ประกาศแล้ว! สภาเภสัชกรรมออกแนวทางการให้ยา “ฟาวิพิราเวียร์”





สภาเภสัชกรรมออกประกาศ แนวทางการให้ใช้ “ยาฟาวิพิราเวียร์” แก่ผู้ตรวจ ฟาวิพิราเวียร์ ที่มีผลเป็นบวก ให้เภสัชกรชุมชนสามารถประเมินความเสี่ยงผู้ป่วย และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ให้ผู้ป่วยที่ทำ Home isolation หรือ Community isolation ได้ตามความเหมาะสม หรือตามแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ของกรมการแพทย์

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ 56/2564 เรื่อง แนวทางการให้บริการยาฟาวิพิราเวียร์ และยาจำเป็นแก่ผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวกด้วยชุดตรวจสำหรับโควิด-19 ประเภท Antigen Test Kits แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen Self-Test Kits) หรือ ATK โดยมีเนื้อหาดังนี้

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ด้วยสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง รวดเร็ว ไปสู่ชุมชน ครอบครัวอย่างกว้างขวางไปทุกภูมิภาคของประเทศ กระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน ตลอดจนความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม นับเป็นภัยพิบัติร้ายแรงของประเทศชาติ

การค้นหาผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วแยกจากชุมชนและครอบครัว เพื่อมิให้เป็นพาหะแพร่เชื้อโดยวิธีการ Home isolation หรือ Community isolation

รวมทั้งได้รับยา Favipiravir และยาจำเป็น ในเวลาที่เหมาะสม จะช่วยป้องกันผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ยังไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง ลดการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลและการเสียชีวิตได้ ช่วยบรรเทาภาวะวิกฤติการบริการทางแพทย์และสาธารณสุข

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการในร้านยาตามกฎหมายว่าด้วยยาอยู่ทั่วประเทศ มีส่วนช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤตให้สามารถเข้าถึงยาจำเป็นได้รวดเร็วและเหมาะสม

สภาเภสัชกรรมจึงกำหนดแนวทางการให้บริการยา Favipiravir และยาจำเป็นแก่ผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวกด้วยชุดตรวจสำหรับ COVID-19 ประเภท Antigen Test Kits แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen Self-Test Kits) เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยของผู้ป่วยและการควบคุมโรคระบาด

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 (1) มาตรา 9 (7) มาตรา 23 (1) และมาตรา 24 (1) (ก) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 นายกสภาเภสัชกรรมโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการสภาเภสัชกรรมในการประชุมครั้งที่ 313 (9/2564) วันที่ 16 สิงหาคม 2564 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1. ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศสภาเภสัชกรรม ที่ 56/2564 เรื่อง แนวทางการให้บริการยา favipiravir และยาจำเป็นแก่ผู้ป่วยที่มีผลตรวจเป็นบวกด้วยชุดตรวจสำหรับ COVID-19 ประเภท Antigen Test Kits แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen Self-Test Kits)

ข้อ 2. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป(มีผลตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป)

ข้อ 3. เภสัชกรชุมชนประเมินความเสี่ยงของผู้ป่วยหรือผู้สงสัยติดเชื้อเพื่อคัดกรองเบื้องต้นว่าควรได้รับการตรวจติดตามการติดเชื้อโควิด-19 ด้วย Antigen Self-Test Kit

ข้อ 4. ในกรณีที่ผู้ป่วยหรือผู้สงสัยเข้าข่ายมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อ เภสัชกรชุมชนจ่าย Antigen Self-Test Kit ให้แก่ผู้ป่วยหรือผู้สงสัยติดเชื้อ พร้อมคำแนะนำวิธีการใช้ Antigen Self Test Kit วิธีการทิ้งและทำลายชุดตรวจเมื่อใช้เรียบร้อยแล้ว

ข้อ 5. เภสัชกรชุมชนอธิบายผลการตรวจเมื่อผู้ป่วยหรือผู้สงสัยติดเชื้อได้ส่งภาพหรือรูปถ่ายผลการตรวจให้แก่เภสัชกรชุมชนได้รับทราบ

ข้อ 6. ในกรณีที่ Antigen Self-Test Kit แสดงผลเป็นลบ เภสัชกรชุมชนให้คำปรึกษาแก่ผู้สงสัยติดเชื้อให้ยังคงแยกกักตัวจากผู้อื่น สังเกตอาการตนเองในระหว่างการกักตัว และแนะนำให้ตรวจเชื้อโควิด-19 ซ้ำหลังจากการตรวจครั้งแรกประมาณ 3 ถึง 7 วัน หรือตรวจอีกครั้งทันที เมื่อผู้กักตัวสังเกตว่ามีอาการคล้ายการติดเชื้อโควิด-19 เภสัชกรชุมชนติดตามอาการผู้กักตัวเป็นระยะ ๆ จนหมดระยะเวลากักตัว

ข้อ 7. ในกรณีที่ Antigen Self-Test Kit แสดงผลว่าติดเชื้อโควิด-19 เภสัชกรชุมชนชักถามอาการเพิ่มเติม เพื่อประเมินระดับความรุนแรงของผู้ป่วยว่าเป็นสีเขียว เหลือง หรือแดง และให้คำปรึกษาในการดูแลตนเอง ให้แยกกักตัวจากผู้อื่น และเภสัชกรชุมชนจัดเตรียมยาเพื่อใช้สำหรับ Home Isolation จัดส่งให้แก่ผู้ป่วยที่บ้าน เภสัชกรชุมชนคอยติดตามอาการและผลการใช้ยาของผู้ป่วยเป็นระยะ ๆ ตามมาตรฐานการบริบาลทางเภสัชกรรม

ข้อ 8. รายการยาสำหรับ Home Isolation ประกอบด้วยรายการยาจำเป็นสำหรับ การรักษาตนเองตามอาการ และยาต้านโควิด-19 ตามแนวทางที่กรมการแพทย์กำหนด ตัวอย่าง รายการยา Home Isolation สำหรับการกักตัว 14 วัน

(1) ยาพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม สำหรับลดไข้ แก้ปวด จำนวน 30 เม็ด รับประทาน ครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เวลามีไข้

(2) ยาเด็กซ์โทรเมทอร์แฟน สำหรับแก้ไอแห้ง จำนวน 30 เม็ด รับประทาน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารเช้า กลางวัน และเย็น

(3) ยาอะเซทิลซีสทีน สำหรับละลายเสมหะ จำนวน 20 เม็ดหรือ 20 ซอง ละลายยา 1 เม็ด หรือ 1 ซอง ในน้ำ 1 แก้ว รับประทาน วันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้า หรือ เย็น

(4) ยาคลอเฟนนิรามีน 4 มิลลิกรัม สำหรับลดน้ำมูก รับประทาน ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง หลังอาหารเช้า

(5) ผงเกลือแร่ ORS สำหรับท้องเสีย ละลายผงเกลือแร่ 1 ซองในน้ำ 1 แก้ว จิบแทนน้ำ เมื่อท้องเสียน้ำเกลือแร่ไม่ควรเก็บเกิน 24 ชั่วโมง

(6) ยาฟ้าทะลายโจร สำหรับลดไข้ แก้เจ็บคอและต้านเชื้อโควิด-19 รับประทาน ครั้งละ 3 – 4 เม็ด วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน (โดยให้มีปริมาณของ Andrographolide 180 มิลลิกรัมต่อวัน)

(7) ยาฟาวิพิราเวียร์ 200 มิลลิกรัม สำหรับต้านเชื้อโควิด-19 จำนวน 50-64 เม็ด วันแรก รับประทาน ครั้งละ 9 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น จำนวน 30 เม็ด จำนวน 5 ซอง จำนวน 60 เม็ด วันที่ 2 – 5 รับประทาน ครั้งละ 4 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็นกรณีน้ำหนักตัว มากกว่า 90 กิโลกรัม วันแรก รับประทาน ครั้งละ 12 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น วันที่ 2 – 5 รับประทาน ครั้งละ 5 เม็ด วันละ 2 ครั้ง หลังอาหารเช้าและเย็น

(8) รายการยาอื่น ๆ ตามแนวทางการรักษาโรคโควิด-19 ของกรมการแพทย์

ข้อ 9.ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ เภสัชกรชุมชนจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งต่อผู้ป่วยไปรักษายังสถานพยาบาลต่อไป

ข้อ 10. ให้นายกสภาเภสัชกรรมเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ ในกรณีที่มีปัญหาในการตีความหรือในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้นายกสภาเภสัชกรรมเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ในกรณีที่นายกสภาเภสัชกรรมเห็นสมควรอาจเสนอให้คณะกรรมการสภาเภสัชกรรมเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดคำวินิจฉัยของนายกสภาภสัชกรรมหรือของคณะกรรมการสภาเภสัชกรรม แล้วแต่กรณีให้ถือว่าเป็นที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศฉบับดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในระบบ Home Isolation หรือ Community isolation และมีอาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรือขยับจากผู้ป่วยอาการสีเขียวเป็นสีเหลืองได้รับการรักษา หรือเข้าถึงยา “ฟาวิพิราเวียร์” ได้มากขึ้น

เนื่องจากช่วงเริ่มป่วย ผู้ป่วยจะได้รับแค่ยาพื้นฐาน แก้ปวด แก้ไอ ฟ้าทะลายโจร ส่วนการจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เป็นผู้ประเมินอาการและสั่งจ่ายยาเท่านั้น ซึ่งหากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก คือมีอาการเหนื่อย หอบ ไอเพิ่ม รวมถึงค่า oxygen ในเลือดลดต่ำลง จะต้องถูกส่งไปรพ.สนามที่รักษาอาการในระดับอาการสีเหลืองได้

ดังนั้นกว่าจะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ตามแพทย์สั่ง เชื้อโควิดก็เริ่มจะลงปอดหรือลงปอดไปแล้ว และจะทำให้การรักษายุ่งยากตามมาอีกได้ หรืออาจเสียชีวิตได้หากมีความเสี่ยงจากโรคประจำตัวเพิ่มขึ้น

ดังนั้นการให้เภสัชกรชุมชนสามารถประเมินอาการและจ่ายยา “ฟาวิพิราเวียร์” แก่ผู้ป่วยที่ตรวจพบเริ่มแรกจาการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK น่าจะช่วยลดความเสี่ยงจากอาการป่วยรุนแรงของผู้ป่วยโควิดที่รักษาตัวอยู่ในระบบ Home isolation หรือ Community isolation ซึ่งมีอยู่จำนวนมากลงได้ ก่อนที่จะส่งรพ.สนามในระดับสีเหลือง หรือรพ.ในระดับแดง ต่อไป

คลิกดูประกาศฉบับเต็มที่นี่

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: