ร้องศูนย์ดำรงธรรม เอาผิดกรรมการ ฌาปนกิจสงเคราะห์ หลังเสียชีวิตแล้วไม่จ่ายเงิน





บุกร้องศูนย์ดำรงธรรม เอาผิดกรรมการ ฌาปนกิจสงเคราะห์ หลังเสียชีวิตแล้วไม่จ่ายเงิน

เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม สมาชิก “สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกกองทุนเครือข่ายอำเภอแคนดง” กว่า 20 คน เข้าร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้ช่วยทวงถามเงินฌาปนกิจ ที่ญาติเสียชีวิตไปแล้ว แต่จ่ายเงินรายละ 10,000-30,000 บาท จากยอดที่จะได้กว่า 80,000 บาท บางรายญาติเสียชีวิตนานถึง 2 ปี ยังไม่ได้เงิน

จากนั้นได้เดินทางไปที่ สภ.แคนดง อ.แคนดง เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ไว้กับ ร.ต.อ.สุพจน์ เทาขุนทด รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.แคนดง และหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหา จะกลับมาแจ้งความเอาผิดคณะกรรมการของสมาคมอีกครั้ง นอกจากนั้นชาวบ้านที่ไปวิ่งเต้น ได้รับจากจดหมายขู่จากสมาคมว่าให้อยู่เฉยๆ อีกด้วย

นายถาวร นาเมืองรักษ์ อายุ 36 ปี บอกว่า ตนมีอาชีพรับจ้างตัดอ้อย พ่อสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมมานานแล้ว โดยจ่ายให้สมาคมปีละ 2 ครั้ง กลางปี 1,550 บาท ปลายปีอีก 1,000 บาท รวมต้องจ่ายให้สมาคมปีละ 2,550 บาท เมื่อเดือนเมษายน 2564 พ่อได้เสียชีวิตลง ตนทำเรื่องขอเบิกเงินฌาปนกิจจากสมาคม ปรากฏว่า คณะกรรมการให้เงินมาเพียง 10,000 บาท ตั้งแต่ตอนนั้นมาทวงถามไม่เคยได้เงิน

ด้านนายบุญร่วม จิมานัง อายุ 77 ปี ประธานสมาคม กล่าวว่า สมาชิกของสมาคมมีทั้งหมดประมาณ 4,000 คน แต่ไม่ส่งเงินบ้าง ขาดคุณสมบัติบ้าง และบางคนลาออกบ้าง ทำให้สมาคมขาดสภาพคล่อง ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าสมาชิกเหลือกี่คน และยังไม่จ่ายเงินให้สมาชิกที่เสียชีวิตกี่คน จะต้องรอประชุมใหญ่ปลายปีนี้จึงจะทราบ

ขณะที่นายกันตพัฒน์ กมล อายุ 42 ปี ชาวบ้านใน ต.แคนดง บอกว่า ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม แต่เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านไม่ไหว เพราะมีจำนวนมากที่ไม่ได้เงินฌาปนกิจ ทั้งที่มีการเก็บเงินล่วงหน้าไปแล้ว และจ่ายอีกเป็นรายครึ่งปี จึงขันอาสาพาชาวบ้านไปร้องเรียนเพื่อความยุติธรรม

และล่าสุด แม่ได้รับจดหมายจากประธานสมาคม ลักษณะเขียนถึงตนเองด้วยข้อความว่า “ช่วยบอกหลานตุ้ยด้วย เพราะฝ่ายเลขาสมาคมเขาแจ้งให้ตาร่วมว่า ตุ้ยเข้าไปพูดอะไรต่ออะไรที่สมาคมฌาปนกิจ กทบ.(กองทุนหมู่บ้าน) ว่าตุ้ยทำหน้าที่อะไร ว่าได้รับใบสั่งจากใคร จึงไปพูดในสิ่งที่ตนเองไม่รู้และตนเองก็ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมด้วย คือธุระไม่ใช่

สมาคมเป็นของกรรมการทั้งอำเภอ เมื่อการสะดุด เขาก็ร่วมกันแก้ไขเขาประชุมกันทุกสัปดาห์ หาทางออกให้ปัญหา ปัญหาที่เกิดขึ้น นายอำเภอก็ทราบ ผุ้ว่าราชการจังหวัดก็รับทราบแล้ว เพราะมีการร้องเรียนถึงจังหวัดแล้ว เขากำลังเรียกกรรมการแต่ละตำบล เข้าไปชี้แจง และเขาก็แนะนำวิธีการต่างๆ ในการแก้ปัญหา

ส่วนหลานตุ้ยนั้น อยากให้ไปหางานทำดูแลครอบครัวของตนเอง ให้มีอยู่มีกิน อย่าเข้าไปยุ่งกับเขา มันไม่มีอะไรดีขึ้นหรอก ให้เขาแก้ปัญหากันไป กรรมการเขาอยู่ทุกหมู่บ้านอยู่ แล้ว นายอำเภอเขาก็ดูแลอยู่ ผู้ว่าฯเขาก็ดูแลอยู่ หาทางออกจากวิกฤต ช่วยกันอยู่ ขอให้ดูแลตัวเองดีกว่า”

 

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: