หนุ่มจีนรีวิวภาษาไทย สุดซับซ้อน ทั้งตัวอักษร-การออกเสียง ยิ่งเรียนยิ่งยาก!





คลิปไวรัล หนุ่มจีนรีวิวการเรียนภาษาไทย สุดซับซ้อน มีพยัญชนะ-สระมากมาย ถ้าออกเสียงผิดชีวิตเปลี่ยน บอกเลยว่ายิ่งเรียนยิ่งยาก!

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บนโลกออนไลน์มีการแชร์คลิปของหนุ่มจีนคนหนึ่งที่ได้รีวิวการเรียนภาษาไทย บอกเลยว่าแต่ละอย่างที่พูดมานั้นเป็นจริงทุกประการ ทำชาวต่างชาติที่เคยเรียนภาษาไทยมึนหัวกันมาแล้ว

โดยคลิปดังกล่าวมาจากช่อง @mr.chenrg เริ่มแรกหนุ่มเจ้าของคลิปได้กล่าวว่า ภาษาไทยเป็นภาษาที่เริ่มต้นยาก ยิ่งเรียนก็ยิ่งยาก ซึ่งเราสามารถเปรียบภาษาไทยกับตัวพินอินของจีน เพราะเป็นภาษาที่ประกอบด้วยพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์เหมือนกัน ฟังดูเหมือนง่ายแต่มันไม่ง่ายเลย

อย่างแรก “การออกเสียงภาษาไทย” สระและพยัญชนะในพินอินรวมกันแล้วมีแค่ 47 ตัว ต่างจากภาษาไทยที่มีพยัญชนะถึง 44 ตัว สระอีก 32 ตัว และวรรณยุกต์อีก 5 เสียง แถมยังมาแยกเสียงต่ำ เสียงกลาง เสียงสูง สระเสียงสั้น สระเสียงยาว อักษรนำอีก

บางคำที่มีวรรณยุกต์เหมือนกันแต่การออกเสียงก็ต่างกันไป นอกจากนี้ยังมีเสียงสั้น เสียงยาว หากออกเสียงผิดความหมายก็ต่างไปด้วย เช่น จิบ-จีบ หรือบางคำก็ออกเสียงใกล้เคียงกัน ซึ่งยากสำหรับชาวต่างชาติมาก เช่น ดี-ตี

อย่างที่สองคือ “การเขียนภาษาไทย” เนื่องจากพยัญชนะบางตัวมีการเขียนที่คล้ายคลึงกัน อย่างเช่น วงศ์ตระกูลก.ไก่ ก-ภ-ถ-ฤ-ฎ-ฏ-ณ-ญ จะเขียนคล้าย ๆ กัน หนุ่มเจ้าของคลิปถึงกับแซวว่า เพียงแค่กระพริบตาก็ลืมชื่อพยัญชนะไปแล้ว

อย่างที่สามคือ “แกรมม่าของภาษาไทย” ภาษาไทยไม่มีการผันรูปประโยคตามกาลเวลา จึงทำให้มีรูปประโยคคล้ายกับภาษาจีน นั่นคือ ประธาน+กริยา+กรรม แตกต่างเล็กน้อยตรงที่คำคุณศัพท์ในภาษาไทยจะตามหลังคำนาม

เมื่อคลิปรีวิวการเรียนภาษาไทยคลิปแรกมีกระตอบรับอย่างล้นหลาม หนุ่มเจ้าของช่องก็ไม่รอช้าทำคลิปรีวิวการเรียนภาษาไทย EP. 2 ออกมา

โดยเริ่มจาก “เสียงรัวลิ้น” ซึ่งการออกเสียงรัวลิ้นถือว่าค่อนข้างยากสำหรับชาวต่างชาติ หนุ่มเจ้าของคลิปถึงกับเอ่ยแซวว่า มนุษย์สร้างเสียงรัวลิ้นขึ้นมาเพื่อทรมานลิ้นตัวเองหรืออย่างไร พร้อมยกประโยคว่า “เรารักโรงเรียน โรงเรียนรักเรา” ที่ต้องออกเสียงรัวลิ้นรัว ๆ ชวนปวดหัวเหลือเกิน

อย่างไรก็ตาม คนไทยไม่ค่อยออกเสียงรัวลิ้นในชีวิตประจำวัน แต่จะใช้สำหรับทางการ หรือ ผู้ประกาศข่าวที่ต้องออกเสียงให้ชัด โดยยกตัวอย่างคำว่า “อะไร” หากพูดในยามปกติจะออกเสียงว่า “อาลาย”

อย่างที่สอง “ไม่มีการเว้นวรรคระหว่างคำศัพท์” ในภาษาไทยจะเขียนคำศัพท์ติดกันไปหมด หากให้อ่านเป็นคำ ๆ จะเข้าใจ แต่เมื่อนำคำไปอยู่ในรูปประโยคแล้วจะอ่านได้ยากขึ้น

อย่างที่สาม “ฟอนต์” สำหรับบางฟอนต์ชาวต่างชาติก็อ่านไม่ออก เนื่องจากมีการปรับแต่งรูปทรง มีหัว ไม่มีหัวบ้าง แถมลายมือคนเรายังไม่เหมือนกันอีก ยิ่งยากต่อการอ่านเข้าไปใหญ่

อย่างที่สี่ “เครื่องหมายที่ไม่ต้องออกเสียง” โดยหนุ่มเจ้าของช่องได้ยกตัวอย่างคำว่า “อาทิตย์” จะออกเสียงแค่ “อาทิต” ไม่ได้ออกเสียงตรง “ย์” จึงแซวไปว่าบางทีอาจใส่มาเพราะต้องการตกแต่งคำให้สวยงาม

และอย่างที่ห้าคือ “เครื่องหมายพิเศษ” ภาษาไทยยังมีเครื่องหมายอีกมากมาย เช่น “ฯ”, “ฯลฯ”, “ๆ” แถมการใช้ไม้ยมกบางครั้งก็ออกเสียงซ้ำทั้งสองคำ เช่น ไม่เอา ๆ แต่บางครั้งก็ออกเสียงซ้ำแค่คำหลัง เช่น เดินช้า ๆ สร้างความสับสนเป็นอย่างมาก

หลังจากที่ชาวเน็ตได้ชมคลิปแล้ว ต่างพากันเอ็นดูหนุ่มเจ้าของคลิปกันถ้วนหน้า เพราะสิ่งที่พูดมาทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ภาษาไทยซับซ้อนกว่าที่คิด อย่างไรก็ตาม ชาวเน็ตไม่ลืมเอ่ยชมหนุ่มเจ้าของคลิปที่สามารถพูดภาษาไทยได้ชัด แถมยังมีการเล่นมุกตลกอีกต่างหาก

@mr.chenrg ภาษาไทยง่ายตรงไหน #ภาษาจีน #ภาษาจีนกับmrchen #ภาษาไทย ♬ เสียงต้นฉบับ – mr.chenrg

 

ข้อมูลจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: