สธ.รับมอบวัคซีน COVOVAX 2แสนโดส ใช้กับคนอายุ18 ไม่เคยฉีด-แพ้วัคซีนอื่น





สธ.รับมอบวัคซีน COVOVAX 2 แสนโดส จาก 4 กลุ่มประเทศ QUAD ฉีดอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นเข็ม 1 และ 2 ในผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนโควิดหรือแพ้วัคซีนชนิดอื่น

เมื่อวันที่ 21 เม.ย.65 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับมอบวัคซีนโควิด 19 “COVOVAX” 2 แสนโดส มูลค่า 60 ล้านรูปี ที่ได้รับบริจาคจากกลุ่มจตุภาคีด้านความมั่นคง (QUAD) 4 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ว่า วันนี้ประเทศไทยได้รับการบริจาควัคซีน COVAVAX ที่ผลิตจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิต ซึ่งขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ในการใช้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป

โดยเน้นใช้ในกลุ่มที่แพ้วัควีนแพลตฟอร์มอื่น แต่จะส่งเอกสารเพิ่ม เพื่อขยายความครอบคลุมช่วงอายุลงไปจนถึงอายุ 12 ปี ทั้งนี้ ยังใช้เป็นวัคซีนแรกเริ่มก่อน ยังไม่ได้เป็นบูสเตอร์โดส ซึ่ง ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ระบุว่าการนำมาใช้บูสเตอร์ยังมีหนทางทำได้ คือการทดสอบโดยสถาบันทางการแพทย์ และนำเข้าสู่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งการบริจาคครั้งนี้แสดงถึงความสัมพันธ์และความสำคัญของประเทศไทยที่ให้ความร่วมมือมาตลอด

“วัคซีนมาถึงเมื่อวันที่ 18 เม.ย. โดยจะเข้าสู่การตรวจรับรองรุ่นการผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ อย.จะตรวจสอบว่าเป็นไปตามสูตรที่แจ้งหรือไม่ ส่วนการกระจายอยู่ที่กรมควบคุมโรค ซึ่งตนหารือกับปลัด สธ.และอธิบดีกรมควบคุมโรคว่า ก่อนนำไปกระจายอย่างแพร่หลาย หรืออนาคตหากสั่งซื้อถ้ามีความจำเป็น ต้องทดสอบคุณภาพ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้มั่นใจว่า จะเป็นวัคซีนที่สามารถสร้างประโยชน์ให้ประชาชนช่วงวัยไหน มีข้อจำกัดทางสุขภาพอย่างไร” นายอนุทิน กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีน COVOVAX เป็นวัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตวัคซีน ซึ่งมีการผลิตและใช้ในหลายวัคซีนที่ผ่านมา ส่วนวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ แม้มีความปลอดภัย เพราะฉีดไปเป็นหมื่นล้านโดสแล้ว แต่ความปลอดภัยระยะกลางและระยะยาวยังบอกไม่ได้ เพราะฉีดยังไม่ครบ 2 ปี บางคนจึงเป็นห่วงตรงนี้

ดังนั้น วัคซีนโปรตีนซับยูนิตเป็นเทคโนโลยีใช้มานาน จึงค่อนข้างปลอดภัยพอกับชนิดเชื้อตาย บางคนที่ห่วงความปลอดภัยของ mRNA หรือมีผลข้างเคียงจากวัคซีนชนิดอื่นๆ ทั้งเชื้อตาย ไวรัลแวกเตอร์ หรือ mRNA ก็สามารถมาฉีดตรงนี้ได้ ยกตัวอย่าง คนที่ฉีด mRNA บางคนมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไม่ได้แนะนำให้ฉีดเข็มต่อไป ก็ให้มาฉีดตัวนี้ ทั้งนี้ การใช้เป็นไปตามที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ในคนอายุ 18 ปีขึ้นไป เข็ม 1 และเข็ม 2 ห่างกัน 3 สัปดาห์ ยังไม่ได้ขอเป็นบูสเตอร์โดส

“บ้านเราตอนนี้คนที่ฉีดเข็ม 1 และ 2 หาค่อนข้างยาก หากจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์เต็มที่กับบ้านเรา ต้องพิจารณาว่าจะฉีดบูสเตอร์โดสได้หรือไม่ เมื่อรับวัคซีนมาจะประสานกับผู้วิจัยที่เกี่ยวข้องในการศึกษาการฉีดบูสเตอร์โดสต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า การกระจายจะไปตามจุดฉีดจังหวัดต่างๆ ข้อบ่งชี้คืออายุ 18 ปีขึ้นไป และเป็นเข็ม 1 และเข็ม 2 ซึ่งหาคนฉีดค่อนข้างยาก แต่จะมีการประชุมอีโอซี เพื่อกระจายเป็นพื้นฐานให้ทางจังหวัด เพื่อให้คนที่แพ้วัคซีนหรือฉีดวัคซีนตัวอื่นไม่ได้มาฉีด ส่วนบูสเตอร์โดสต้องขอหาข้อมูลวิจัยต่อไป

เมื่อถามถึงเด็กที่แพ้วัคซีน mRNA มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ นพ.โอภาส กล่าวว่า มีไม่มาก ส่วนใหญ่หายหมดแล้ว กลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ฉีด mRNA ซ้ำ ก็มาฉีดตัวนี้เป็นทางเลือกได้ให้ผู้ปกครองพิจารณา โดยตัวเลขกลุ่มนี้รวมกับคนที่ฉีดวัคซีนที่แพ้ประมาณหลักพันกว่าราย

เมื่อถามว่า คนที่แพ้วัคซีนตัวอื่นแล้วหากฉีด COVOVAX จะมีความเสี่ยงแพ้อีกหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า วัคซีนแต่ละตัวถือว่ามีความปลอดภัย แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นอะไรเลย ก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ วิธีการผลิตโปรตีนซับยูนิตก็เป็นที่ยอมรับของนักวัควีนว่าปลอดภัยสูง ก็มาฉีดได้ไม่น่ามีปัญหา ผลข้างเคียงก็เหมือนวัคซีนทั่วๆ ไป ไม่มีอะไรแตกต่างมากนัก

“สำหรับขั้นตอนต่อไปคือ รอกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบรุ่นการผลิต และ อย.อนุญาตให้ใช้เรียบร้อยแล้ว จากนั้นสอบถามทางจังหวัดว่าต้องการวัคซีนจำนวนเท่าไร เพื่อกระจายต่อไป เพราะวัควีนก็อายุไม่ยาวมาก ก็ต้องถามความจำนงหากไปเก็บปลายทางอาจจะหมดอายุไม่ได้ฉีดเปล่า ซึ่งการเก็บไม่ได้ยุ่งยาก อยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยวัคซีน 1 ขวด ขนาด 5 ซีซี แบ่งฉีดได้ 10 คน คนละ 0.5 ซีซี ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเหมือนเดิม” นพ.โอภาส กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวัคซีน COVOVAX มีอายุใช้งานถึงเดือนกันยายน 2565 โดยกรมควบคุมโรคยืนยันว่าสามารถใช้ทัน เนื่องจากเบื้องต้นมี 2 แสนโดส และจะพิจารณาในอนาคตว่าจะสั่งซื้อต่อไปอย่างไร

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า วัคซีนโคโวแวกซ์เป็นแพลตฟอร์มซับ ยูนิต โปรตีน เป็นการใช้กระบวนการผลิตเพื่อสร้างสไปก์โปรตีนขึ้นมา ต่างจากวัคซีนแพลตฟอร์ม mRNA ที่สร้างยีนไปผลิตสไปก์โปรตีนในร่างกาย ซึ่งซับยูนิตโปรตีนเป็นแพลตฟอร์มที่เคยใช้มาก่อนในวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ จึงไม่ถึงกับเป็นเทคโนโลยีใหม่เอี่ยม

แต่เป็นเทคโนโลยีใหม่กว่าเทคโนโลยีเชื้อตาย ประสิทธิผลจากการทดสอบของผู้ผลิตมากกว่า 90% แต่เป็นในช่วงที่สายพันธุ์อู่ฮั่น อัลฟา และเดลตา ส่วนการใช้ก็เพิ่งเริ่มใช้ในฝั่งตะวันตก ทั้งอเมริกา และยุโรปก็เพิ่งเริ่มใช้ เพราะว่าวัคซีนเพิ่งผลิตได้จึงค่อยๆทยอยออกมา

“วัคซีน COVOVAX ก็คือวัคซีนโนวาแวกซ์ แต่บริษัทขายสิทธิให้กับบริษัทผู้ผลิตในอินเดียที่ชื่อว่า สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India–SII) ไปผลิตวัคซีนชนิดเดียวกัน แต่ใช้อีกชื่อว่า COVOVAX เป็นรูปแบบเดียวกับที่แอสตร้าเซนเนก้าขายสิทธิให้สถาบันซีรั่ม ซึ่งวัคซีนนี้สามารถใช้ได้ทั้งในผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลยหรือเป็นเข็มกระตุ้นได้ แต่วัคซีนนี้ได้มา 2 แสนโดส จึงต้องอยู่ที่แผนการกระจายของกรมควบคุมโรค” นพ.นคร กล่าว

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: