สำนักงบอนุมัติแล้ว ค่าเสี่ยงภัยโควิดให้บุคลากรการแพทย์ 3เดือนท้ายปี64





เฮ! สำนักงบฯ อนุมัติแล้ว 7,777 ล้านบาท ค่าเสี่ยงภัยโควิดให้บุคลากร 3 เดือนสุดท้ายปี 64 ส่วน 3 เดือนแรกปี 65 เตรียมเสนอรอบต่อไป

จากกรณีมีการทวงถามถึงค่าตอบแทนเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขปฏิบัติงานโควิด 19 ช่วง ต.ค. – ธ.ค. 2564 ซึ่งล่าช้ามากว่า 6 เดือน และ ครม.มีมติเห็นชอบตั้งแต่ มี.ค. 2565 ผ่านมาเกือบ 2 เดือน ยังไร้วี่แวว นั้น

เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 ตามข้อเสนอ สธ.กรณีการอนุมัติใช้งบประมาณค้างจ่ายเกี่ยวกับโควิด ซึ่งมีงบค่าตอบแทนเสี่ยงภัยผู้ปฏิบัติงานโควิด งบฉีดวัควีนป้องกันโควิด-19 นอกสถานพยาบาล งบยารักษา งบค่ารักษาคนไร้สิทธิ์ ฯลฯ สธ.ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักงบประมาณแล้ว และมีการติดตามความคืบหน้า

ล่าสุด สำนักงบประมาณได้พิจารณาและอนุมัติให้สำนักงานปลัด สธ.เบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 7,777 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดสรรลงพื้นที่

นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับงบค่าเสี่ยงภัยอันใหม่ของ ม.ค. – มี.ค. 2565 อยู่ระหว่างให้แต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่รวบรวมหลักฐานข้อมูลว่า ค้างจ่ายเงินส่วนนี้กับทางบุคลากรเท่าไหร่ จะมีการรวบรวมและเสนอสำนักงบฯ ในงวดต่อไปเช่นกัน

“ส่วนงบฉีดวัคซีนนอกสถานที่ของ 3 เดือนแรกปี 2565 ต้องมีข้อมูลหลักฐานการปฏิบัติงานจริงจึงจะนำมาเบิกได้ คือ ต้องทำงานก่อน จึงจะเบิกเงิน แต่ไม่ต้องกังวล ทุกอย่างได้เงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัย และค่าฉีดวัคซีนนอกสถานที่แน่นอน เพียงแต่ต้องรอขั้นตอน ซึ่งได้สื่อสารทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) และ ผอ.รพ.ต่างๆ ให้รับทราบเพื่อสื่อสารข้อมูลข้อเท็จจริงให้บุคลากรแล้ว”

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า งบที่อนุมัติมาเป็นงบกลาง ไม่ใช่งบเงินกู้ ซึ่งงบเงินกู้จะเป็นพวกครุภัณฑ์ต่างๆ 11 รายการ อย่างเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น ส่วนค่าเสี่ยงภัยโควิด ค่าฉีดวัคซีนนอกสถานที่ ค่ารักษาคนไร้สิทธิ์ จะเป็นงบกลาง

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: