เพจวิทย์สวนแสกหน้า เอ้ สุชัชวีร์ เรื่องแก้น้ำทะเลหนุนบางขุนเทียน จนโดนล็อกทุกช่องทาง !





เพจวิทย์นอกห้อง แหกยับ เอ้ สุชัชวีร์ หลังผุดไอเดียใช้เตตระพอด กันคลื่นชายทะเลบางขุนเทียน แนะก่อนแก้ปัญหาต้องรู้สาเหตุ ใช้วิธีให้เหมาะสม เผยถูกบล็อกจึงไปคอมเมนต์ไม่ได้

ทั้งนี้ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก เอ้ สุชัชวีร์ ว่า ตนได้ลงพื้นที่ทะเลบางขุนเทียน เพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุน พื้นดิน กทม. เสียหายหลายตารางกิโลเมตร และสิ่งที่เห็นคือ กทม. ใช้บ้องไม้ไผ่มาต่อกันเพื่อกันคลื่นทะเล ซึ่งเอ้มองว่า ทำแบบนี้ไม่นาน บ้องไม้ไผ่ก็พัง กลายเป็นขยะ ชาวบ้านก็ต้องมาเก็บแล้วทำใหม่ เสียงบประมาณไปอีก

ดังนั้น เอ้จึงเสนอไอเดียให้ใช้ เตตระพอด (Tetrapod) ซึ่งเป็นวิธีการที่นิยมที่สุดวิธีหนึ่งที่ในต่างประเทศทั้งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น นิยมใช้ และเป็นการใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมชายฝั่ง ที่คำนวณทั้งกำลังและความสูงของคลื่นมาแก้ปัญหานี้

การใช้ เตตระพอดเพื่อเป็นเขื่อนกันคลื่น ซึ่งตัวเตตระพอดจะเป็นคอนกรีตที่หล่อเป็นทรง 4 ขา สามารถต่อกันได้ไปเรื่อย ๆ เหมือนเลโก้ สามารถทำโรงหล่อใกล้ชายฝั่งได้เลยไม่ต้องขนย้าย อีกทั้งยังเป็นเขื่อนเปิดที่มีรูและช่องว่าง สัตว์น้ำไปวางไข่แพร่พันธุ์ได้ และหากนำมาใช้กับทะเลบางขุนเทียน ก็จะช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่ง ต้นโกงกางที่ปลูกแล้วตาย ก็ไม่ต้องปลูกซ้ำ เพราะจะสามารถขึ้นเองได้

“หากผมมีโอกาสรับใช้คนกรุงเทพ เป็นผู้ว่า กทม. จะสร้าง เจ้าเตตระพอด สี่ขาผู้น่ารัก ให้ป้องกันชายทะเลบางขุนเทียน เพราะทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่าดี ที่สำคัญยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และเรียนรู้ด้านวิศวกรรมของลูกหลานเรา

ผมจึงมั่นใจ หยุดน้ำทะเลหนุน น้ำกัดเซาะ เปลี่ยนกรุงเทพ #เราทำไดั”

เพจวิทย์นอกห้อง สวนเอ้ เผยสาเหตุทำไมยังใช้ไม้ไผ่ เจอของ ตปท. ดี ไม่ใช่มาโปะใช้ที่ไทยแล้วจะดี !

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 29 ธันวาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก วิทย์นอกห้อง ได้ลงภาพโพสต์ดังกล่าวของ เอ้ สุชัชวีร์ เพื่อจะนำเสนอข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับไอเดียการใช้เตตระพอด ทำเขื่อนกันคลื่นชายทะเลบางขุนเทียน ว่าทำไมถึงอาจจะไม่เวิร์กกับพื้นที่ แต่ก็ไม่สามารถชี้แจงได้ในเพจผู้สมัครท่านนี้ หรือเพจของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้ เนื่องจากถูกทีมงานผู้สมัครท่านนี้บล็อกทั้งหมด จึงถือโอกาสขอพูดหน้าเพจดังนี้

อันดับแรก ต้องแยก “หาด” กับ “ฝั่ง” ให้ออกก่อน พร้อมอธิบายว่า เขตบางขุนเทียนส่วนใหญ่เป็น “หาดเลน” และที่เอาไม้ไผ่ไปปัก จุดประสงค์หลักไม่ใช่กันคลื่น แต่เป็นการลดแรงคลื่นทำให้ตะกอนตกเพื่อคืนสภาพหาด ส่วน “เตตระพอด” ส่วนใหญ่ใช้วางตรงที่ถมทะเลกับริมชายฝั่งที่ไม่มีหาด

กรณี น้ำทะเลหนุน เป็นกลไกธรรมชาติที่มีประโยชน์ มันช่วยพัดพาสารอาหารไป-กลับบริเวณปากแม่น้ำกับทะเล หลายประเทศที่ทำโครงสร้างแข็งแบบนี้ พบว่าความอุดมสมบูรณ์ลดลง กระทบการทำประมง เพราะสัตว์ที่เข้า-ออกระหว่างช่องว่างของเตตระพอด พบว่ามีแต่ตัวเล็ก ๆ ตัวพ่อแม่เข้า-ออกยากหรือเข้า-ออกไม่ได้เลย

สาเหตุที่ในพื้นที่ใช้ไม้ไผ่กันคลื่น เพราะไม้ไผ่มันโตไว และป่าชายเลนเป็นป่าเดินได้ คือมันขยายตัวได้เรื่อย ๆ ตามแนวหาดเลน ถ้ามีโครงสร้างแข็งมากั้น ป่าชายเลนจะขยายไม่ได้ ถ้าไม้ไผ่ผุก็จัดหาคนมาเก็บ แค่นั้น ไม่ใช่เรื่องยากเลย

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการบุกรุกพื้นที่ริมทะเล รองลงมาคือตะกอนถูกดักไว้บนแผ่นดิน ดังนั้นก่อนจะแก้ปัญหาอะไร เราต้องทำความเข้าใจว่ามันมีปัญหาจริงหรือไม่ สาเหตุคืออะไร แล้วเลือกทางแก้ที่เหมาะสม ไม่ใช่ไปเจออะไรของต่างประเทศแล้วก็เอามาโปะที่บ้านเรา

ต่อมา เพจดังกล่าวยังระบุข้อความอีกว่า “คุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี คือการรับฟังความคิดเห็นของผู้ตาม”

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: