เจ้าของสุดช้ำ ซื้อบ้านหลังใหม่ 1.6 ล้าน อยู่ได้ 15 วัน ร้าว เรียกช่างมาแก้ก็ไม่เป็นผล





เจ้าของสุดช้ำ ซื้อบ้านหลังใหม่ 1.6 ล้าน อยู่ได้ 15 วัน ร้าว เรียกช่างมาแก้ก็ไม่เป็นผล เชื่อสร้างผิดแบบ

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ซอยคลองขุด 40 (นวลอุทิศ) บ้านของนายศราวุฒ หยูทอง อายุ 40 ปี อ.เมือง จ.สตูล โดยเจ้าบ้านเพิ่งซื้อบ้านมาอาศัยได้เพียง 15 วัน เล่าว่า พบรอยแตกร้าวตัวบ้านทั้งบ้านด้านหน้าบ้าน และด้านข้างตัวบ้าน รีบแจ้งช่างเจ้าของโครงการให้มาแก้หลายครั้งก็ไม่เป็นผล ทั้งที่บ้านที่ซื้อเป็นบ้านใหม่ ทำให้ตนรู้สึกร้อนใจมาก จึงปรึกษาเพื่อนผู้รู้แนะนำให้ขอคัดแปลนจากเทศบาลตำบลคลองขุดตรวจสอบพบว่าดินแปลงนี้ก่อสร้างอาคารเต็มผืนดิน ทั้งที่บ้านควรจะต้องมีการกั้นพื้นที่บริเวณไว้ ยิ่งสร้างความไม่สบายใจให้กับตนว่าได้บ้านใหม่ที่สร้างผิดแบบแปลน และยิ่งสร้างความสงสัย

นายศราวุฒ หยูทอง ผู้ซื้อบ้านจากโครงการเล่าว่า ตนไม่มีความรู้ในเรื่องของบ้านเท่าไหร่ ได้ตัดสินใจซื้อบ้านหลังนี้ด้วยกันโพสต์จาก social หลังได้เข้าดูก็ได้ตกลงการซื้อ หลังซื้ออยู่มาได้ไม่ถึง 15 วัน บ้านก็เกิดมีรอยแตกร้าว จึงได้ติดต่อเจ้าของโครงการเข้ามาดูและรับปากว่าจะซ่อมให้ เริ่มซ่อมครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ก็ยังไม่หาย จึงได้ปรึกษาเพื่อนที่มีความรู้ แนะนำให้ไปขอแบบแปลนจากทางเทศบาลมา ให้เพื่อนดูพบว่ารอยที่แตกเกิดจากการก่อสร้างที่ผิดแบบแปลน

“ทางเทศบาลปล่อยมาได้อย่างไร และปล่อยให้มีการสร้างเสร็จมาได้อย่างไร ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่าทางเทศบาลมีอะไรกับทางเจ้าของโครงการบ้านหรือเปล่าถึงปล่อยให้มีการขายบ้านลักษณะนี้ออกมาได้ เป็นการสร้างแบบที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งตนไม่ได้มีความรู้เรื่องอะไรเลย”

“จนได้มีการร้องไปที่หน่วยงานป.ป.ช. ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรมาก นอกจากนี้ติดต่อไปทางเทศบาลบอกว่าไม่สามารถที่จะออกเอกสารได้ ซึ่งตนเห็นว่าหากเขาออกให้ก็เป็นการมัดตัวเขาเอง / อยากวอนให้สื่อช่วยดูเรื่องนี้เพราะตอนไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย และผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายทางด้านนี้ควรช่วยเหลือด้วย

“บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังแรกที่กู้ธนาคารมา ความรู้สึกตอนนี้ในฐานะคนซื้อบ้านใหม่ที่ต้องผ่อนทุกเดือนมาเจอบ้านแตกบ้านร้าว อีกอย่างต้นมีความกังวลว่าบ้านหลังนี้อาจจะกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพราะบ้านเป็นการปลูกที่ผิดแปลนหากมีการมาเรียกค่าปรับ ตนไม่ต้องเสียให้ตลอดหรืออย่างไร ต้นอยากรู้ว่าเรื่องนี้ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ หากต้องมีการให้รื้อถอนบ้านหลังนี้ เพราะหน่วยงานรัฐเป็นคนอนุญาตให้มีการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ จึงอยากจะฝากซื้อให้ช่วยดูเรื่องนี้ให้หน่อย”

“ฝากเตือนใครที่คิดจะซื้อบ้านต้องดูให้ดีเพราะมีกฎหมายควบคุมไว้หมดระยะร่นระยะห่าง หากทำตามแปลงจริง ๆ ราคาอาจจะไม่สูง แต่บ้านหลังนี้ทำเต็มพื้นดิน กลายเป็นว่าอัพราคาขึ้นมาได้ อาจจะมีปัญหาภายหลังได้ หากเจอเจ้าหน้าที่นอกรีตอาจจะมาเรียกเก็บเงินจากคุณได้ เพราะบ้านผิดแปลน อยากจะฝากทุกคนในเรื่องนี้ด้วย”

ด้านผู้สื่อข่าวได้เดินทางขอคำชี้แจงจากทางเทศบาลตำบลคลองขุด พบรองนายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด และรองปลัดเทศเทศบาลตำบลคลองขุด

โดยนายสุชาติ บริรักษ์กิจดำรง รองปลัดเทศบาลฯ ชี้แจงว่า เทศบาลตำบลคลองขุด เป็นอีกหน่วยงานที่ดูแลประชาชนในการอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะกรณีนี้เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการขออนุญาตในการก่อสร้าง เป็นหน้าที่ของทางเทศบาลที่ต้องกำกับดูแลดีอยู่แล้ว เพื่อให้บ้านเมืองเป็นไปตามระเบียบกฎหมาย สำหรับเคสนี้ได้มีการขออนุญาตและรับใบอนุญาตไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 กับคุณถาวร ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารและเจ้าของที่ดิน โดยก่อสร้างอาคารชั้นเดียวขนาด กว้าง 4 เมตร 50 ยาว16 เมตร โดยได้ก่อสร้างไปแล้วโดยเอกสารที่นำมาเสนอให้กับทางเทศบาลถูกต้องครบถ้วน เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ทางเทศบาลได้ดำเนินการตามขั้นตอนด้วยการตรวจขั้นตอนของการขออนุญาต เอกสารครบถ้วนแล้วจึงออกใบอนุญาต

ทางเทศบาลไม่สามารถที่จะก้าวล่วงเอกชนได้ว่าใช้วัสดุอะไรอย่างไร แต่ในตัวแบบก็จะมีกำกับอยู่มาตรฐานที่ใช้ แต่ชาวบ้านทั่วไปสามารถมาร้องขอ ให้ฝ่ายช่างซึ่งมีความชำนาญทางด้านวิศวกรรมลงไปตรวจสอบให้ข้อมูลเป็นแนวทางได้ สำหรับในกรณีนี้อาคารไม่เข้าข่ายที่จะต้องใช้สถาปนิกเป็นผู้รับรองการออกแบบและควบคุมงานมีพื้นที่แคบ 78 ตารางเมตรซึ่งกฎหมายกำหนด 150 ตารางเมตรขึ้นไป และอาคารที่มีช่วงคานเกิน 5 เมตรหรือมีความสูงของเสา 4 เมตรขึ้นไปต้องใช้วิศวกรเป็นผู้รับรองให้แต่กรณีนี้ไม่เข้าข่ายกฎหมายทางเทศบาลก็อนุญาตตามปกติ

แล้วเรื่องนี้ก็สามารถที่จะมาพูดคุยกันว่ารอยร้าววิศวกรสามารถที่จะซ่อมแซมให้ได้หรือไม่ อะไรที่ผิดสามารถแก้ไขได้หรือไม่ ทางผู้ขายและผู้ซื้อยินยอมกันเป็นอันแก้ไขได้ถูกจุด ถ้าดูตามแบบก็พบว่าบ้านนี้สามารถที่จะอยู่อาศัยต่อไปได้แต่ทั้งนี้ต้องให้ผู้เชียวชาญลงไปดูข้อเท็จจริงจะดีกว่า ซึ่งกระบวนการนี้ยอมรับว่าเราไม่ได้ไปดูตั้งแต่ต้นเป็นเรื่องของเอกชนที่มาขออนุญาต

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: