รถเมล์-สองแถวจี้รัฐขอขึ้นค่าตั๋ว2บาท สตรีทฟู้ดจ่อเพิ่มราคาเมนูละ10-20%





29 มิถุนายน นายบรรยง อัมพรตระกูล ประธานสหพันธ์รถเมล์ กรุงเทพฯและปริมณฑล กล่าวว่า ทางสหพันธ์ฯ ได้เดินทางมายื่นหนังสือที่กระทรวงคมนาคม ถึงนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยต้องการขอให้พิจารณาปรับค่าโดยสารให้รถเมล์และรถสองแถว หมวด 4 (รถโดยสารที่วิ่งประจำอยู่ในเส้นทาง ที่มีจุดต้นทางและปลายทางอยู่ระหว่างอำเภอกับจังหวัดหรือระหว่างอำเภอ) โดยขอขึ้นค่าโดยสารสองแถว จาก 8 บาท เป็น 10 บาท ส่วนรถเมล์ขอค่าโดยสาร จาก 10 บาท เป็น 12 บาท เนื่องจากน้ำมันดีเซลและก๊าซขึ้นราคา ส่งให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) เดิมราคา 8.50 บาท เพิ่มเป็น 15.50 บาท ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย และส่งผลให้ผู้ประกอบการรถหมวด 4 ต้องหยุดวิ่งหลายรายแล้ว

“โดยการมายื่นขอเสนอในครั้งนี้ ต้องการขอให้ภาครัฐพิจารณาเพิ่มค่าโดยสารให้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ หากรัฐบาลไม่พิจารณาปรับขึ้นให้ หลังจากนั้น จะมีการออกมาเคลื่อนไหวต่อไป เนื่องจากแบกภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าพลังงานไม่ไหว รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถหมวด 4 ลดลงกว่า 40%” นายบรรยง กล่าว

ด้านน.ส.ประภัสสร รังสิโรจน์ นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด เปิดเผยว่า ธุรกิจร้านอาหารสตรีทฟู้ดในตอนนี้ ภาพเหมือนจะฟื้นตัวได้ แต่ก็ยังไม่ได้ฟื้นดีมากเท่าที่ควร เนื่องจากแม้เห็นการเข้ามาทำธุรกิจของพ่อค้าแม่ค้ารายใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็เป็นการเข้ามาทดแทนรายเก่าที่เลิกกิจการไปจำนวนมากไม่แตกต่างกัน เพราะทนแบกรับต้นทุนที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบทุกรายการไม่ไหว ทำให้รายได้ที่ได้มาคำนวณกับกำไรแล้ว พบว่า กำไรที่ได้รับมาบางเบามาก

ทั้งยังมีเรื่องพนักงานและพ่อครัวหรือแม่ครัว ที่ถูกเลิกจ้างไปในช่วงการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ผ่านมา และปัจจุบันก็ยังไม่มีการจ้างเข้ามาทดแทน เพราะคนที่ถูกเลิกจ้างไปส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนอาชีพทำอย่างอื่นทดแทนแล้ว ทำให้มีปัญหาในหลายทางมาก โดยในเดือนกรกฎาคมนี้ ประเมินแล้วคาดว่า ร้านอาหารต่างๆ จะทยอยปรับขึ้นราคาเมนูอาหารประมาณ 10-20% หรือเริ่มต้นที่ 10 บาทต่อเมนู เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันพืช และก๊าสหุงต้ม

น.ส.ประภัสสร กล่าวว่า วัตถุดิบที่เป็นต้นทุนตอนนี้ปรับขึ้นมากว่า 40% และปรับขึ้นมาเกือบทุกอย่าง รวมถึงหากวัตถุดิบที่ใช้มีคุณภาพสูง ต้นทุนก็จะสูงมากขึ้น แต่หากเราปรับลดคุณภาพวัตถุดิบก็ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่หากยังคงคุณภาพวัตถุดิบเท่าเดิม เราก็สู้ต้นทุนไม่ไหว เพราะทุกอย่างต้องไปควบคู่กัน

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: