“ศรีสุวรรณ” ถามหาคนรับผิดชอบ อ่างลำเชียงไกรชำรุด ชี้ชาวบ้านฟ้องได้





ศรีสุวรรณ ชี้อ่างลำเชียงไกร ชำรุดถือเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต้องมีผู้รับผิดชอบ แนะชาวบ้าน ร้องเรียกค่าเสียหายได้

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่สื่อโซเชียลส่งข้อความประกาศเตือนว่าอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรแตก ขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ท้ายอ่างเร่งขนชองขึ้นที่สูง ต่อมากรมชลประทานได้ออกมาแก้ข่าวว่าอ่างลำเชียงไกรไม่ได้แตก เพียงแต่จุดที่เกิดปัญหานั้น เป็นจุดที่มีการก่อสร้างอาคาร และทางระบายน้ำ ซึ่งยังก่อสร้างยังไม่เสร็จ ทำให้น้ำกัดเซาะทำนบดิน จนน้ำล้นออกมาเท่านั้น โดยผู้รับจ้างได้ก่อสร้างไปได้แล้วร้อยละ 70

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ น้ำจากอ่างลำเชียงไกร(ตอนล่าง) ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ได้ทะลักท่วมพื้นที่ท้ายอ่างไปแล้วหลายพื้นที่ ทำให้พื้นที่ท้ายอ่างหลายอำเภอของโคราช อาทิ พระทองคำ ด่านขุนทด โนนไทย โนนสูง พิมาย ต้องเผชิญกับน้ำท่วมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้ทรัพย์สิน บ้านเรือน พืชผลทางการเกษตรเสียหายเป็นอย่างมาก แต่กลับไม่มีเสียงจากผู้บริหารของกรมชลประทาน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของจ.นครราชสีมา หรือของรัฐบาล ออกมาแสดงความรับผิดชอบแต่อย่างใด

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นไม่สามารถอ้างได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยได้ เพราะหน่วยงานราชการย่อมรู้มาก่อนล่วงหน้าแล้วว่า วันที่ 25-26 ก.ย.จะมีพายุดีเปรสชันเตี้ยนหมู่ พาดผ่านพื้นที่หลายจังหวัดในพื้นที่อีสานและภาคเหนือ ดังนั้น กิจกรรมการก่อสร้างอาคารและทางระบายน้ำของอ่างดังกล่าว ซึ่งมีปริมาณน้ำเหนืออ่างมากกว่า 41.69 ล้าน ลบ.ม.หรือกว่า 150% ต้องรีบเสริมทำนบดินบริเวณไซด์ก่อสร้างมารองรับก่อนที่พายุจะมา แต่กลับไม่ปรากฎว่ากรมชลประทานจะได้สั่งให้ผู้รับเหมาเตรียมการดังกล่าวไว้ไม่

ดังนั้น เมื่อเกิดน้ำล้นจนทำให้ทำนบดินที่ทำไว้รอบสปริลเวย์ (Spillway) ถูกกักเซาะจนพังทลายแทบทั้งหมด จึงถือเป็นความประมาทอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ ประชาชนที่อยู่ท้ายอ่างลำเชียงไกร(ตอนล่าง) ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหายจากน้ำท่วมอันมีผลมาจากน้ำทะลักมาจากอ่างลำเชียงไกร(ตอนล่าง) สามารถเรียกร้องขอค่าชดเชยหรือค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เป็นจริงทั้งหมดได้จากกรมชลประทานได้ โดยหลังจากน้ำหายท่วมแล้ว สามารถทำหนังสือหรือแจ้งไปที่กรมชลประทานโดยตรงหรือแจ้งผ่านตัวแทนหน่วยงานราชการในท้องที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ภายใน 90 วันนับแต่รู้ว่าทรัพย์สินเสียหาย

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กรมชลประทานหรือรัฐบาลจะนำเงินภาษีของประชาชนคนทั้งประเทศมาจ่ายชดเชยให้กับชาวบ้านดังกล่าวไม่ได้ หากแต่ต้องไปไล่เบี้ยเอากับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทั้งหมดตั้งแต่อธิบดียันเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงจะชอบ

ข่าวจาก ข่าวสดออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: