ผบ.ตำรวจไซเบอร์แจงปมด่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำเพื่อเตือนประชาชน





จากกรณี พล.ต.ท. กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ โพสต์ข้อความพร้อมคลิปวิดีโอผ่าน เฟซบุ๊ก ‘Kornchai Klayklueng’ ขณะสนทนากับแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ ที่อ้างตัวมาจากบริษัทขนส่ง DHL แต่ทว่าประโยคช่วงหนึ่งที่ พล.ต.ท. กรไชย พูดกับมิจฉาชีพว่า “ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ คุณอย่ามาล้อเล่นกับผม ไปล้อเล่นกับคนอื่น อย่าทะลึ่ง” กลายเป็นกระแสตีกลับจากผู้ใช้สื่อออนไลน์ ที่ออกมาตั้งคำถามว่านี่คือความสามารถของ ‘ตำรวจไซเบอร์’ หรือ?

รวมถึงการพูดเชิงผลักภาระให้ไปหลอกกับคนอื่นนั้นหมายถึงประชาชนทั่วไปหรือไม่ และมีการเปรียบเทียบกับกรณีของคดีพนักงานหญิงธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ใช้ความสามารถจนนำไปสู่การนำจับมิจฉาชีพได้ 80 คน

ล่าสุด วันนี้ (21 กุมภาพันธ์) พล.ต.ท. กรไชย ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand’ ถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า ส่วนตัวไม่ได้สนใจกระแสตีกลับแต่อย่างใด เพราะมองว่ากรณีของตนและพนักงานหญิงของ SCB นั้นต่างกัน เนื่องจากคนที่โทรเข้ามาในเบอร์ของตนเป็นมิจฉาชีพที่มีโทรมาจากต่างประเทศ

พร้อมย้ำสาเหตุการลงคลิป-ข้อความในเฟซบุ๊กไม่ได้เป็นการอวดเบ่งอำนาจ และไม่ได้ตั้งใจไล่ให้ไปหลอกประชาชนอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เพื่อเป็นการเตือนประชาชนให้ระวังภัยจากแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ที่สามารถสร้างสถานการณ์หลอกลวงได้หลายรูปแบบ โดยเน้นย้ำ 3 คำว่า “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” และการแก้ปัญหาเบื้องต้นจากแก๊งมิจฉาชีพคือแนะนำให้ตัดบทสนทนาทิ้งไปเลย อย่าคุยนาน เพราะอาจหลงเชื่อและเผลอโอนเงินออกไปได้

ส่วนกรณีกระแสสังคมตั้งคำถามอย่างหนักว่า พล.ต.ท. กรไชย เป็นถึง ผบ.ตำรวจไซเบอร์ น่าจะใช้ประโยชน์จากจังหวะดังกล่าวหลอกล่อให้มิจฉาชีพเปิดข้อมูลออกมามากกว่านี้ เพื่อนำไปสู่การจับกุมมากกว่าการด่าทอและตัดจบไปแบบนั้น

พล.ต.ท. กรไชย กล่าวว่า ในฐานะ ผบ.ตำรวจไซเบอร์ เราสามารถตอบได้เลยว่า เบอร์ที่โทรมานั้น โทรมาจากฝั่งกัมพูชาที่ตั้งกระบวนการอยู่กันเป็นกลุ่ม ซึ่งเราทำการประสานกับเครือข่ายโทรศัพท์เพื่อบล็อกหรือปิด ID นั้นไว้ไม่ให้โทรออกไปหลอกลวงคนอื่นได้แล้ว

ส่วนที่หลายคนถามว่าทำไมไม่ขยายผลเพื่อจับกุมตัวการใหญ่นั้น พล.ต.ท. กรไชยบอกว่า ขณะนั้นตนกำลังอยู่ในช่วงออกกำลังกายอยู่ ถ้ามีเวลามากกว่านั้นอาจจะใช้กรรมวิธีเดียวกับที่พนักงานหญิงของ SCB ทำเพื่อสืบสาวข้อมูลคนร้ายได้ ตนเลยใช้ช่วงเวลาสั้นๆ ตรงนั้นอัดเป็นคลิปวิดีโอมาเป็นจุดขายเตือนพี่น้องประชาชนให้ระวังภัยในลักษณะนี้ดีกว่า ส่วนการจับกุมมิจฉาชีพตนทำเป็นประจำอยู่แล้ว พร้อมย้ำว่าในกรณีนี้ทีมเจ้าหน้าที่ได้นำไปขยายผลแกะร่องรอยหรือสถานที่ของผู้กระทำความผิดแล้ว

พล.ต.ท. กรไชยกล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และธนาคารในประเทศไทย เพราะถ้าธนาคารและเครืยข่ายโทรคมนาคมสามารถระบุตัวตนของผู้กระทำผิดได้ โอกาสที่ประชาชนไม่ถูกหลอกจะเป็น 1 ล้านเปอร์เซ็นต์

“ผมเข้าใจประชาชนทุกคนครับ ไม่รักไม่ว่า จะด่าก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยขอให้เรียกใช้งานตำรวจไซเบอร์ ด่าได้เลยครับ อย่างน้อยท่านก็จำชื่อผมไว้ เพราะผมเป็นตำรวจ หน้าที่ของผมต้องรับใช้ประชาชน” พล.ต.ท. กรไชยกล่าว

 

ข่าวจาก : thestandard

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: