ทีมวิจัย ม.อ. แจงคนติดโควิดจากแมวจาม เกิดได้น้อยมาก





งานวิจัยการแพร่เชื้อโควิด-19 จากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงในต่างประเทศมีให้เห็นบ้าง แต่จากแมวไปสู่คนที่เกิดขึ้นใน รพ. ม.อ. ถือเป็นเคสแรก แต่เกิดได้น้อยมาก

ผลงานวิจัยของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ผ่านวารสาร Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (CDC) โดยระบุว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งคาดว่า เป็นการติดจากแมวสู่คนเป็นครั้งแรกของโลกนั้น

รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า เคสนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน สิงหาคม 2564 มีผู้ป่วยโควิด เป็นพ่อลูกชาวกรุงเทพฯ อายุ 64 ปี และ 32 ปี

เดินทางมารักษายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ พร้อมกับแมวที่เลี้ยงเอาไว้ด้วย 1 ตัว

มีการนำแมวส่งไปให้สัตวแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์ทำการตรวจหาเชื้อโควิดด้วย แต่ปรากฏว่าแมวจามออกมาในช่วงที่กำลังตรวจ โดนสัตวแพทย์หญิงท่านหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นสวมเครื่องป้องกันแค่ถุงมือ และหน้ากากอนามัย เท่านั้น แต่ไม่มี face shield หรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตาแต่อย่างใด

หลังจากนั้นผลตรวจของแมวพบว่า มีเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า ส่วนสัตวแพทย์ท่านนี้หลังจากตรวจแมวได้ 3 วันก็เริ่มมีอาการไข้ ไอ และน้ำมูก และก็ตรวจพบเชื้อโควิด ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษา

จากการตรวจลำดับเบส และรหัสพันธุกรรม จากทั้งคู่พ่อลูกเจ้าของแมว แมว และสัตว์แพทย์ พบว่า ตรงกัน จึงได้ข้อสรุปว่า แมวนั้นติดเชื้อโควิดมาจากเจ้าของที่คลุกคลีกันมาตลอด แต่เจ้าของไม่ทราบว่าแมวนั้นติดเชื้อโควิด-19ไปแล้ว

การแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยง คือ แมวไปสู่คนนั้น เคสนี้น่าจะเป็นเคสแรกที่มีการนำเสนอออกมาเป็นงานวิจัย และยังถือว่าพบได้น้อยมาก แค่ขอให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และย้ำมาด้วยว่า อย่าใช้เรื่องเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการไม่ดูแลสัตว์เลี้ยง หรือเอาสัตว์เลี้ยงไปปล่อย เพราะความเข้าใจผิด ๆ

 

ข่าวจาก : PPTV Online

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: