จ่อขอยืด “คนละครึ่ง”เพิ่มเงินอีก 1.5 พัน





กกร. ถกวันนี้ 6 ข้อเสนอรบ.แก้วิกฤตศก.-ขอยืด “คนละครึ่ง”เพิ่มเงินอีก 1.5 พัน

วันที่ 5 เมษายน ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะหารือ 6 ข้อแก้วิกฤตเศรษฐกิจเพื่อเสนอรัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย แถลงว่า หอการค้าไทยได้หารือกันและมีข้อสรุปว่า อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจรัฐควรเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทั่วประเทศให้เกิน 70% โดยเฉพาะประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แล้วประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นโดยเร็ว เช่น ประกาศหลังสงกรานต์หรือในเดือนพฤษภาคม หากเริ่มเดือนกรกฎาคมอาจไม่ทันกับการแข่งขันกับนานาประเทศ เพราะไทยพึ่งพิงรายได้จากภาคท่องเที่ยว ภาคการค้า และภาคการลงทุนกับต่างชาติ การประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่นได้เร็ว จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นกลับมา

นายสนั่นกล่าวว่า 2.สงครามรัสเซียกับยูเครนที่อาจยืดเยื้อ กระทบต่อราคาน้ำมัน ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า ส่งผลต่อสินค้าในประเทศราคาแพงขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลขยายเวลาโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 และเฟสถัดไปถึงสิ้นปีนี้ หลังจากเฟส 4 สิ้นสุดเดือนเมษายน และเพิ่มสมทบคนละครึ่งต่อคนเป็น 1,500 บาท เพื่อการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศต่อเนื่อง ซึ่งเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่งที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน

นายสนั่นกล่าวว่า 3.เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรขยายเวลาการเก็บเต็มจำนวนออกไปก่อน แล้วค่อยทยอยเก็บเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได 4.รัฐบาลควรรีบนำเรื่องขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% ให้เป็น 70% เพื่อสามารถกู้เงินมากระตุ้นและพยุงเศรษฐกิจได้ เพราะขณะนี้เพดานหนี้ใกล้เต็ม 60% แล้ว อีกทั้งเงินกู้เดิมเหลือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงพอในสถานการณ์ที่ไม่ปกติขณะนี้

นายสนั่นกล่าวว่า 5.การปรับขึ้นแรงงานขั้นต่ำ อยากให้เป็นการตัดสินใจร่วมในระดับจังหวัด ในอัตราที่แตกต่างกันไป แทนที่จะประกาศใช้อัตราเดียวกันทั้งประเทศ และ6.รัฐควรเร่งลดอุปสรรคจากกฎระเบียบที่ล้าสมัย และเสริมช่องทางการส่งออก

“ผลกระทบที่เกิดขึ้น คาดว่าเอสเอ็มอี 1 ใน 5 จะไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง และเชื่อว่าไทยยังเผชิญภาวะเงินเฟ้อขณะกำลังซื้อฝืดอีกนาน แม้ภาคเอกชนจะให้ความร่วมมือตรึงราคาสินค้าก็ตาม แต่ต้นทุนนำเข้าสินค้าหลายชนิดแพงขึ้นมากจนไม่อาจแบกรับได้ เช่น ปุ๋ย หรือธัญพืช สินค้าบางชนิดก็ต้องลดมาร์จิ้นกับยี่ปั๊วซาปั๊ว ดังนั้น หากให้รัฐขึ้นภาษีที่ดิน และขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ แต่ไม่สอดรับกับรายได้ที่ยังไม่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจเสียหายหนักขึ้นไปอีก”นายสนั่นกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงหอการค้าไทย ผู้บริหารทุกภาคธุรกิจแสดงความวิตกกังวลเรื่องการเก็บภาษีที่ดินฯเต็มจำนวนเหมือนเดิม และการขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ จะเป็นการซ้ำเติมธุรกิจที่กำลังเจอปัญหาต้นทุนสูง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม โรงแรม ธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยว การค้าและการส่งออก จะมีต้นทุนเพิ่มอีกกว่า 10-20% และในระยะกลางไม่เกิน 12-18 เดือนจากนี้ ธุรกิจอาจต้องหยุดชั่วคราวหรือเลิกกิจกรรม

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: