แพทย์ยัน วัคซีนไฟเซอร์เด็กปลอดภัย เผย2อาการหลังฉีด ต้องไปรพ.ด่วน!





กุมารแพทย์ยัน วัคซีนไฟเซอร์เด็กปลอดภัย เผย2อาการหลังฉีด ต้องไปรพ.ด่วน!

ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ย้ำเด็กเล็กควรฉีดวัคซีนโควิด ลดรุนแรงและเสียชีวิต ลดภาวะอักเสบทั่วร่างกายหรือมิตซี เผยวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี อาการข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบ 11 คนใน 9 ล้านคน ฉีดห่าง 8 สัปดาห์ภูมิยิ่งดี ผลข้างเคียงน้อย ด้าน รพ.เด็กแนะแนวทางฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปีมีโรคประจำตัว ย้ำ 2 อาการที่ควรชะลอฉีด และ 2 กลุ่มอาการหลังฉีดที่ควรมา รพ.ทันที

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แถลงข่าวการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กอายุ 5-11 ปี โดย ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 มักไม่มีอาการหรืออาการน้อยถึง 98% การเสียชีวิตก็น้อย แต่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อป้องกันด้วย โดยเฉพาะเด็กมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่มีโอกาสรุนแรงและเสียชีวิตได้ รวมถึงจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว นอกจากนี้ ช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา เราพบภาวะอักเสบทั่วร่างกายหรือมิตซีในเด็กที่ติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการไม่ติดเชื้อและไม่เป็นก็จะดีกว่า

สำหรับวัคซีนโควิดในเด็กอายุ 5-11 ปี ที่ อย.รับรองคือของไฟเซอร์ ใช้ขนาด 10 ไมโครกรัม ทำมาเพื่อสำหรับเด็กโดยเฉพาะ จึงไม่ควรเอาสูตรของผู้ใหญ่มาแบ่งฉีด ถึงมีการทำฝาขวดสีต่างกัน เพื่อป้องกันการสับสน สำหรับผลข้างเคียงภายหลังการฉีด จากข้อมูลของสหรัฐอเมริกาที่มีการฉีดเด็กอายุ 5-11 ปีไปแล้ว 9 ล้านคน ก็พบว่าไม่มีปัญหาอะไร อาจมีอาการปวดบวมแดงบริเวณแขนที่ฉีด แต่พบอาการไข้น้อยกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาการต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 วันก็หายหมดค่อนข้างปลอดภัย ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบประมาณ 11 คน แต่ตรวจแล้วอาการเล็กน้อย รักษาหายทั้งหมด ไม่มีอาการรุนแรงสักคน และคิดว่าไม่เป็นปัญหาใหญ่

ส่วนระยะห่างในการฉีดนั้น ที่สหรัฐฯ ฉีดห่าง 3 สัปดาห์ ขณะที่อังกฤษและออสเตรเลียพยายามฉีดห่าง 8 สัปดาห์ เนื่องจากภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ผลข้างเคียงน้อยลง อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยลงไปอีกแทบไม่มีเลย ซึ่งเด็กเราต้องเลือกที่ปลอดภัยที่สุด เราจึงฉีดห่างไว้ก่อน 8 สัปดาห์ ภูมิขึ้นดี ผลข้างเคียงน้อยลง ดังนั้น การฉีดในโรงเรียนจึงแนะนำที่ 8 สัปดาห์ แต่เด็กที่มีโรคและกลัวจะติดก็เร่งฉีดได้ที่ประมาณ 4 สัปดาห์ ไม่ควรจะเร็วกว่านั้น เดิมที่ที่อังกฤษเอาที่ 12 สัปดาห์ด้วยซ้ำ แต่โอมิครอนระบาดจึงเลื่อนมา 8 สัปดาห์เพื่อให้เร็วขึ้นหน่อย

สำหรับวัคซีนเชื้อตาย ซิโนแวคและซิโนฟาร์มที่จะฉีดในเด็ก อย.ยังไม่รับรอง กำลังรอข้อมูลอยู่ การฉีดในเด็กเราเอาความปลอดภัยเป็นสำคัญ เราไม่ฉีดส่งเดชและไม่มีข้อมูลเราไม่อยากทำ ต้องเอาปลอดภัยสูงสุด ส่วนเด็กติดเชื้อแล้วไม่ตาย ที่เสียชีวิตก็มีโรคประจำตัว เลยถามว่าจำเป็นต้องฉีดหรือไม่ ก็ขอให้ดูจากโรคอีสุกอีใสที่เด็กเป็นแทบไม่มีอะไรเลย แต่ผู้ใหญ่เป็นอาการหนักมาก

เราควรฉีดวัควีนอีสุกอีใสให้เด็กหรือไม่ เพราะเด็กไม่เป็นอะไร จริงๆ เป็นกับไม่เป็น ก็เลือกไม่เป็นดีกว่า ถ้ามีภูมิแล้วเกิดอย่างไรก็ไม่เสียชีวิต ปลอดภัยกว่าไปเสี่ยง และอีสุกอีใสโตขึ้นตอนแก่เป็นโรคงูสวัดตามมา ส่วนโควิดเป็นมิตซีตามมา การฉีดวัคซีนจะได้ไม่เกิด การฉีดจึงคุ้ม บ้านเราก็คิดว่าถ้ามีวัคซีนก็อยากฉีดให้ทุกคน

“ตอนเรามีฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ การติดเชื้อผู้ใหญ่ลดลง เด็กเยอะขึ้น แต่เมื่อฉีดในเด็กโต ก็พบว่าเด็กโตลดลง แต่ช่วงสัปดาห์หลังเด็กโตเริ่มเยอะขึ้น แสดงว่าวัคซีนกันโอมิครอนได้ไม่ค่อยดีนัก แต่ไม่ต้องตกใจ ถึงติดอาการก็น้อยมาก ไม่ค่อยมีอาการ และปลอดภัยคิดว่าในเด็กอาจกันไม่ได้ 100% ไม่มีวัคซีนอะไรกัน 100% ตอนนี้ไม่กลัวติด แต่กลัวตาย ถ้าเป็นแล้วไม่ตาย อาการน้อย ไม่มีอาการก็ปลอดภัยกว่า ก็ควรจะฉีดวัคซีนและไม่ต้องกลัวเรื่องของมะเร็งหรือเปลี่ยนพันธุกรรม เพราะเราไม่ได้ฉีด DNA เราฉีด RNA ซึ่งอยู่ได้ไม่นานก็สลายไปหมด สัปดาห์เดียวฉีดไปก็หาไม่เจอแล้ว และเหมือนที่ไวรัสสร้างอยู่แล้ว” ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าว

ด้าน นพ.อดิศัย กล่าวว่า เด็กอายุ 5-11 ปีมีประมาณ 5 ล้านคน จำนวนนี้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค มีประมาณ 9 แสนคน สำหรับแนวทางการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัวนั้น ยืนยันว่าเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. จะบริหารวัคซีนตามความเหมาะสมของจำนวนผู้ป่วยอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัวและผู้ปกครองยินยอม , จำนวนวัคซีนที่รับการจัดสรร และความพร้อมของบุคลากร รวมถึงกุมารแพทย์ที่ให้การดูแลแต่ละจังหวัด

โดยขั้นตอนการฉีดมี 4 ขั้นตอน คือ

1.การคัดกรอง โดยเด็กสามารถรับประทานยาโรคประจำตัวได้ตามปกติที่แนะนำ รับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ โดยกุมารแพทย์จะประเมินว่า เด็กที่มีโรคประจำตัวมีข้อควรระวังอะไรหรือไม่ ซึ่งหลักๆ มี 2 เรื่อง คือ 1) ขณะป่วยมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาให้หายดีก่อน ชะลอหรือเลื่อนการฉีด จนกว่าจะเป็นปกติ หรือ 2) เด็กที่มีโรคประจำตัวอาการรุนแรงที่อาจอันตรายถึงเสียชีวิต อาการไม่คงที่ อาจชะลอไปก่อน ให้รักษาโรคประจำตัวให้ดีก่อน

2.ลงทะเบียนยืนยันการฉีดอีกครั้ง โดยเซ็นใบยินยอมว่าทบทวนดีแล้ว 3.การฉีดวัคซีน ซึ่งในผู้ใหญ่ให้จัดสถานที่โล่ง แต่ในเด็กเล็กหรืออนุบาล ซึ่งบางทีเมื่อเห็นเด็กคนไหนฉีดแล้วมีการร้อง อาจจะเกิดผลด้านจิตใจ เกิดอุปาทานหมู่ ยอมรับฉีดยากขึ้น ดังนั้น ขอให้จัดฉีดในสถานที่มิดชิด มีฉากกั้น ม่านกั้น หรือเป็นห้อง จะช่วยลดการกังวลของเด็ก และ 4.หลังฉีดรอดูอาการ 30 นาที เมื่อกลับบ้านไปแล้ว 1 สัปดาห์ไม่ควรออกกำลังกาย ปีนป่าย ว่ายน้ำ ที่ต้องใช้แรง ต้องช่วยกันดูแลตรงนี้

สำหรับข้อกังวลอาการข้างเคียงด้านหัวใจ ตามรายงานมีจริง แต่ทุกรายสามารถรักษากลับสู่ปกติได้หมด อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทและให้ผู้ปกครองเบาใจ จึงมีการจัดระบบเครือข่ายการส่งต่อดูแล โดยหากเด็กที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการสงสัยใน 2 กลุ่มโรค ให้รีบพามา รพ.ใกล้บ้านทันทีเพื่อประเมินอาการ คือ 1.กลุ่มโรคหัวใจในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น ซึ่งตามสถิติมักพบในช่วงวันที่ 2 ของการฉีด แต่หากเกิดในวันแรกก็พามาได้เช่นกัน และ 2.กลุ่มอาการอื่น คือ ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดหัวรุนแรง อาเจียนทานอะไรไมได้ เด็กซึมหรือไม่รู้สึกตัว

“หากมีอาการสงสัยใน 2 กลุ่มโรค แนะนำให้หา รพ.ใกล้บ้าน ซึ่งเรามีกุมารแพทย์กระจายทั่วประเทศ 2 พันกว่าราย ในทุกจังหวัด รพ.อำเภอหลายแห่งก็มีกุมารแพทย์ที่สามารถประเมินอาการได้ ว่าสามารถรักษาตรงนั้น หรือต้องส่งต่อระดับโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งหากยังเกินศักยภาพก็สามารถส่งมายังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย” นพ.อดิศัยกล่าว

นพ.อดิศัยกล่าวว่า สำหรับการคิกออฟฉีดที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ วันที่ 31 ม.ค. จะเริ่มต้นฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเรามีคนไข้ของเราเอง 4 พันคน และมีแผนฉีดแล้ว แต่วันที่จะเปิดคิกออฟไม่ฉีดไม่มาก เป็นการฉีดเพื่อทดสอบระบบ และไม่แออัดมาก โดยก่อนฉีดจะมีพยาบาลแต่ละหน่วยงานโทรไปหา ให้คำปรึกษา ข้อมูล และสอบถามความสมัครใจของผู้ปกครอง

หลังฉีดมีคิวอาร์โคดประเมินผลข้างเคียง และช่องทางให้ความรู้การดูแลหลังฉีด ถ้ามีผลข้างเคียง เนื่องจากเรามีผู้ป่วยเด็กจากหลายจังหวัด ก็สามารถเข้า รพ.ที่ใกล้บ้านก่อนได้ หรือถ้ามาโดยตรงที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ ก็ยินดี โดยมีไลน์ และสายด่วน1415 ให้ปรึกษา และมีฟาสต์แทร็กในรายที่สงสัยรุนแรงเพื่อเข้ารับการดูแล

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: