สภาพัฒน์ แจง ครม.ไตรมาส 2 ว่างงานพุ่ง 7.3 แสนคน หนี้ครัวเรือนทะลุ 14.13 ล้านล้าน





ครม.รับทราบ สภาพัฒน์ แจงภาวะสังคมไทย ไตรมาส 2 คนว่างงาน 7.3 แสนคน หนี้ครัวเรือนทะลุ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.5 ต่อจีดีพี

วันที่ 21 ก.ย. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครม. เมื่อวันที่ 21 ก.ย. รับทราบภาวะสังคมไทยไตรมาสสอง ปี 2564 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนากา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้ ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสสอง ปี 2564 ประกอบด้วย

1.สถานการณ์แรงงาน ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับช่วงเวลาปกติ การจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม แต่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง โดยการจ้างงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 ส่วนจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม ภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง เก็บสินค้า

แต่การว่างงานจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังสูง อัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.89 คิดเป็น 7.3 แสนคน โดยผู้จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงขึ้นร้อยละ 3.18 และ 3.44 ตามลำดับ สะท้อนว่าการว่างงานอยู่ในกลุ่มแรงงานทักษะสูง โดยผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 3.1 แสนคน ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยมีจำนวน 32,920 คน เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวนเพียง 7,964 คน

ทั้งนี้ ต้องติดตามผลกระทบและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การมีงานทำ และรายได้ โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ การปรับตัวของแรงงานที่ได้รับผลกระทบในกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อน และผู้จบการศึกษาใหม่

ขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น และต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลง โดยไตรมาสที่หนึ่ง ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.5 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(จีดีพี) ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ ที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น หนี้เสียของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.84 ในไตรมาสก่อน ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย

สะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้หรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น ส่วน ภาวะทางสังคมอื่น ยังเฝ้าติดตาม เช่น การเจ็บป่วยโดยรวม ผลกระทบด้านสุขภาพจิตของประชาชนจากโควิด-19 ความรุนแรงในครอบครัว จากการดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งคดีอาญาจากคดียาเสพติด ประทุษร้ายต่อทรัพย์ การค้ามนุษย์ และการร้องเรียนต่างๆ

สำหรับสถานการณ์ทางสังคมพบว่า การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน ปี 2564 ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานได้รับการจัดอันดับอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะด้านการศึกษาอยู่ในอันดับที่ 56

จึงต้องเร่งพัฒนาคุณภาพคน เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างกลไกให้เกิดการเรียนรู้ สภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้คนทุกกลุ่มสามารถพัฒนาทักษะของตนได้ง่ายขึ้น และนำเทคโนโลยีมาพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเพิ่มคุณภาพของเนื้อหาและการเรียนการสอน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา รวมถึงการช่วยเพิ่มโอกาสให้เข้าถึงการเรียนรู้ในช่วงโควิด-19 ควรให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษา

ขณะที่บทบาทสื่อกับบริบทสังคมไทย สื่อมีส่วนสำคัญในการกำหนดการรับรู้ให้ประชาชนทั่วไป จึงจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมของบทบาทสื่อรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่มีการส่งต่อข่าวปลอมได้ง่าย และกระจายไปได้รวดเร็ว จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัลแก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบทความเรื่อง “ประเทศไทยกับความพร้อมของรูปแบบการทำงานที่บ้าน” จากผลสำรวจของสวนดุสิตโพลเรื่อง พฤติกรรมของคนไทยกับการทำงานที่บ้าน ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า คนไทยมีการทำงานที่บ้านร้อยละ 43 และทำงานทั้งที่บ้านและที่ทำงานร้อยละ 34 โดยมีข้อดี ได้แก่ ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค ประหยัดค่าเดินทาง และเป็นการให้ความร่วมมือกับภาครัฐ

ส่วนข้อเสีย ได้แก่ มีค่าใช้จ่ายที่บ้านเพิ่มขึ้น อุปกรณ์เครื่องมือไม่สะดวก และการสื่อสาร ติดต่อล่าช้า ในส่วนของผู้ประกอบการ มีการประเมินว่า ร้อยละ 20 ของบริษัทในปัจจุบันมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน

ดังนั้น ควรเตรียมให้ไทยพร้อมรับกับรูปแบบการทำงานที่บ้าน โดยเตรียมความพร้อมขององค์กรสำหรับการทำงานรูปแบบใหม่ และยกระดับความพร้อมด้านเทคโนโลยีสำหรับองค์กร และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่พนักงาน พิจารณาให้การทำงานนอกสถานที่ทำงานเป็นนโยบายขององค์กร และการพิจารณาการปรับรูปแบบการทำงานสู่การทำงานที่บ้านให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยสนับสนุนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีความเสถียรและครอบคลุม

 

ข่าวจาก : matichonweekly

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: