รู้จักอาการ “เสพติดน้ำตาล” ภาวะติดหวานจนเสี่ยงโรค เป็นแบบนี้





รู้จักอาการ ‘เสพติดน้ำตาล’ (Sugar Blues) ภาวะติดหวานจนเสี่ยงโรค เป็นแบบนี้

กระแสรักสุขภาพ และให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองกำลังเป็นอีกหนึ่งไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งก็มีทั้งนวัตกรรมใหม่ๆ ไปจนถึงการปรับตัวของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องตลาดต่างปรับตัวเพิ่มไลน์สินค้า “ทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น” อาทิ สูตรหวานน้อย ไม่เพิ่มน้ำตาล เป็นต้น

แล้วทำไมถึงต้องลดความหวาน เลี่ยงน้ำตาล

จากบทความเรื่อง “SUGAR อันตรายร้ายแรง กว่าที่คิดจริงหรือ?” ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์ของโรงพยาบาลสุขุมวิท ได้ระบุไว้ค่อนข้างคลอบคลุมว่า

ทำไม “นํ้าตาล” ถึงอันตรายขนาดนั้น

จริงๆ แล้วถ้าเราสามารถทานนํ้าตาลในระดับที่ร่างกาย ต้องการในแต่ละวันก็ยังเรียกว่านํ้าตาลมีประโยชน์กับเราอยู่มาก แต่คนส่วนใหญ่ทั่วทั้งโลกมักทานน้ำตาลเกิน ปริมาณที่ร่างกายต้องการ อย่างปกติเราจะสามารถทานได้แค่วันละ 4-6 ช้อนชา ฟังดูเหมือนเยอะ แต่เอาเข้าจริง แค่เราเผลอดื่มนํ้าอัดลมกระป๋องเดียว (นํ้าตาลประมาณ 9 ช้อนชา) ปริมาณน้ำตาลก็เกินไปมากแล้ว นี่ยังไม่รวมน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมอยู่ในอาหารที่เราทานตลอดทั้งวัน และเครื่องดื่มอื่นๆ

ซึ่งหากร่างกายได้รับนํ้าตาลมากเกินไปก็จะทำให้เกิดการสะสมและเป็นอันตรายตามมาในอนาคตได้ ในเด็กๆ ที่ชอบทานขนมหวานก็อาจทำให้ ฟันผุได้ง่าย และยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เลือดกำเดาออก ง่ายกว่าปกติอีกด้วย

ส่วนในผู้ใหญ่ที่ชอบกินน้ำตาลมากๆ ก็จะทำให้ระดับของวิตามินบี 1 ในร่างกายลดน้อยลง ผลที่ตามมาคือจะทำให้เป็นเหน็บชาบ่อย อาจเกิดอาการภูมิแพ้ ขี้หงุดหงิดหรือซึมเศร้าได้ง่าย อารมณ์ค่อนข้าง แปรปรวน และทำให้นอนไม่หลับ

แล้วถ้าร่างกายสะสมมากเข้าก็จะส่งผลน้ำหนักเกิน ทำให้เลือดเหนียวข้นขึ้น และไหลช้าลง ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การส่งสาร อาหารไปเลี้ยงเนื้อเยื่อร่างกายทำได้ช้าลง ซ่อมแซม ร่างกายไม่ดีและทำให้เส้นเลือดฝอยตีบตันได้ง่าย กลายเป็นปัญหาใหญ่ตามมาอีกมากมาย ทั้งเบาหวาน ความดัน หัวใจตีบและอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เป็นอัมพาตได้เลย รู้แบบนี้แล้วเจออะไรหวานๆ ควรน้ำตาลลดหน่อยจะดีกว่า

Sugar Blues อาการของคนติดนํ้าตาล

สังเกตไหมว่าบางคนจะมีอาการอยากกินของหวานๆ ตลอดเวลา ถ้าไม่ได้กินจะรู้สึกโหยๆ หงุดหงิด หรือบาง ครั้งก็ซึมเศร้าไปเลย อาการแบบนี้เกิดจากการเสพติดน้ำตาลที่เรียกว่า “Sugar Blues” ที่ทำให้ร่างกายรู้สึกโหยหานํ้าตาลทั้งวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาประมาณสิบโมงเช้า และบ่ายสามโมง ถ้าไม่ได้กินน้ำตาลจะทำให้หดหู่หรือซึม เศร้าผิดปกติ

ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเกิดจากภาวะนํ้าตาลในเลือดตํ่า แล้วถ้ายังปล่อยให้ร่างกายเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะยิ่งส่งผลเสียกับร่างกาย ทำให้อารมณ์แปรปรวน ขี้โมโห ง่าย สมาธิสั้น เป็นภูมิแพ้ และความดันโลหิตตํ่า

ยิ่งถ้าน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดมากๆ จะไปเก็บสะสมไว้ที่ตับในรูปของไกลโคเจน (Glycogen) และจะส่งกลับไปที่กระแสเลือดอีกครั้ง สุดท้ายจะเปลี่ยนเป็นกรดไขมันไปสะสมตามจุดต่างๆ ได้ง่าย เช่น หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขา สะโพกมากเข้าก็ทำให้น้ำหนักเกิน ถ้ายังไม่ยอมเลิกกินของหวานๆ ก็จะทำให้กรดไขมันไปพอกพูนที่หัวใจ ตับ ไต ทำให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสื่อมลงเรื่อยๆ และตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ

สอดคล้องกับ วิธีสังเกตอาการติดหวาน ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์สสส. อ้างถึง เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าหวานจับใจแล้ว

1.รู้สึกอยากขนมหวานที่ตัวเองชอบเรื่อยๆ
2.รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี เมื่อไม่ได้กินอาหารหรือขนมที่มีส่วนประกอบของแป้งหรือน้ำตาล
3.รู้สึกหิวบ่อย
4.คิดถึงอาหารอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าเพิ่งกินอาหารเสร็จ
5.มีนิสัยกินอาหารหวานต่อจากอาหารคาวเป็นประจำ
6.มีของติดตู้เย็นที่เป็นของหวานอยู่ตลอด
7.ชอบผลไม้รสหวาน เช่น มะละกอ ทุเรียน สับปะรด
8.ชอบผลไม้แห้ง ผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม
9.ชอบอาหารกลุ่มซีเรียลเคลือบน้ำตาล
10.ทำอาหารทุกจานต้องเติมน้ำตาล เช่น ไข่เจียวเติมน้ำตาล ทำพริกน้ำปลาเติมน้ำตาล
11.ชอบงานเลี้ยงสังสรรค์ เพราะมีอาหาร เครื่องดื่มและของหวาน
12.ในมื้ออาหารมักจะเลือกดื่มเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่า

ยิ่งทานนํ้าตาลมาก = เพิ่มคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี

มีรายงานจากวารสาร The American of Medical Association พบว่าน้ำตาลและระดับคอเลสเตอรอลมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จากผลการศึกษาพบว่าคนที่ทานน้ำตาลมากจะมีระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีรวมทั้งไขมันอันตรายในปริมาณสูงเมื่อเทียบกับคนที่ทานนํ้าตาลน้อยสาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการทานนํ้าตาลมากๆ จะทำให้ร่างกายของเรากระตุ้นการทำงานของตับให้ผลิตคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีมากขึ้น และที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือเข้าไปยับยั้งการกำจัดคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีให้น้อยลงด้วย

ยิ่งกินนํ้าตาล ยิ่งทำให้หิว

หลายคนอาจรู้สึกว่าการทานนํ้าตาลจะช่วยให้เรารู้สึกสดชื่น ซึ่งจริงๆ แล้วน้ำตาลจะช่วยให้เรารู้สึกมีแรงเพิ่มขึ้นได้แค่ 30 นาทีเท่านั้น แต่หลังจากนั้นนํ้าตาลจะทำให้เกิดการหลั่งของสารเซโรโทนินที่ให้เกิดอาการง่วงนอนเข้ามาแทนที่ รวมทั้งมีงานวิจัยหนึ่งบอกว่าการรับประทานนํ้าตาลมากเกินไปจะทำให้รู้สึกหิวมากกว่าเดิม เพราะน้ำตาลจะเข้าไปทำให้ฮอร์โมนเลปติน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะหลั่งออกมาเมื่อรู้สึกอิ่มลดน้อยลง เลยทำให้เรากินแล้วไม่อิ่มสักที

โรคที่เกิดจาก “นํ้าตาล”

จริงๆ แล้วมีอยู่มากมาย เริ่มจากความอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะไขมันพอกหัวใจ ตับ ไต ทำให้ฟันผุ ไขมันในเลือดสูง โรคเกาต์ กรดยูริคในเลือดสูง และที่ร้ายแรงคือเบาหวาน หัวใจ และอาจกลายเป็นอัมพาตได้ เพราะภาวะนํ้าตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่องนั่นเองเห็นมั้ยว่านํ้าตาลอันตรายแค่ไหน

แนะนำการเลือกรับประทานอาหารให้ได้รับนํ้าตาลน้อยลง

โดย คุณณรงค์ เติมพรเลิศ นักกำหนดอาหารแนะนำไว้ว่า
1. ลดการปรุงหรือเติมนํ้าตาลในอาหาร อาจใช้สารให้ความหวานทดแทน (หญ้าหวาน, น้ำตาลเทียม) ในปริมาณที่เหมาะสม
2. หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม รวมถึงน้ำผลไม้ แนะนำให้ดื่มนํ้าเปล่าจะดีที่สุด
3. เลือกผลไม้ที่มีรสหวานน้อย และจำกัดปริมาณการกินให้เหมาะสมในแต่ละวัน (เลี่ยงผล ไม้แปรรูป เช่น แช่อิ่มหรือดอง)
4. เพิ่มการรับประทานผักใบเขียวให้มากขึ้น จะช่วยชะลอการดูดซึมนํ้าตาล ทำให้ควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
5. หมั่นสังเกตปริมาณน้ำตาลจากฉลากที่อยู่ด้านหน้าหรือด้านหลังของผลิตภัณฑ์อาหาร

 

ที่มา : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: