พยาบาลจ้างเหมาแดนใต้ ขอผู้บริหาร สธ.เห็นใจ บรรจุเป็น ขรก.





4ก.ย.64 นายมัฮดี มูเด็ง ประธานชมรมพยาบาลวิชาชีพจ้างเหมาบริการจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า กลุ่มพวกตนเป็นพยาบาลวิชาชีพ ทำงานเทียบเท่าพยาบาลที่ได้รับการบรรจุทั้งหมด อยู่ด่านหน้า ปฏิบัติงานช่วยโควิด ช่วยเหลือผู้ป่วย เสี่ยงการสัมผัสเชื้อมาตลอด และหลายคนก็ติดเชื้อไปแล้วก็มี แต่พวกตนกลับอยู่นอกระบบของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นลูกจ้างเหมา ลูกจ้างรายวัน ไม่มีสิทธิสวัสดิการใดๆ เลย หากป่วยไข้ต้องลาหยุด ก็จะไม่ได้อะไร ต้องเสียรายได้เฉลี่ยวันละ 600 บาท เรียกว่าทำงานเป็นรายวัน แต่ความเสี่ยงไม่แตกต่างบุคลากรอื่นๆ

“เราเคยเข้าไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมกับกระทรวงสาธารณสุข ขอให้พวกเราเข้าระบบตั้งแต่การระบาด  โควิดรอบแรก ผ่านมาตอนนี้ 1 ปี เราก็ยังไม่ได้ความคืบหน้าอะไร ไม่ได้การติดต่อประสานใดๆ ทั้งสิ้น แต่เรายังคงทำงานสู้โควิด ยิ่งช่วงที่ผ่านมาการระบาดหนัก เราไม่ได้กลับบ้าน เพราะเราต้องทำงาน และกลัวจะนำเชื้อไปติดคนที่บ้าน แต่ปรากฏว่า ผู้ใหญ่กระทรวงฯ กลับไม่เห็นถึงพวกเราเลย ทั้งที่พวกเราเป็นพยาบาลวิชาชีพ ทำงานเหน็ดเหนื่อยมาตลอด ดังนั้น เมื่อมีข่าวล่าสุดว่าจะขยายการบรรจุข้าราชการ ยอมรับว่ามีความหวัง แต่ก็กลัวว่าจะซ้ำรอยเดิม เพราะขนาดเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัย เราก็ไม่ได้รับ” นายมัฮดีกล่าว

นายมัฮดีกล่าวว่า จากเงื่อนไขการบรรจุข้าราชการรอบใหม่ กำหนด 3 กลุ่ม คือ บุคลากรด่านหน้า ฝ่ายสนับสนุนด่านหน้า และแบ๊กออฟฟิศ ซึ่งเราอยู่กลุ่มด่านหน้าอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า รอบที่แล้วการจะบรรจุเป็นข้าราชการ ต้องเป็นพนักงานกระทรวงฯ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างชั่วคราวก่อน แต่พวกตนเป็นพยาบาลแบบจ้างเหมา ไม่มีเลขตำแหน่ง พวกตนถูกจ้างด้วยงบเงินบำรุง ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง มีข้อดีอย่างเดียวคือ เราทำด่านหน้าจึงได้รับวัคซีน แต่ขวัญกำลังใจเรื่องหน้าที่การงาน ไม่แน่ใจว่า ครั้งนี้พวกตนจะได้รับจากกระทรวงฯหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานชายแดนใต้ มีประมาณ 180 คน บางคนไม่ได้รับการบรรจุเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ขณะที่พยาบาลจ้างเหมาทั่วประเทศมีประมาณ 1,800-2,000 คน

“เมื่อตอนที่พวกเราไปร้องที่กระทรวงสาธารณสุข ขณะนั้นเรารวมตัวกันมาจากทั้งประเทศ ไปยื่นหนังสือขอความเห็นใจจากผู้บริหารกระทรวงฯ เรามีความหวังว่า ผู้บริหารจะช่วยเหลือให้เราได้เข้าระบบ เพื่อที่จะได้มีโอกาสบรรจุข้าราชการ ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงบอกว่า จะให้พวกเราเข้าสู่ระบบก่อน จะได้รอบรรจุได้ แต่สุดท้ายเราสู้มา 1 ปีกว่าก็ไม่มีอะไรตอบกลับมา เราคาดหวังกับกระทรวงมาตลอด ว่า จะให้ความช่วยเหลือ แต่จนถึงตอนนี้เราก็ยังอยู่เท่าเดิม และด้วยสถานการณ์ระบาดขณะนี้ ทุกคนทำงานหนัก ไม่มีเวลาจะไปเรียกร้องถึงกระทรวง เราไม่รู้จะทำอย่างไร คงทำได้แค่ส่งเสียงไปถึง หวังว่า ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ท่านสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. และท่านปลัดกระทรวงฯ คุณหมอเกียรติภูมิ วงศ์รจิต จะรับทราบ และเห็นใจพวกเรา ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทำงานด่านหน้าเช่นกัน” นายมัฮดีกล่าว

ข่าวจาก มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: