วิเคราะห์รถทหารวิ่งแทนรถบรรทุก ได้จริงหรือ – จะฝ่าต้นทุนมากมายเหล่านี้ได้ไหม ?





ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ถามถ้าใช้รถทหารวิ่งแทนรถบรรทุก ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ บอก จะใช้งบจากไหน ถกเป็นเรื่อง ๆ จะฝ่าด่านเหล่านี้ได้ไหม ? ทั้งค่าน้ำมัน จำนวนรถ จำนวนคน สุดท้ายไม่พ้นพลทหารมาขับ

จากกรณีกลุ่มสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ได้มีการนำรถบรรทุกหลายร้อยคัน เคลื่อนไปบริเวณหน้ากระทรวงพลังงาน เพื่อกดดันให้รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 25 บาท แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้ได้ลิตรละ 30 บาท วอนอย่ากดดัน พร้อมสั่งเตรียมแผนรองรับ สั่งการให้กระทรวงคมนาคม จัดรถไฟและรถ บขส. รับ-ส่งสินค้าแทน หากจำเป็นก็พร้อมใช้รถทหารช่วยนั้น

ล่าสุด (17 พฤศจิกายน 2564) ข่าวช่องวัน รายงานว่า พ.อ.หญิง ศริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล หลังข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีอยู่ระหว่างสำรวจและตรวจสอบว่า รถทหารแบบใด ลักษณะใด และขนาดใดในค่ายทหารทั่วประเทศ เหมาะสมกับภารกิจใด โดยกระทรวงกลาโหมจะเป็นเจ้าภาพ หากมีข้อสั่งการเพิ่มเติมในการเรียกร้องขอเรื่องการขนส่ง

โดย อาร์ท เอกรัฐ ผู้สื่อข่าวช่องวัน ได้พูดคุยกับ นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ พร้อมวิเคราะห์ว่า หากนำรถทหารมาวิ่งจริง จะเผชิญหน้าฝ่าด่านต่าง ๆ เหล่านี้ไปอย่างไร ? สามารถทำได้จริงหรือไม่ ? ซึ่งระบุไว้ ดังนี้…

กองทัพอาจต้องเตรียมรถเพื่อขนส่งถึง 80,000 คัน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มากมาย

รถของสมาพันธ์ฯ 400,000 คัน หยุดวิ่ง 20% เท่ากับ 80,000 คัน เท่ากับทางกองทัพต้องเตรียมรถทหารประมาณ 80,000 คัน อาจจะรวมกับรถ บขส. และรถไฟ ตามที่นายกรัฐมนตรีบอก แต่รถขนส่งในภาคอุตสาหกรรมแต่ละเที่ยวมีต้นทุนหลายอย่าง ได้แก่

– ขนาดรถ (6 ล้อ, 10 ล้อ, 18 ล้อ)
– ค่าแรงคนขับรถ
– ค่ายาง (สึกหรอ) ประมาณกิโลเมตรละ 1 บาท
– ค่าน้ำมันหล่อลื่น
– ค่าภาษี หัก ณ ที่จ่ายปลายทาง
– ค่าน้ำมัน ซึ่งรถของทหารมีเครื่องยนต์ที่แตกต่างจากรถธรรมดาทั่วไป กินน้ำมันประมาณ 1.5 – 2 เท่า
– ต้นทุนการขนส่งแบบ Door to door ทั้งหมดรวมต้นทุนเที่ยวละประมาณ 10,000 กว่าบาท กำไรเที่ยวละประมาณ 10% หรือ 1,000 กว่าบาทต่อเที่ยว ยังไม่รวมการหักภาษี ณ ที่จ่าย

การขนส่งแบบ Door To door คืออะไร ?

คือการข่นส่งจากต้นทางไปยังปลายทาง โดยมีการขนส่งไปทั่วประเทศ ซึ่งมีหลายประเภท ได้แก่

– ภาคก่อสร้าง (ขนส่งหิน อิฐ ดิน ทราย) ขนส่งจากต้นทางสู่ไซต์ก่อสร้าง
– พืช/พืชไร่ (มัน, อ้อย, น้ำตาล, ข้าวโพด, ข้าว) และเครื่องอุปโภคบริโภค ขนส่งจากต้นทางถึงโกดังเก็บ
– เครื่องอุปโภค/บริโภค ขนส่งจากต้นทางถึงศูนย์กระจายสินค้า

คำถามคือ ถ้ารถทหารจะต้องวิ่งขนส่งทั่วประเทศแบบนี้ สามารถทำให้ครอบคลุมได้ไหม ? มีรถและค่าใช้จ่ายเพียงพอหรือไม่ และใครจะทำหน้าที่นี้ นายอภิชาติ กล่าวว่า รถของทหารที่คิดว่าจะเอามาวิ่งได้ ก็คงเป็นรถ 10 ล้อ แต่คงไม่เอารถถังมา พร้อมยกตัวอย่างว่า รถขนส่งวิ่งจากกรุงเทพฯ ไปขอนแก่น อาจจะใช้น้ำมัน 200 ลิตร แต่รถทหารอาจจะต้องเป็น 400 ลิตร เพราะระบบเครื่องยนต์มันต่างกัน

ทหารต้องไปฝึกมาใหม่ เพื่อเป็นพนักงานขนส่ง

นายอภิชาติ กล่าวว่า บุคลากรทหารไม่มีประสบการณ์ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ก็คงตกเป็นของนายทหาร คงไม่มีนายพลหรือนายพันไปขับ และต้องฝึกฝนกันใหม่ ต้องมีผู้จัดการตามสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปได้ค่อนข้างยาก

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: