สลด ม.6 ผูกคอดับ มีประวัติป่วยซึมเศร้า คณะครูรุดเคารพศพ





สลด ม.6 ผูกคอดับ มีประวัติป่วยซึมเศร้า คณะครูรุดเคารพศพ เผยเด็กไม่ได้เรียนออนไลน์ตั้งแต่ก.ค. เลยจ้ำจี้จ้ำไช กลัวจบไม่พร้อมเพื่อน

กรณีน้องบอล (นามสมมุติ) อายุ 18 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ด้วยการผูกคอเข้ากับขื่อภายในห้องนอน ขณะตาออกไปหาหมอที่ รพ. พร้อมทิ้งจดหมายลาตาย ซึ่งหลังจากส่งร่างไปชันสูตรที่ รพ.เรียบร้อยแล้ว ญาติได้รับศพน้องบอลกลับมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่บ้าน ซึ่งมีการล็อกดาวน์หมู่บ้านหลังตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว 6 ราย และมีผู้สัมผัสมีความเสี่ยงสูงจำนวนมาก ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด ช่วงเย็นวานนี้ (22 กันยายน 2564) คณะครูโรงเรียนบัวใหญ่ ได้เดินทางเข้านำพวงหรีดมาเคารพศพ พร้อมพูดคุยทำความเข้าใจกับพ่อแม่-ผู้ปกครองของน้องบอล เบื้องต้นทราบว่า น้องไม่ได้เข้าเรียนออนไลน์มาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ทำให้ครูต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไช ว่ากล่าวตักเตือน เนื่องจากเกรงว่าจะไม่จบพร้อมเพื่อน แต่ไม่คาดคิดว่าน้องจะมีอาการของโรคซึมเศร้า จนทำให้เกิดความกดดันและเครียด จนถึงขั้นต้องมาจบชีวิตตัวเอง

ด้านผู้ปกครองก็เข้าใจสถานการณ์ดี เนื่องจากทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ลูกชายเคยรักษาอาการซึมเศร้ามาก่อน ที่ผ่านมา น้องบอลมักจะเก็บตัวอยู่คนเดียว จึงฝากคณะครูปรับปรุงวิธีการสื่อสารกับเด็กนักเรียนเพราะไม่ทราบได้ว่า สภาพจิตใจของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำอีก

ขณะเดียวกัน ส่วนราชการอำเภอบัวใหญ่ได้ลงพื้นที่ เพื่อมอบไข่ไก่และน้ำดื่ม เป็นขวัญกำลังใจให้กับผู้ที่ถูกกักตัว จากสถานการณ์การปิดหมู่บ้านสกัดการแพร่เชื้อโควิด-19 พร้อมอธิบายรายละเอียดของการจัดงานศพภายในหมู่บ้านที่ถูกควบคุมพิเศษในลักษณะนี้ เนื่องจากจะมีญาติต้องการเดินทางเข้ามาร่วมงานศพเป็นจำนวนมาก

นายพงษ์พิพัฒน์ ชุ่มสีดา สาธารณสุขอำเภอบัวใหญ่ เปิดเผยว่า จากการพูดคุยกับผู้ปกครองของเด็ก ทราบว่าน้องบอลเคยเข้ารับการรักษาอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้าตั้งแต่สมัยช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น จนกระทั่งขึ้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เห็นว่าอาการดีขึ้น เลยไม่ได้เข้ารักษาต่อ แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นไปได้ว่า เด็กยังคงมีอาการซึมเศร้าอยู่ จึงอยากฝากผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กเรียนออนไลน์อยู่กับบ้านเพียงลำพัง เพราะความเหงา ความว้าเหว่ และปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้ อาจมีส่วนกระตุ้นทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ เนื่องจากเด็กแต่ละคนจะมีความสามารถในการรับมือกับปัญหาสุขภาพจิตที่แตกต่างกัน เมื่อมีแรงกระตุ้นจึงอาจก่อเหตุโดยขาดความยั้งคิด โดยเฉพาะเด็กที่มีประวัติเคยรักษาอาการโรคซึมเศร้า ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นดูแลเป็นพิเศษ และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้อาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: