เล็งเลิกพรก.ฉุกเฉินหลังพรบ.โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประกาศใช้





29 ส.ค.64-รายงานข่าวจากที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แจ้งว่า หลังจากที่มีข้อห่วงกังวลเรื่องของการอนุญาตให้เปิดบริการ ร้านอาหาร กิจกรรม เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า และบรรเทาผลกระทบความเดือนร้อนของผู้ประกอบกิจการ ที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ซึ่งการพิจารณาเป็นไปตามที่ สมาคมภัตตาคารไทย และภาคธุรกิจร้องขอมา พร้อมกับเสนอมาตรการที่ภาคธุรกิจปฎิบัติเพื่อให้กิจการเปิดและเดินหน้าได้อย่างสมดุลระหว่างกับการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

รวมทั้งการตรวจชุด ATK การเว้นระยะห่าง การจัดสถานที่รองรับผู้เข้ารับบริการ ซึ่งข้อห่วงกังวลว่าจะเกิดความเสี่ยงหากมีการผ่อนคลาย เปิดกิจการ กิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงที่การระบาดยังมีอยู่ แม้ยอดตัวเลขจะลดลงแต่ทุกภาคส่วนต้องปฎิบัติอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อและนำไปสู่มาตรการขั้นสูงสุดคือการปิดหรือควบคุมอย่างช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ในพื้นที่ 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ยังคงมีการประชุมร่วมกันกับ ศปก.ศบค.เป็นประจำถึงการดำเนินการตามมติ ของ ศบค. เพื่อให้การแพร่ระบาดลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวเลขการติดเชื้อในต่างจังหวัด จากการที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางกลับไปรักษาและเยี่ยมญาตินั้น ปัจจุบันระบบการดูแล รักษาผู้ป่วย อยู่ในสถานะที่รับได้ เนื่องจากการดำเนินชีวิตแตกต่างจากกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ความหนาแน่น

อย่างไรก็ตาม แผนในการดูแลแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด 19 ของ ศบค. ยังคงขอให้ทุกส่วนปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. ไปพร้อมกับ การเร่งจัดหาวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชาชน โดยเฉพาะการเร่งหาวัคซีนให้กับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยถึงความคืบหน้าการแก้ไขพ.ร.บ.โรคติดต่อ เพราะถ้าแก้ไขเสร็จแล้วประกาศใช้เป็น พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ก็จะได้ยกเลิกการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่นำมาใช้ควบคุมเพื่อป้องกัน-ระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค อยู่ในขณะนี้

 

ข่าวจาก : thaipost

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: