สปสช. เร่งเยียวยาผู้ประกันตน เกิดผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด





สปสช. เร่งเยียวยาผู้ประกันตน เกิดผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนโควิด เผยยอดคำร้องกว่า 1 พันราย แบ่งความเสียหาย 3 ระดับ จ่ายสูงสุดไม่เกิน 4 แสนบาท

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2564 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ได้ออกประกาศเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ผู้ประกันตนสัญชาติไทยยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามประกาศ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 พ.ศ. 2564 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2564 นั้น

จากประกาศดังกล่าวของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 และเกิดภาวะไม่พึงประสงค์ สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจาก สปสช. ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ กรณีบริการโรคโควิด-19 ได้แล้ว ส่วนผู้ประกันตนที่ได้ยื่นเรื่องขอรับการช่วยเหลือไปยัง สปส. ก่อนหน้านี้ สปส.ได้เริ่มทยอยส่งเอกสารคำร้องของผู้ประกันตนมายัง สปสช. มีประมาณกว่า 1,000 ราย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 ระดับเขตพื้นที่

“หลังจากที่ สปส. ออกประกาศ สปสช. จะประสานกับอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯ ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ เพื่อเร่งพิจารณาช่วยเหลือผู้ประกันตนที่คงค้างและรอรับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุดเช่นเดียวกับคนไทยทุกคนที่ได้รับสิทธินี้อย่างเท่าเทียม และด้วยผู้ประกันตนที่รอรับการเยียวยามีจำนวนมาก ขณะนี้ สปสช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ 12 ชุด เร่งพิจารณาในเขตพื้นที่ กทม.แล้ว” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ทั้งนี้ การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับ 1 มีอาการป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง จ่ายไม่เกิน 1 แสนบาท ระดับ 2 เกิดความเสียหายถึงขั้นสูญเสียอวัยวะหรือพิการจนมีผลต่อการดำรงชีวิต จ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และระดับ 3 กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร จ่ายไม่เกิน 4 แสนบาท

ผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ใน 3 จุด คือ ที่หน่วยบริการที่ไปรับการฉีด ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือที่ สปสช.เขตพื้นที่ จะมีคณะอนุกรรมการในระดับเขตพิจารณาว่าจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่และจ่ายเป็นจำนวนเท่าใด ตามหลักฐานทางการแพทย์และระดับความหนักเบาของอาการไม่พึงประสงค์ กรณีที่ผู้ยื่นคำร้องไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัย มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อเลขาธิการ สปสช. ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบผลวินิจฉัย

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: