จี้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ492บาท ย้อนนโยบาย พปชร.หาเสียง ค่าแรง425บาท ทุกวันนี้ยังไม่เกิด





เมื่อวันที่ 25 เมษายน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เร่งรัดการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ในอัตราเดียวกัน 492 บาท โดยส่วนหนึ่งระบุว่า

โดยครั้งสุดท้ายของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกแบ่งออกเป็น 10 ราคา ตามเขตพื้นที่ คือ 313, 315, 320, 323, 324, 325, 330, 331, 335 และ 336บาท

แต่หลังจากนั้น จนถึงปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึงอาจเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รัฐบาลและผู้ประกอบการบางแห่งอ้างว่า ระบบการผลิต การจ้างงาน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะตกต่ำ ธุรกิจ สถานประกอบการ ร้านค้า ต้องลดการผลิต บางแห่งต้องปิดกิจการไปเลย

ทำให้เกิดการเลิกจ้างแต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง สถานประกอบการจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่อาศัยสถานการณ์โรคโควิด ปลด เลิกจ้างคนงาน โดยไม่จ่ายเงินใดๆ ทำให้คนงานเป็นจำนวนมากขาดรายได้ ไร้อาชีพ ดังที่กล่าวมา แม้รัฐบาลพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และแจกจ่ายเงินให้แก่ประชาชนในโครงการต่างๆ

รวมทั้งมาตรการของระบบประกันสังคม แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนงานมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะการช่วยเหลือเป็นเพียงระยะสั้นๆ และเงินที่นำมาแจกก็ล้วนเป็นเงินที่กู้มา ซึ่งจะเป็นหนี้สาธารณะในอนาคต ที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องร่วมชดใช้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เคยแถลงนโยบายต่อสาธารณะว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อยวันละ 425 บาท จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้แต่ประการใด และที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เคยยื่นนำเสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท 421 บาท และ 700 บาท

โดยปรับเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2560 เหตุผลในการขอปรับเพิ่มนั้นมาจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแสดงถึงความต้องการถึงความเดือดร้อนค่าจ้างไม่พอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัว แม้กระทั่งลูกจ้างในภาครัฐที่รัฐเป็นผู้จ้างงานเองแต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐประกาศโดยอ้างว่าลูกจ้างภาครัฐไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อหลักปฏิญญาสากล ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

อย่างไรก็ตาม การเสนอเรื่องตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้ใช้ข้อมูลการสำรวจจากความเดือดร้อนของคนงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเมื่อเดือนกันยายน 2560 ผลสรุปจากแบบสอบถามคือค่าใช้จ่ายรายวันๆ ละ 219.92 บาท เดือนละ 6,581.40 บาท (ค่าเดินทาง ค่าอาหาร) ค่าใช้จ่ายรายเดือน (เช่น ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ค่าโทรศัพท์ อินเตอร์เน็ต การศึกษาบุตร ดูแลบุพการี ค่าใช้จ่ายสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน) เดือนละ 14,771.52 บาท

หากนำค่าใช้จ่ายรายวัน และ รายเดือน มารวมกันจะอยู่ที่ 21,352.92 บาท เป็นค่าจ้างที่พอเลี้ยงครอบครัวได้อยู่ที่วันละ 712 บาท แต่ คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกันและมีมติเสนอตัวเลขในการปรับค่าจ้างเชิงประนีประนอมโดยคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายรายเดือนมาเฉลี่ยด้วย 30 วัน

ดังนั้น ตัวเลขที่เสนอปรับค่าจ้างในครั้งนี้จึงอยู่ที่ วันละ 492 บาท และขอให้ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เหตุเพราะราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมีการปรับพร้อมกันทั้งประเทศไม่ได้เลือกเขต เลือกโซน เลือกจังหวัด และ เกือบทุกรายการราคาสินค้าในต่างจังหวัดสูงกว่าในกรุงเทพมหานคร และส่วนกลาง

 

ข่าวจาก : ch3plus

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: