เปิดต้นตอ ทำไมหมูราคาแพงลิ่ว ทุกร้านปรับราคา – คาดปี 65 ยังอ่วมต่อ พร้อมแนะแก้อย่างไร





เปิดสาเหตุ ราคาหมูแพงทะลุเพดาน เหตุต้นทุนสูง เกษตรกรหายไปกว่าครึ่ง ทำปริมาณการผลิตลดลง แนวโน้มปีหน้าอาจเกิน 200 บาทต่อกิโลกรัม แนะแก้ปล่อยไปตามกลไกตลาด พร้อมเร่งฟื้นฟูรายย่อย

จากกรณีร้านค้าจำนวนมากแห่ขึ้นราคาค่าอาหาร เนื่องจากราคาเนื้อหมูในท้องตลาดมีการปรับราคาสูงขึ้นแตะ 200 บาทแล้ว และยังมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนหลายคนเกิดคำถามว่าเพราะเหตุใดนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงกรณีเนื้อหมูปรับราคาแพงขึ้นในท้องตลาด สาเหตุมาจากปัจจัยหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น

– ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น อาหารสัตว์ ยาในการรักษาโรค หรือสร้างคอกสัตว์ก่อนทำการเลี้ยงรุ่นการผลิตใหม่

– การพบโรคระบาดที่ก่อความเสียหายต่อหมูที่จะเข้าสู่ตลาด เนื่องจากต้องมีการทำลายหมูเพื่อควบคุมโรค

– เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อยและรายกลาง เกิดความตื่นตระหนกต่อข่าวของการเกิดโรคระบาด จึงเร่งขายหมูออกจากฟาร์ม ทำให้ปัจจุบันหมูในระบบการผลิตมีปริมาณลดลง เป็นต้น

เปรียบเทียบราคาเนื้อหมู

ขณะที่รายการ เรื่องเด่นเย็นนี้ ช่อง 3 รายงานว่า จากการเปรียบเทียบราคาหมู เมื่อช่วงมกราคม 2564 กับช่วงเดือน ธันวาคม 2564 ปรากฏว่า ราคาหมูขายปลีก ราคาปรับขึ้นมา 32-40 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าหากเป็นร้านขายปลีกที่รับหมูไปขายทอดที่สอง ทอดที่ 3 ราคาจะบวกเพิ่มอีกกิโลกรัมละ 10-20 บาท โดยประชาชนในภาคเหนือ ได้รับผลกระทบจากราคาเนื้อหมูมากที่สุด

แนวโน้มราคาเนื้อหมู

นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประเมินแนวโน้มราคาหมูในปีหน้า ว่าจะยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง จากปัจจัยต้นทุนการเลี้ยงหมู ทั้ง ราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 30% ระบบป้องกันโรคระบาดที่ใช้ต้นทุนสูง ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูพุ่งไปที่กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าหมูมีชีวิตจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท ส่วนราคาขายปลีก มีโอกาสได้เห็นกิโลกรัมละ 200 บาท ถึง 200 บาทต้น ๆ

นอกจากนี้ เกษตรกรก็ไม่สามารถตรึงราคาไหว แม้ที่ผ่านมาให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรึงราคาต่อเนื่อง ทั้งหมูธงฟ้า หมูแลกข้าว แต่ผู้เลี้ยงหมูก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างจริงจัง จนทำให้เกษตรกรรายย่อยล้มหายตายจาก ต้องเลิกกิจการ จากที่เคยมีอยู่ 200,000 ราย วันนี้เหลือไม่ถึง 80,000 ราย ส่งผลให้หมูขาดแคลน ปริมาณหมูที่เข้าสู่ตลาดลดลงไปกว่า 40%

แนวทางการแก้ปัญหา จากมุมมองอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

– การตรึงราคายิ่งจะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ เห็นควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ก็จะเกิดการสร้างสมดุลราคา

– ต้องไปดูราคาขายปลีกจากคนกลางว่ามีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่

– กรณีหากภาครัฐจะนำเข้าหมูจากต่างประเทศเพื่อมาพยุงราคา ควรเก็บเงินค่าส่วนต่างราคาเพื่อนำมาฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยให้สามารถประกอบกิจการต่อได้

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: