ครม.เคาะเพิ่มวันลาคลอดบุตร ขรก.หญิงจาก 90 วันเป็น 98 วัน โดยได้รับค่าจ้าง





ครม.เห็นชอบหลักการร่างมาตรการสนับสนุนสตรี เคาะ เพิ่มวันลาคลอดบุตรข้าราชการหญิงจาก 90 วัน เป็น 98 วัน โดยได้รับค่าจ้าง พร้อมขยายเวลาเปิดศูนย์เด็กเล็ก ไฟเขียวข้าราชการชายลาช่วยดูลูกได้ 15 วัน ไม่ต้องติดต่อกัน

11 มกราคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบหลักการร่างมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อเป็นมาตรการคุ้มครอง สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ

ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตร และสร้างกลไกการพัฒนาเด็กเพื่อลดภาระให้กับผู้หญิงที่ทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี ซึ่งมาตรการนี้ครอบคลุม 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ

1.กลุ่มแรงงานหญิงทั้งในระบบและนอกระบบ จำนวน 17,366,400 คน

2.กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,061,082 คน

3.กลุ่มผู้หญิงสูงอายุที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก จำนวน 379,347 คน

สำหรับมาตรการสนับสนุนให้สตรีเป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย ดังนี้

1.จัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยขยายบริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้รับอายุ 0 – 3 ปี และขยายเวลาเปิด – ปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงานตามบริบทของพื้นที่

2.ส่งเสริมการลาของสามี (ข้าราชการชาย) เพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด โดยให้ข้าราชการชายมีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา (จากเดิมที่ให้ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทำการ)

3.ขยายวันลาคลอดของแม่ (ข้าราชการหญิง) โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งระเบียบเดิมข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 90 วัน และข้าราชการหญิงที่ลาคลอดบุตรแล้ว หากประสงค์ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร ให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งมาตรการใหม่นี้

ข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ 98 วัน (เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 วัน) โดยได้รับค่าจ้าง และเมื่อครบ 98 วันแล้ว สามารถลาเพิ่มได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนร้อยละ 50 ของเงินเดือน รวมวันลาคลอดทั้งสิ้น 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติระบุว่า ควรให้บุตรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด

ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการนี้ คือ 1.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงด้านการจ้างงาน ทำให้เกิดนโยบายที่มีลักษณะเป็นมิตรกับผู้หญิง สร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2.ส่งเสริมให้สามีมีส่วนร่วมในการดูแลบุตร 3.ปรับเปลี่ยนจำนวนวันลาคลอดของข้าราชการให้เท่ากับภาคเอกชน 4.สนับสนุนนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน

พร้อมกันนี้ นางสาวรัชดา รองโฆษกรัฐบาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นของมาตรการและให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและหน่วยงานกลางบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนราชการต่าง ๆ ดำเนินการปรับแก้ระเบียบต่อไป

 

ข่าวจาก :  thansettakij

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: