ไทยลุ้นจัดประเพณีสงกรานต์ ศบค.จ่อถก T&G ตรวจ PCR โควิดครั้งเดียว





ไทยลุ้นจัดประเพณีสงกรานต์ ศบค.จ่อถก T&G ตรวจ PCR โควิดครั้งเดียว

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้การติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ได้ดูข้อมูล และคาดการณ์มาตลอดว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่อาจจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 1 หมื่นราย เป็น 1.5 หมื่นราย และ 2 หมื่นราย ต่อวันได้ อัตราเสียชีวิตทรงตัว และมีแนวโน้มลดลง แต่ที่ต้องติดตามคือ ตัวเลขผู้ป่วยหนักทั้งกลุ่มปอดอักเสบ และผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ โดยข้อมูลเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้ป่วยปอดอักเสบ 500 รายทั่วประเทศ ขณะนี้เพิ่มเป็น 749 ราย ส่วนผู้ที่ต้องใส่ท่อช่วยหายจากเดิมประมาณ 100 ราย ก็เพิ่มเป็น 184 ราย

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับตัวเลขระดับนี้ มั่นใจว่าระบบสาธารณสุขของประเทศยังรับไหว เพราะสามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้กว่า 3 หมื่นเตียง เครื่องช่วยหายใจอีกประมาณ 2 พันเตียง

“ขณะนี้เราใช้ไปเพียงร้อยละ 10 แต่อย่าลืมว่า เรายังมีผู้ป่วยโรคทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้เตียงเช่นกัน ฉะนั้น หากตัวเลขป่วยหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ หากเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็จะต้องระวังมากขึ้น เพราะจะนำไปสู่ตัวเลขเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เราเคยพูดกันว่า คนเสียชีวิตที่พบมากคือ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มสูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับแล้ว แต่ยังไม่ครบตามเกณฑ์ แต่ขณะนี้ เราเริ่มพบว่าผู้เสียชีวิตได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แต่รับมานานมากกว่า 4 เดือนแล้ว ฉะนั้น นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า สำหรับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่อัตราเสียชีวิตไม่มาก ในทางการแพทย์ตรงไปตรงมาว่า จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าจะสบายๆ แล้วติดเชื้อกันไปทั้งหมด แต่เพียงยืนยันได้ว่า ระบบสาธารณสุขของเรา ยังจัดการได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ระหว่างนี้จนถึงเดือนเมษายน หากเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่อเนื่อง ก็เชื่อได้ว่า เดือนเมษายนปีนี้ น่าจะต่างจากปีที่แล้ว เพราะปีที่แล้ว ยังฉีดวัคซีนน้อยมาก แต่ปีนี้คนไทยได้รับวัคซีนเข็มแรกเกิน ร้อยละ 70 ขณะที่เข็มกระตุ้นก็เกิน ร้อยละ 25 ฉะนั้น สงกรานต์ปีนี้จะแตกต่างออกไป แต่แน่นอนว่า ยังไม่ถึงขั้นที่จะออกไปเล่นสาดน้ำได้ เพียงแต่จะสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนา ไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยได้อย่างปลอดภัย

“ทั้งนี้ เราต้องทำตั้งแต่วันนี้ก่อนจะถึงเดือนเมษายน ด้วยการเร่งฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ให้มากขึ้นที่สุด ยกตัวอย่างบางประเทศที่ผ่อนคลายมากๆ ก็มีอัตราฉีดเข็มที่ 3 เกินร้อยละ 50 แล้ว ดังนั้น ช่วงเทศกาลปีใหม่ ตรุษจีนที่ผ่านมา ก็ถือเป็นการทดสอบระบบที่เราวางไว้ว่า หากติดเชื้อโควิด-19 ก็ให้เข้าระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ทันที ไม่ต้องไปโรงพยาบาล (รพ.) แต่ต้องย้ำว่า กักตัวที่บ้านต้องเข้มงวด และไม่ออกจากบ้านจริงๆ หากทำได้เช่นนี้ ระบบสุขภาพ ระบบสาธารณสุขก็จะไม่ล้น จึงเชื่อว่าเดือนเมษายนนี้ ประเทศไทยจะกล้าพอที่จะเปิดกิจกรรมมากกว่านี้ ถึงตอนนั้น การฉีดวัคซีนก็จะสูงขึ้นมากเช่นกัน สงกรานต์นี้ ก็จะเป็นอีกการทดสอบที่จะเกิดขึ้น ฉะนั้น เตรียมตัวให้ดี ฉีดวัคซีนให้มาก อย่างไรแล้ว เดือนมีนาคมเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องติดตาม หากเราดึงตัวเลขติดเชื้อต่อวันได้ หากติดเชื้อสูงสุดวันละ 2 หมื่นรายนิดๆ แล้วไม่ขึ้นต่อ ขณะที่การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงใกล้สงกรานต์ก็ต้องมาคุยกันว่า จะครื้นเครงได้ขนาดไหน” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า สังเกตได้ว่า ขณะนี้แบ่งประเทศออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ประกาศชัยชนะโอมิครอน เช่น ยุโรปตอนเหนือ ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ ที่ยังติดเชื้อมากอยู่ แต่ก็ฉีดวัคซีนมากเช่นกัน ด้วยเศรษฐกิจที่จำเป็นต้องตัดสินใจเปิดประเทศ ซึ่งก็มั่นใจได้มากขึ้นว่า โอกาสกลายพันธุ์แล้วรุนแรงขึ้น มีน้อยมาก และกลุ่มประเทศกล้าๆ กลัวๆ เช่น ประเทศไทย ที่เริ่มผ่อน แต่ก็ยังห่วงๆ ไม่กล้าผ่อนเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ในการเปิดประเทศของไทย จะเห็นว่า ขณะนี้คนไทยก็กล้าไปต่างประเทศมากขึ้น ส่วนมาตรการที่กำลังจะมีการพิจารณาในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ คือการปรับแนวทาง Test and Go ด้วยมาตรการตรวจ RT-PCR จากเดิมให้ตรวจ 2 ครั้ง คือ วันที่ 1 และวันที่ 5 ของการเดินทางเข้าประเทศ ก็จะพิจารณากันว่า อาจให้ลดเหลือ 1 ครั้ง คือ วันแรกที่เข้ามาถึง

“ปกติผมจะออกมาเตือน คอยระวัง เพราะไม่มองโลกสวย แต่สถานการณ์ตอนนี้ ผมเชื่อว่า จะไปปลายทางของการแพร่ระบาดจริงๆ” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: