รัฐบาลเตรียมแผนแก้หนี้ครูทั้งระบบ หลังพบครู 9 แสนคนทั่วประเทศมีหนี้รวม 1.4 ล้านล้าน





วันนี้ (3 ตุลาคม) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห่วงใยต่อสถานการณ์ปัญหาหนี้สินของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันพบว่า ครูทั่วประเทศประมาณ 9 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 80 มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท

โดยเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดคือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64 รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน วงเงิน 3.49 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ซึ่งนายกรัฐมนตรีกำชับกระทรวงศึกษาธิการให้เร่งหาแนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรอย่างยั่งยืน รวมถึงให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมพร้อมวงเงินปล่อยกู้ให้นักเรียนและนักศึกษาเข้าถึงแหล่งเงิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายปีการศึกษา 2564

ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแผนแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบแล้ว ระยะแรกจะดำเนินการ 3 แผนงาน ได้แก่

แผนงานที่ 1 โครงการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบเป็นฐาน เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูต้นแบบจำนวน 12 แห่ง 4 ภาค ภาคละ 3 แห่ง ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทุกแห่งและส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่จังหวัดภายในเดือนตุลาคมนี้ และขยายผลการดำเนินงานไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศที่มีความพร้อมตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

แผนงานที่ 2 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเจรจากับสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขปัญหาครูรายที่ถูกฟ้อง พร้อมแนวทางการแก้ปัญหาของผู้ค้ำประกันและการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 โดยให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาร่วมกันในระดับพื้นที่จังหวัดในการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างสหกรณ์ออมทรัพย์ครู สถาบันการเงิน และส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการระดับจังหวัด

แผนงานที่ 3 การจัดอบรมพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีความรู้ทางด้านการวางแผนและการสร้างวินัยทางการเงินและการออม โดยมีเป้าหมายอบรม 1 แสนคนต่อปี เริ่มอบรมรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ศูนย์ Deep กระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้ยังมีการถอดบทเรียนการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาจากสหกรณ์ตัวอย่าง 2 แห่ง คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสมุทรปราการ จำกัด และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร จำกัด พบสาระสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้คือ การปรับลดภาระดอกเบี้ยและการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ต่ำลงไม่เกิน 3% ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สหกรณ์และสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับสินเชื่อที่มีอัตราความเสี่ยงต่ำ 4.5-5%

ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น รวมหนี้จากทุกสถาบันการเงินมาไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์ครูหรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ครู การปรับโครงสร้างหนี้ครูก่อนเกษียณอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ครูที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปตั้งแต่ 0.25-0.50.% เป็นต้น

สำหรับการช่วยเหลือนักเรียนและนักศึกษาในเรื่องเงินกู้นั้น กยศ. ได้ขยายกรอบวงเงินการให้กู้ยืมปีการศึกษา 2564 จากเดิมจำนวน 38,587 ล้านบาท สำหรับผู้กู้จำนวน 6.2 แสนราย เป็น 40,000 ล้านบาท สำหรับผู้กู้ยืมจำนวน 7 แสนราย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่างๆ ให้กับนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด โดยขยายเวลายื่นขอกู้ยืมเงินภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ไปจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 นักเรียนและนักศึกษาสามารถยื่นกู้ยืมผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยแอปพลิเคชัน กยศ. Connect หรือทางเว็บไซต์ studentloan.or.th โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในการทำสัญญากู้ยืมเงินใหม่

รัชดากล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึษาเป็นเรื่องที่ พล.อ. ประยุทธ์ ให้ความสำคัญอย่างมาก ที่ผ่านมาได้แต่งตั้งรองนายกรัฐมนตรี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินครูอย่างเป็นระบบ ทั้งการลดรายจ่าย เพิ่มการออม และไม่ก่อหนี้เพิ่ม รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้ครูรุ่นใหม่ๆ ต้องติดกับดักวงจรการเป็นหนี้ด้วย และในเรื่องเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ขอยืนยันว่า กองทุน กยศ. มีเงินให้กู้ยืมเพียงพอสำหรับนักเรียนและนักศึกษาได้มีโอกาสได้เรียนต่ออย่างแน่นอน

 

ข่าวจาก : thestandard

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: