‘มูลนิธิสืบฯ’ เผยงบดูแลป่าหาย คุณภาพชีวิต จนท.เงินเดือนเพียง6-7พัน





‘มูลนิธิสืบฯ’ สะท้อนเสือโคร่งถูกล่า งบดูแลป่าหาย คุณภาพชีวิต จนท. 10 ปี เหมือนเดิม ได้เงินเดือนเพียง 6-7 พันบาท แนะ ครม. เจียดงบซื้่ออาวุธดูแลทรัพยากร

กรณี 5 นายพราน ตั้งแคมป์นำวัวมาเป็นเหยื่อล่อสัตว์ออกจากป่ามากินเป็นอาหาร แล้วใช้อาวุธปืนยิงเสือโคร่ง 2 ตัว นำมาแร่เนื้อแล้วถลกเอาหนัง ขณะพนักงานพิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ กำลังเข้าจับกุม แต่กลุ่มนายพรานเกิดไหวตัวทันวิ่งหลบหนีไปได้อย่างหวุดหวิด เหตุเกิดที่บริเวณป่าห้วยปิล็อก ม.4 ต.ปิล็อก อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และป่าสงวนแห่งชาติเขาช้างเผือก ช่วงวันที่ 8-11 ม.ค.ที่ผ่านมา ตามที่เสนอข่าวไปแล้ว

ต่อเรื่องดังกล่าว มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โพสต์เรื่องราวดังกล่าว ระบุว่า เริ่มต้นปีขาลเพียง 2 สัปดาห์ ก็ต้องเจอกับข่าวน่าเศร้า เมื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเข้าตรวจยึดซากเสือโคร่งตาย 2 ตัว ในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ สันนิษฐานว่าเป็นเสือโคร่ง ที่ออกหากินระหว่างชายแดนไทย-พม่า ในที่เกิดเหตุพบแคร่ร้านย่างเนื้อสัตว์-ซากสัตว์ไม่ระบุชนิด พร้อมพบอาวุธปืน จำนวน 4 กระบอก และอุปกรณ์การกระทำผิดอื่น ๆ รวม 29 รายการ

ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีข่าวเสือโคร่ง เพศผู้ อายุประมาณ 10 ปี ออกนอกพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่พบร่องรอยล่าสุนัข บริเวณสวนมะม่วงห่างจากสถานีควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้งประมาณ 200 เมตร ซึ่งวานนี้ (12 ม.ค.2565) เจ้าหน้าที่สามารถจับตัวได้แล้วจึงนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หลังแพทย์ประเมินอาการและติดปลอกคอติดตาม

เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญทั้งสองเหตุการณ์นี้ มีบุคคลสำคัญอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกกล่าวชื่อ แต่หลายคนรู้จักพวกเขาในนามว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า สัตว์ป่าและผืนป่าร้อยกว่าล้านไร่ทั่วประเทศไทย มีพวกเขาเหล่านี้คอยดูแลอยู่

แต่คุณภาพชีวิตและสวัสดิการของพวกเขากลับไม่ดีขึ้นเลย..

ค่าแรงขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ที่ 320 บาทต่อวัน แต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากลับได้รับค่าตอบแทนเพียงเดือนละ 6-7 พันบาทเท่านั้น และไม่มีสวัสดิการต่าง ๆ หากนำมาหาร 25 วันทำงาน (ตัดวันหยุดเสาร์อาทิตย์ออกไป) จะตกวันละ 240-280 บาทเท่านั้น

รายงานการช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า “กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า” มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ปี 2564 พบว่าในปีที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ รวม 26 คน บางรายเสียชีวิตจากการปะทะกับพรานล่าสัตว์ป่า บางรายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสัตว์ป่าทำร้าย บางรายเสียชีวิตด้วยโรคภัยระหว่างเดินลาดตระเวน แต่ทุกชีวิตที่เสียไปไม่อาจนับความสูญเป็นมูลค่าเงินได้ เพราะพวกเขาอาจเป็นพ่อ พี่ชาย ลูกชาย ญาติ เพื่อน หรือคนรักของใครสักคน

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ส่วนใหญ่เป็นพนักงานจ้างเหมาของอุทยานแห่งชาติ หรือ TOR งบประมาณสำหรับจ่ายค่าตอบแทนส่วนใหญ่มาจากรายได้หลักจากการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ แต่ในปี 2564 นั้นรายได้ลดลงกว่า 975 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้ส่งผลกระทบต่อการจัดจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า (พนักงานจ้างเหมา) ในการดูแลและคุ้มครองผืนป่าและสัตว์ป่า ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งอาจถูกเลิกจ้างถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ทั้งยังพบว่ามีการปรับลดงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เหลือเพียง 8,534 ล้านบาท จากเดิมในปี 2564 ได้งบประมาณ 16,143 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 47 เปอร์เซ็นต์

ประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าประมาณ 14,700 คน ดูแลพื้นที่ป่ากว่า 102,484,072.71 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ

แต่ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย แม้รัฐบาลจะมีวาระอื่นที่เร่งด่วนกว่า แต่เรื่องของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่เป็นด่านหน้าในการทำงานปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้กับประเทศก็ไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าวาระอื่นเลย หากครม. สามารถอนุมัติงบ 13,800 ล้าน จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ได้ ก็คงไม่ยากอะไรที่จะเจียดเงินสักครึ่งหนึ่งเพื่อเอามาดูแลทรัพยากรของประเทศนี้

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: