัดเก็บภาษีที่สำคัญ ทำรายได้เข้ารัฐมากที่สุด ปีงบประมาณที่แล้วกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีให้รัฐรวม 1.87 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบ 80 % ของรายได้สุทธิของรัฐ ขณะที่ช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ตุลาคม 2564 – กรกฎาคม 2565) กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ 1.67 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม 7.66 แสนล้านบาท โดย 10 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้รายได้จากแวตสูงกว่าเป้าหมาย 18.5 % และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 17.3 % รายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็นสัดส่วนราว 45% ของรายได้จากการจัดเก็บทั้งหมดของกรมสรรพากร

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: