กรมควบคุมโรค ประเมิน โอมิครอน คล้ายไข้หวัดใหญ่ แพร่เร็วกว่าสายพันธุ์อื่น สูงสุด 5 เท่า





กรมควบคุมโรค ประเมินสถานการณ์โควิดโอมิครอน มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่-อาการน้อย หรือไม่มีอาการ แพร่ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น 2-5 เท่า เมื่อระบาดเยอะก็กลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงลดลง

จากกรณีที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน รายแรก โดยเป็นชาวอเมริกันที่เป็นนักธุรกิจ และอาศัยอยู่ในสเปน 1 ปี เดินทางมาจากประเทศสเปน เก็บตัวอย่างครั้งแรกวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และเก็บตัวอย่างซ้ำวันที่ 3 ธันวาคม ผลปรากฏว่ามีโอกาสเป็นสายพันธุ์โอมิครอนสูงมากถึง 99.92% และนับเป็นผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนคนแรกในประเทศไทย

วันที่ 6 ธันวาคม 2564 เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกและในไทย โดยช่วงหนึ่งมีการระบุถึงโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน หรือ B.1.1.529 ว่า สายพันธุ์โอมิครอนถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ต้องจับตา เพราะมีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรม แต่ข้อมูลโควิดตอนนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจากความรู้สึก ไม่ผ่านการกลั่นกรองโดยผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นการรับข้อมูลทางโซเชียลต้องกลั่นกรอง ส่วนข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ผ่านการกลั่นกรองจากผู้เชี่ยวชาญ มีหลักฐานเชิงประจักษ์และข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก

นายแพทย์โอภาส ระบุว่า ดูเหมือนรูปแบบการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่ เมื่อระบาดเยอะก็กลายเป็นโรคประจำถิ่น ความรุนแรงลดลง ส่วนโอมิครอนนั้น ทางองค์การอนามัยโลกระบุว่ายังไม่มีข้อมูลผู้เสียชีวิตแม้แต่รายเดียว ตรงกับข้อมูลหลายหน่วยงานที่ระบุว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาค่อนข้างมาก

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ล่าสุด วันที่ 5 ธันวาคม 2564 พบว่ามีผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว 46 ประเทศ และเพิ่มไทยเป็นประเทศที่ 47 ซึ่งการติดเชื้อแบ่งออกเป็น

1. ติดเชื้อในประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ รวมแล้วมี 15 ประเทศ
2. ติดเชื้อจากผู้เดินทางเข้า มี 31 ประเทศ รวมถึงไทยด้วย และยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน

นายแพทย์โอภาส ระบุอีกว่า เชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดเร็ว 2-5 เท่า ส่วนใหญ่อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ส่วนลักษณะการติดเชื้อแยกยากจากสายพันธุ์อื่น ๆ ทั้งเดลตา อัลฟา แกมมา แต่ที่มีรายงานจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และไม่มีรายงานการเสียชีวิต สิ่งสำคัญคือการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด

ขณะนี้ประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 95 ล้านโดส โดยเฉพาะคนฉีดเข็ม 1 ในไทยครอบคลุมเกิน 75% แล้ว และเข็มที่ 2 เกินกว่า 60% แล้ว ขณะนี้กำลังบูสเตอร์โดสเข็ม 3 โดยขอให้รอฟังประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าครบ 2 เข็มเดือนไหน และจะให้ฉีดบูสเตอร์โดสเมื่อไหร่ คาดว่าเดือนธันวาคม-มกราคม จะมีการฉีดบูสเตอร์โดสเข็ม 3 มากที่สุด

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: