กทม.ชง ”ผู้ว่าคนใหม่” เก็บภาษีบุหรี่-โรงแรม





แหล่งข่าวจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า กทม.เตรียมจะเสนอแผนการจัดเก็บรายได้เพิ่มให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่พิจารณา โดยจะให้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่…) พ.ศ. …ที่แก้ไขให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 มาตรา 25 เพื่อให้ กทม.มีอำนาจออกข้อบัญญัติจัดเก็บรายได้จากภาษีและค่าธรรมเนียม 3 ประเภท ประกอบด้วย 1. ภาษียาสูบ จัดเก็บอัตรา 10 สตางค์ต่อมวน 2.ภาษีที่พักและโรงแรมร้อยละ 3 ของค่าเช่า และ3.ภาษีน้ำมันจะจัดเก็บเพิ่มจาก 5 สตางค์ต่อลิตร เป็น 10 สตางค์ต่อลิตร โดยภาษีบุหรี่และภาษีโรงแรมกทม.ยังไม่เคยจัดเก็บมาก่อน

“หากได้รับอนุมัติ คาดว่ากทม.จะมีรายได้เพิ่มประมาณ 1,900 ล้านบาท แยกเป็นภาษีบุหรี่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ภาษีที่พักและโรงแรมประมาณ 1,000 ล้านบาท และภาษีน้ำมันประมาณ 360 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการเก็บภาษีตัวใหม่ก็สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ด้วย “แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนความคืบหน้าการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี 2565 จะจัดเก็บในอัตรา 100% ภายในปลายเดือนพฤษภาคม 2565 กทม.จะส่งใบประเมินภาษีให้กับประชาชนผู้เสียภาษีมีอยู่ประมาณ 5-6 แสนรายให้มาชำระภาษีภายในเดือนกรกฎาคม 2565

โดยตั้งเป้าปีนี้จะมีรายได้ภาษีที่ดินประมาณ 12,000-13,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเนื่องจากปีนี้ไม่มีส่วนลด 90% เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้กทม.จัดเก็บได้ไม่ตามเป้า เพราะปัจจุบันมีประชาชนแจ้งเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากที่ดินเปล่าเป็นที่ดินเกษตรกรรมเป็นจำนวนมาก กว่า 10,000 ราย เพื่อลดภาระภาษี ซึ่งหากเป็นที่ดินรกร้างอัตราภาษีอยู่ที่ 0.3-0.7% ส่วนที่ดินเกษตรกรรมอยู่ที่ 0.01-0.1%

“ปีนี้เราก็เผื่อใจไว้ว่ารายได้ภาษีที่ดินคงไม่เป็นตามเป้า เพราะเป็นปีแรกเก็บ 100% และภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี อาจจะเห็นประชาชนบางส่วนไม่มาชำระมากขึ้น หากมีค้างชำระภาษี กทม.จะแจ้งไปที่กรมที่ดินให้ระงับการจดทะเบียนสิทธินิติกรรมจนกว่าจะมาชำระภาษี รวมถึงจะมีการปรับตามกฎหมายด้วย แต่เราคงไม่ซื้อพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์เพราะกทม.มีผู้เสียภาษีเยอะและไม่คุ้ม ”

สำหรับผลประเมินภาษีที่ดินฯในปีนี้ของโครงการรถไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่ ในกทม. ในส่วนของสายสีเขียวอยู่ที่ 100 กว่าล้านบาท สายสีน้ำเงินและสายสีม่วงบางส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) อยู่ที่ 300 กว่าล้านบาท เพราะมีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารจอดรถอยู่หลายแห่ง

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: