กรมควบคุมโรคแนะ น.ศ.อายุไม่เกิน 18 ปี ขอฉีดไฟเซอร์เด็กได้





เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์ ให้กลุ่มเด็กนักเรียน ว่าสำหรับอาการข้างเคียงหลังรับวัคซีนชนิด mRNA พบอาการกล้ามเนื้อและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เป็นที่มาของอาการเจ็บแน่นหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย ใจสั่น บางรายเป็นมากอาจหัวใจวายได้ อุบัติการณ์พบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใด แม้ไม่ได้ฉีดวัคซีน จะพบได้ 10-20 รายต่อประชากรแสนคนต่อปี แต่เมื่อฉีดวัคซีนชนิด mRNA ไป อัตราก็เพิ่มขึ้น ซึ่งยังมีสาเหตุไม่ชัด แต่ส่วนใหญ่เกิดในเด็กชาย 12-18 ปี ส่วนใหญ่เกิดในเข็มที่ 2 ในช่วง 5 วันแรก พบในอัตรา 6 รายต่อการฉีดแสนโดส

นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับกลุ่มนักเรียนที่บ้าน (Home School) ที่ไม่อยู่ในระบบ จะจัดสรรวัคซีนไปที่จังหวัด และนัดหมายลงทะเบียนการฉีดในระยะต่อไป โดยให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร นอกจากนี้ นักเรียนต่างชาติในระบบที่ตรวจสอบได้ หากประสงค์จะฉีดก็ฉีดให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน หรือโรงเรียนทหาร ฯลฯ

นพ.โอภาสกล่าวด้วยว่า สำหรับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยที่อายุไม่ถึง 18 ปี สามารถฉีดได้ ให้แสดงความจำนงที่จังหวัด ซึ่งส่วนกลางจะจัดสรรวัคซีนไปให้ แต่ถ้าอายุเกิน 18 ปี ซึ่งต้องฉีดสูตรซิโนแวค ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า แต่ถ้าในโรงเรียนฉีดไฟเซอร์กันทั้งหมด หากประสงค์จะฉีดก็อนุโลมฉีดไฟเซอร์ให้

นพ.โอภาสกล่าวว่า ประเทศไทยได้รับวัคซีนไฟเซอร์บริจาค 1.5 ล้านโดส ฉีดให้เด็กไป 1.3 แสนคน พบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 4 คน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานใกล้เคียงประเทศอื่น การฉีดวัคซีนต้องชั่งระหว่างผลดีและผลเสีย แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการฉีดประโยชน์มีมากกว่าผลข้างเคียง จึงแนะนำให้ฉีดนักเรียนต่อไป ซึ่ง สธ.ติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะคำแนะนำใหม่ๆ เช่น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยที่ออกคำแนะนำว่าการฉีดในเด็กผู้หญิงให้ฉีด 2 เข็ม แต่เด็กผู้ชายให้ฉีดเข็มเดียวก่อน สธ.กำลังติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด หากมีอาการแน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ ใจสั่นหมดสติ ขอให้ไป รพ.แจ้งว่ารับวัคซีนมาเพื่อรับการดูแลรักษาต่อไป

“จากการคิกออฟฉีดวัคซีนนักเรียนวันแรก มีรายงานการฉีดของชั่วโมงแรกๆ เข้ามาหลายจุด ทั้ง อ.เมืองพะเยา อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี อ.เมืองขอนแก่น อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ อ.เมืองอำนาจเจริญ อ.เขาชัยสน และ อ.ศรีบรรพต จ.พัทลุง เขตราชเทวี และเขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร รวม 943 คน ข้อมูลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะมีทยอยเข้ามาอีก ขอเชิญชวนพ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนที่ยังไม่แสดงความจำนงขอให้พิจารณาการฉีดวัคซีนจะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้าง การติดตามอาการไม่พึงประสงค์ ขอให้ทุกคนช่วยติดตามจะได้มีความปลอดภัย” นพ.โอภาสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังเปิดเทอมคาดว่าจะมีการติดเชื้อมากขึ้นหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า จากประสบการณ์หลายประเทศ และของไทย พบว่าโรงเรียนเป็นอีกจุดหนึ่งติดเชื้อไปยังนักเรียนและครู มาตรการที่ทำคือจัดสถานศึกษาให้มีความปลอดภัย โดยเฉพาะสิ่งงแวดล้อม ระบบถ่ายเทอากาศ การเว้นระยะห่าง การกิจกรรมทำร่วมกันต้องเคร่งครัด โดยเฉพาะรับประทานอาหารร่วมกัน ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องฉีดวัคซีน 100% ขณะนี้ฉีดแล้วร้อยละ 80-90 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเร่งรัดให้ครบ

นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะที่ตัวนักเรียนเอง เราจึงฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อและป่วยรุนแรง แต่วัควีนไม่ใช่จุดเดียวในการป้องกัยการแพร่ระบาด การเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากาก การทำความสะอาดสถานที่ การทำกิจกรรมร่วมกัน ขอให้เคร่งครัด รวมถึงเฝ้าระวังโดยเฉพาะโรงเรียนประจำ อาจต้องมีการตรวจแอนติเจน เทสต์คิท ( ATK) เป็นระยะ ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต้องไปกำหนดว่าจะตรวจอย่างไร สธ.จะติดตามรายงานการระบาดเป็นคลัสตอร์ไม่ให้การระบาดเกิดขึ้นเร็ว

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: