ผู้ผลิตรองเท้าแกมโบล-มาม่า โอดต้นทุนสูงหลายทาง วอนรัฐขึ้นค่าแรงเป็นขั้นบันได





9 สิงหาคม นายนิติ กิจกำจาย กรรมการบริหาร บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าแบรนด์ “แกมโบล” (GAMBOL) เปิดเผยว่า บริษัทเห็นด้วยที่รัฐบาลจะพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้นในขณะนี้ แต่อยากขอให้ไม่ปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด ขอให้ปรับขึ้นแบบเป็นขั้นบันได เพื่อประคับประคองต้นทุน โดยระยะแรกบริษัทเห็นด้วยว่าควรปรับขึ้นไม่เกิน 5% คิดเป็นเงินกว่า 10 บาท รวมถึงต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าจะบังคับใช้กี่ปี และมีการประกาศล่วงหน้าให้ผู้ประกอบการมีเวลาตั้งหลักในการบริหารจัดการเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้น

“ตอนนี้บริษัทเองมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น 20-30% หากขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีก ปัจจุบันที่โรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่พระราม 2 มีคนงานร่วม 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว และไม่ว่าแรงงานไทยและต่างด้าว เราจ่ายค่าแรงขั้นต่ำให้ 331 บาทต่อคนต่อวัน ยังไม่รวมค่าโอที ค่าอื่นๆ อีก คิดเป็นค่าใช้จ่ายโดยรวมต่อเดือนหลาย 10 ล้านบาท

“หากสุดท้ายรัฐเคาะขึ้นค่าแรง และเราไม่ไหวจริงๆ อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งบริษัทไม่อยากผลักภาระให้ผู้บริโภคเพิ่ม เพราะเพิ่งปรับราคาขึ้น 10% เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขนาดมาม่ายังอั้นไม่ไหว ขอขึ้นราคา แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการเดือดร้อนจากต้นทุนที่สูงขึ้นจริงๆ ก็เห็นด้วยขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ แต่ต้องมองผลกระทบในระยะยาวด้วย” นายนิติกล่าว

ด้าน นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า กรณีรัฐบาลมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อลดความกดดันภาคแรงงานที่เดือดร้อนค่าครองชีพที่สูงขึ้น โดยยอมรับได้หากรัฐปรับขึ้นให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 5-8% เพราะเป็นอัตราที่สมเหตุสมผล ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป

“ในส่วนของเรา ตอนนี้เราจ่ายเกินค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้ว ไม่ส่งผลกระทบมาก ที่น่าห่วงคือ ธุรกิจอื่นที่จัดตั้งใหม่ หรือธุรกิจข้ามชาติ เพราะปัจจุบันค่าแรงบ้านราสูงกว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว หากปรับขึ้นอีกอาจจะทำให้มีการย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศอื่นก็ได้ เพราะค่าแรงเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิต นอกจากค่าไฟฟ้า ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง ที่ตอนนี้ทุกอย่างปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้ว” นายบุญชัยกล่าวว่า

นายบุญชัยยังกล่าวถึงการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือมาม่าว่า ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ หวังว่ารัฐจะเห็นใจผู้ประกอบการ และเร่งพิจารณาอนุมัติโดยเร็ว เนื่องจากตอนนี้จากต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้บางโรงงานขาดทุน บางโรงงานพออยู่ได้ ต้องนำกำไรจากการส่งออกมาชดเชย

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: