โจ ธรรศพลฐ์ ซีอีโอไทยแอร์เอเชีย เปิดใจปิดธุรกิจ เลื่อนจ่ายเงินเดือน





“โจ ธรรศพลฐ์” สายซีอีโอการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดใจ ธุรกิจปิดชั่วคราวตลอด ส.ค. เลื่อนจ่ายเงินเดือนพนักงาน เผยดูแลพนักงานอย่างดี แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาล ขอความเห็นใจ พนักงาน-ผู้โดยสาร-คู่ค้า มีเมื่อไหร่จะรีบคืนเลย

วันที่ 5 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (4 ส.ค.) นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ หรือ โจ กรรมการบริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย และบมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น ให้สัมภาษณ์ในรายการ The MATTER X จอมขวัญ:มาเถอะจะคุย กรณี สายการบิน ไทยแอร์เอเชีย ประกาศปิดธุรกิจชั่วคราว 100% ตลอดเดือนสิงหาคมนี้ โดยให้พนักงานทั้งหมดหยุดงาน รับเงินประกันสังคม อีกทั้งยังขอเลื่อนแบ่งจ่ายเงินเดือนพนักงานเดือน ก.ค.-ส.ค. หลังจากที่เคยคาดว่าสายการบินแอร์เอเชีย จะ “ไปต่อ” ได้อีกหลายปี

รายได้เป็นศูนย์

นายธรรศพลฐ์ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า แผนที่บอกว่าเรารอดแล้ว คือเรารอด แต่ว่าอยู่ในระหว่างการดำเนินการ เงินทุนใหม่ที่กำลังจะเข้ามา เรื่องเอกสารต่าง ๆ อยู่ในระหว่างการขออนุมัติจากหลาย ๆ หน่วยงานที่ยังไม่เรียบร้อย ตอนนี้จึงขอเรียกว่า “สะอึก” ก่อน สักเดือน-สองเดือน จากแผนเดิมที่วางไว้ แอร์เอเชียน่าจะรอดไปจนถึงกลางปีหน้าได้ โดยอยู่บนสมมติฐานว่าต้นปีหน้าเราสามารถที่จะเปิดบินต่างประเทศได้สัก 30%

แต่ถ้าเกิดภายในไตรมาสแรกของปีหน้าหรือครึ่งของปีหน้า ยังไม่ได้บินต่างประเทศ ภาพที่เราฉายไว้ก็จะเปลี่ยนไป ซึ่งการจะดำเนินการตามแผนเดิมจำเป็นต้องให้แผนเดิมประกอบให้ครบทุกปัจจัย และตอนนี้หลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยนไปเกือบหมดแล้ว โดยตอนนี้ต้องดูเป็นสัปดาห์ต่อสัปดาห์ เพราะนโยบายรัฐฯ ก็เปลี่ยนทุกสัปดาห์เหมือนกัน เราคงไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้มาก ขอแค่พรุ่งนี้มีข้าวกินก็บุญแล้ว

นายธรรศพลฐ์ เปิดเผยว่า ตอนนี้ไทยแอร์เอเชีย ไม่มีรายได้เลย แต่ค่าใช้จ่ายยังคงเดินอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งก็มีเจ้าหนี้หลายเจ้าที่ลดให้ ผ่อนปรนให้บ้าง แต่ยังไงก็แล้วแต่ ทุกวันที่เราตื่นมาก็มีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว เพราะเครื่องบินที่เรามีก็หลายสิบลำอยู่ พนักงานก็ยังต้องกินต้องใช้ แต่ว่ารายได้พอมันหยุดไปเลย ถึงแม้ว่าก่อนที่รัฐบาลจะสั่งหยุดบิน เราก็บินอยู่แค่ 30% ของจำนวนเที่ยวบินที่เราเคยมี คือบินอย่างไรก็ขาดทุน แต่อย่างน้อยเรายังมีกระแสเงินสดเข้ามาเพื่อจะจ่ายเงินพนักงานได้บ้าง

แต่เราหยุดสนิท รายได้เป็นศูนย์ ถึงแม้เราจะลดค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ก็แล้วแต่ มันก็ยังมีค่าใช้จ่ายอยู่ดี ปลายทางเราเห็นแสงสว่างแน่นอน แต่ตอนนี้อยู่ในระหว่างการอนุมัติทำตามแผน ทว่าก่อนไปถึงเส้นชัยเราสะดุดล้มเสียก่อน คิดว่าใน 60 วัน เราสามารถที่จะลุกขึ้นมาและเดินต่อได้ แต่เราคงไม่วิ่ง เพราะดูจากจำนวนเที่ยวบิน คงประคองกันไปจนกว่าจะเห็นภาพของโควิด ภาพของการเปิดประเทศ หรือการให้นักท่องเที่ยวในประเทศสามารถเดินทางได้ให้ชัดเจนขึ้น เราถึงจะประเมินการณ์ในอนาคตได้

ลุ้น 60 วัน เดินต่อได้

เมื่อ จอมขวัญ พิธีกรรายการถามว่า 60 วันที่ว่า ไม่น่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ 60 วัน ยืดไปกว่านี้แล้วใช่หรือไม่ ที่หยุดบินหรือว่าจ่ายเงินพนักงานช้ากว่าเดิม นายธรรศพลฐ์ ตอบว่า ตอนนี้แผนการหยุดบินสิ้นสุดที่สิ้นเดือนสิงหาคม แต่ยังไม่แน่ใจว่าถ้ายอดโควิดยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแบบนี้ หรือ 20,000 คนต่อวัน ก็ยังไม่แน่ใจว่าทางรัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไรออกมาบ้าง

อีกทั้ง ถ้ายอดยังขึ้นไปอีก ซึ่งผมก็ไม่อยากเห็นภาพประเทศไทยเป็นแบบนั้น ผมก็เชื่อว่ารัฐบาลก็ต้องยืดการล็อกดาวน์ไปอีก ก็เสมือนว่าเราก็ยังต้องดิ้นรนแบบนี้ต่อไป โดยที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยแผนที่เราได้ยื่นไปเราก็ยังทำตามแผนอยู่

“สายการบิน เป็นธุรกิจที่ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเขาเท่าไหร่ เพราะว่าบุคลากรมีราคาแพง อย่างเช่น นักบิน หรือ ฝ่ายช่าง แล้วก็การลงทุนใช้เงินลงทุนสูง แต่ว่าทรัพย์สินเราส่วนใหญ่ 80-90% เป็นเครื่องบิน ซึ่งมีราคาแพง นอกเหนือจากนั้นเราแทบจะไม่มีทรัพย์อย่างอื่นเลย ตึกเราก็อยู่ที่การท่าอากาศยาน เช่าเขา อุปกรณ์ภาคพื้น รวมกันแล้วก็ราคาไม่เท่าไหร่ นอกจากนั้นเราไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นเลยนอกจากพวกอะไหล่ เครื่องยนต์ ซึ่งนำมาเป็นหลักทรัพย์ ค้ำประกัน ได้บ้างหรือมไม่ได้บ้าง

ทีนี้พอเกิดวิกฤติขึ้นมา เราก็มีแต่เครื่องบินที่เราผ่อนชำระแล้ว เป็นเจ้าของเองที่สามารถนำมาจำนำ จำนองได้ แต่ก็ไม่ใช่เครื่องบินทุกลำ อย่างแอร์เอเชีย มีเครื่องบินอยู่ 60 ลำ ในช่วงก่อนโควิด อาจจะเป็นของเราเอกสักครึ่งหนึ่ง ซึ่งเราก็เอาไปค้ำประกันทีละ 4 ลำ 6 ลำ เพื่อทำให้เราอยู่ได้ แต่พอหมดเครื่องบินไปแล้ว เราก็เป็นบริษัทที่แทบจะไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย

พอเราไปคุยกับสถาบันการเงินในช่วงวิกฤต มันก็ทำให้ลำบากยากเย็นนิดนึง หรือต่อให้เรามีเครื่องบิน สถาบันการเงินบางแห่งก็ไม่รับ เพราะถ้าเกิดเราผิดนัดชำระ เขาก็ไม่รู้ว่าเครื่องบิน เอาไปขายทอดตลาดก็ลำบาก มันเลยเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าก็จริง แต่ในทางปฏิบัติกับสถาบันการเงิน ไม่ใช่ทุกที่ที่จะรับ โดยเฉพาะสถาบันการเงินในประเทศไทยที่ไม่ค่อยเชี่ยวชาญการดูแลเรื่องอากาศยานเท่าไหร่ จะเป็นสถาบันการเงินในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่”

นายธรรศพลฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้เรายังเห็นยอดโควิดยังพุ่งอยู่ และยังไม่รู้จะหยุดที่ตรงไหน อันนี้ก็เป็นปัจจัยที่เราต้องดูว่าเรามีความเสี่ยงขนาดไหน ผมจะบอกว่าในไตรมาส 4 เมื่อปีที่แล้ว ตอนที่เราเริ่มกลับมาบินหลังจากพ้นโควิดระลอก 2 ไปแล้ว เราได้บินเฉพาะในประเทศ เที่ยวบินละประมาณ 85-90% ของก่อนโควิดแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่รัฐบาลออก คนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เรากลับมาบินเกือบ 100% แล้วของการเดินทางในประเทศ

แต่พอมาเดือน มกราคม โควิดระลอก 2 ทำให้เราต้องปิดไปอีก หลังจากนั้นเราจึงต้องเปิด-ปิดมาตลอด เท่ากับว่าในปีนี้เราแทบจะบินไม่เคยถึง 50 % เลย ประมาณ 25-30% เท่านั้น ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงเดือนนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าถึงจุดต่ำสุดหรือยัง ก็อาจจะต่ำสุดแล้วก็ได้ถ้ายอดผู้ติดเชื้อไม่มากไปกว่านี้แล้วก็มีแนวโน้มลดลง ซึ่งก็น่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการ แต่ถ้ายอดผู้ติดเชื้อยังลักษณะนี้และเพิ่มขึ้น แล้วถ้าเกิดมีการล็อกดาวน์อีกในเดือนหน้า ก็คงจบสนิทเหมือนกัน”

ปัจจัยหนุนสายการบิน

เมื่อพิธีกร ถามถึงปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจสายการบินดีขึ้น นอกจากยอดผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตลดลง และจำนวนคนฉีดวัคซีนมีจำนวนมากขึ้น มีปัจจัยแค่นี้หรือว่าต้องบวกกับความเชื่อมั่นของแต่ละประเทศด้วยว่า ต้องทำให้เห็นว่าประเทศนี้ผ่านจุดนั้นมาแล้ว พร้อมรับนักท่องเที่ยวแล้ว เพราะเรามีเครื่องจักรธุรกิจท่องเที่ยวที่ใหญ่มาก จึงจำเป็นต้องบวกไปจากธุรกิจอื่น ๆ ด้วยหรือไม่

นายธรรศพลฐ์ ตอบว่า ถ้าดูจากประเทศจีนเป็นตัวอย่าง วันนี้ประเทศจีนเดินทางในประเทศกันแทบจะเป็นปกติแล้ว ถ้าดูจำนวนเที่ยวบินในประเทศจีน ตอนนี้น่าจะประมาณ 70-80% แล้ว แต่ประเทศจีนเองก็ยังไม่ได้เปิดให้ประชาชนของตัวเองเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ แล้วก็ยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามา ที่รับมาก็เฉพาะที่มาติดต่อธุรกิจและขอเป็นเคสต่อเคสจริง ๆ โดยเฉพาะต่างชาติที่มีบริษัทหรือที่พำนักอยู่ในประเทศจีน พูดง่าย ๆ ก็ยังเป็นสังคมปิดอยู่ ซึ่งในคุมการระบาดเชื้อก็ถือว่าทำได้ดีและไม่ได้มีการระบาดมากไป

ถ้าเราจะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามา ผมว่าอย่างน้อยใน 2-3 เดือน เราคงจะต้องบินในประเทศของเรา 80-90% ก่อน สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศ แล้วเราถึงจะค่อยเปิด แต่ถ้าเราคิดว่าเราฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้วและเปิดให้ต่างประเทศบินเลย ผมเชื่อว่าคนในต่างประเทศไม่น่าที่จะรีบบินเข้ามาในประเทศไทย คงต้องเรียกความเชื่อมั่นสักพักหนึ่ง

รัฐบาลไม่เหลียวแล

สำหรับนโยบายที่ธุรกิจสายการบินเรียกร้องต่อรัฐบาล นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่เชื้อโควิดเข้ามา ธุรกิจสายการบินได้รวมตัวยื่นหนังสือให้นายกฯ ที่ทำเนียบ ประมาณเดือน ก.ค. ปีที่แล้ว เพื่อขอความช่วยเหลือโดยด่วน เพราะรู้สึกว่าวิกฤตินี้จะค่อนข้างหนัก วันนั้นที่ยื่นหนังสือไปเป็นค่าใช้จ่ายจนถึงกลางปีนี้ 7 สายการบินไม่รวมการบินไทย รวมกันเป็นเงินประมาณ 2.4 หมื่นล้าน

แล้วก็มีการประชุมกันอีกกับหน่วยงานของรัฐหลายครั้ง แต่เราก็ยังไม่ได้รับการตอบรับมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนว่าตกลงได้หรือไม่ได้ อย่างไร จนมาช่วงหลังได้มีการสื่อสารกับประธานสมาคมว่า ทางรัฐจะไม่ช่วยค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ขอแค่อย่างเดียว อย่าให้พนักงานออก รัฐจะช่วยดูแลในส่วนของพนักงาน เราจึงได้มีการยื่นหนังสือเข้าไปใหม่ ซึ่งจำตัวเลขไม่ได้ว่าเป็นยอดเท่าไหร่

แต่ว่าล่าสุดที่เราได้ยื่นเข้าไป ตอนนี้ 7 สายการบินเหลือแค่ 5 พันล้านบาท เท่านั้น ซึ่งเป็นรายได้ของพนักงานจากเดือน ก.ค. ปีนี้ จนถึงสิ้นปี เพื่อที่จะหวังว่าสิ้นปีน่าจะมีเที่ยวบินเข้ามาได้บ้างเราจะได้มีรายได้ คือทางเราเอง 7 สายการบิน ก็พยายามที่จะรักษาสถานภาพการจ้างงานไว้ เพราะว่าทางรัฐบาลบอกว่าจะดูแลสายการบิน และให้เราดูและพนักงาน ผมก็เลยดูแลพนักงานมาอย่างดีแต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากทางรัฐบาลเลยทั้ง 7 สายการบิน

มันก็เลยมาอยู่ในสภาพนี้ เพราะเงินที่เรามีอยู่ก็พยายามไปต่อรองกับ ผู้ผลิต กับหลาย ๆ ภาคส่วนเพื่อลดการจ่ายเงิน เพื่อที่จะเก็บเงินส่วนนี้ไว้จ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน ซึ่งเราได้มีการลดไปแล้ว 50% บ้าง 25% บ้าง บางหน่วยงานเราก็ให้พัก 2 เดือนและสลับกันมาทีละ 2 เดือน คือเราทำทุกอย่างแล้วเพื่อให้มีการจ่ายเงินเดือนให้น้อยที่สุด แต่มีพอให้พนักงานอยู่ได้ เราก็พยายามรักษาการจ้างงานไว้ แต่ก็คงถูกหลอกครับ ประมาณนี้

รอเงินทุนก้อนใหม่

เมื่อพิธีกรถามว่า หากตนเป็นพนักงานสายการบินแอร์เอเชีย ตนต้องเตรียมใจว่าอีกกี่เดือนจะไม่มีงานแล้ว นายธรรศพลฐ์ เปิดเผยว่า ถ้าเราทำ เราคงทำไปนานแล้ว เราไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งเจ็บคนเดียว เราจะแบ่งความเจ็บ ถ้าเราลดเงินเดือน เราก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ แต่อย่างที่ผมบอกว่าแผนฟื้นฟูที่ทำไว้ คิดว่าประมาณ 2 เดือนหน้าคงเรียบร้อยและคงมีเงินทุนก้อนใหม่มาเพื่ออยู่ต่อได้ ก็คิดว่าคงไม่มีใครต้องล้มหายตายจากไปจากสายการบิน

“ถ้าสมมติว่าอีก 6 เดือน ไม่ได้บินเลยและรัฐบาลไม่มีความช่วยเหลือเลย รายได้เป็นศูนย์ ผมเชื่อว่ารัฐบาลคงต้องมีมาตรการอะไรออกมาบ้าง เพราะเงินประกันสังคมที่ให้มาจ่ายทุกคน ผมคิดว่าประกันสังคมก็คงไม่ไหวเหมือนกัน วันนี้คนที่มีกำลังดีที่สุดในประเทศก็คือรัฐบาล ถ้าในวันที่ประชาชนลำบากแล้วรัฐบาลไม่ได้ออกมากู้เงินเพื่อให้เศรษฐกิจในประเทศหมุนเวียน

ผมก็เชื่อว่าประชาชนจะไม่มีเงินเสียภาษี ผมถามรัฐบาลว่าปีหน้าที่รัฐบาลประชุมงบประมาณ ท่านใช้ตัวเลขงบประมาณปีหน้าที่เท่าไหร่ ใช้เท่าเดิมหรือเปล่า ถ้าใช้เท่าเดิมนี่ต้องถามว่าท่านเอาเงินมาจากไหน เพราะในเมื่อครึ่งปีหลังนี้แทบจะไม่มีคนเสียภาษีเลยเพราะคนไม่มีรายได้ นั่นแปลว่าท่านต้องกู้เงินใช่ไหม แล้วถ้าท่านกู้เงิน ทำไมท่านไม่กู้ตอนนี้แล้วมาจุนเจือประชาชน ช่วยธุรกิจไม่ให้ล้มหายตายจากก็จะได้เก็บภาษีได้”

พนักงาน-ผู้โดยสาร-คู่ค้า

เมื่อพิธีกรถามถึงวิธีคิดของการเป็นผู้บริหารธุรกิจการท่องเที่ยวที่ถูกกระทบจากวิกฤติก่อน มาเป็นเวลาปีครึ่งแล้ว ต้องคิดผ่านวิกฤติอย่างไร นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า เราต้องแยกความสำคัญของบริษัทออกก่อน ผมแยกมาเป็นทั้งหมด 3 ส่วน ส่วนแรกเลยคือพนักงาน ถ้าไม่มีพนักงาน บริษัทเดินไม่ได้ พนักงานต้องมาก่อน เราต้องพยายามรักษาการจ้างงานไว้

อย่างที่ 2 คือผู้โดยสาร วันนี้ผมเห็นใจผู้โดยสารมากที่ซื้อตั๋วไปแล้วแต่ไม่ได้เดินทาง แล้วมีการมีขอเงินคืนแต่ว่าทางเราเองไม่มีความสามารทางการเงินที่จะคืนเลย ซึ่งทางเราเองก็เสียใจ แต่เราให้เครดิตเก็บไว้สามารถที่จะใช้ได้ แต่ว่าผ่านมาปีนึงแล้วบางคนก็ยังไม่มีโอกาสใช้เลย อยากจะขอเงินคืน ผมขอรับปากผู้โดยสารว่าถ้าเราได้เงินมาเมื่อไหร่ เราจะทยอยคืนไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราทำได้

อย่างที่ 2 คือ คู่ค้าหรือสถาบันการเงิน เราพยายามที่จะจ่ายให้ได้เยอะที่สุด แต่ข้อ 1 และ 2 ต้องมาก่อน ถ้าเรารักษา 3 ส่วนนี้ได้ แล้วคุยกันรู้เรื่อง อย่างผู้ให้เช่าเครื่องบินก็มีการลดค่าใช้จ่ายยืดไป 6 เดือน 8 เดือนบ้าง เขาก็เข้าใจ สถาบันการเงินก็ลดต้น ลดดอก และหยุดการผ่อนชำระหนี้ออกไป 1 ปีก็มี 6 เดือนก็มี ซึ่งหลาย ๆ ภาคส่วนก็ช่วยกัน

แต่สิ่งหนึ่งที่สถาบันการเงินเขายังติดอยู่ก็คือ วันนี้รัฐบาลใช้กฎกติกา ทุกอย่างเหมือนสมัยตอนที่ก่อนเป็นโควิด ไม่ว่าจะการลดหย่อนชำระทั้งเงินต้นหรือดอกเบี้ย หลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน หรือการติดเครดิตยูโรแล้วไม่สามารถกู้เงินได้ ถ้ามันเกิดในช่วงโควิด ผมว่ามันต้องมีมาตรการพิเศษขึ้นมา ถ้าเกิดคนที่เขาเคยมีฐานะทางการเงินที่แข็งแรงแล้วสามารถผ่อนชำระช่วงก่อนเกิดโควิดได้ แต่เพิ่งมาผิดชำระช่วงโควิด แล้วเกิดเป็นแบล็คลิสต์ ผมว่ารัฐบาลต้องเข้าไปดูแลเพื่อที่จะให้สามารถเดินต่อได้

แต่ทุกวันนี้เราใช้กฏกติกา แบบเดิมซึ่งไม่มีการยืดหยุ่น มีการยืดหยุ่นแค่การลดต้น ลดดอก หรือหยุดผ่อน 2 เดือน 3 เดือน หรือ 6 เดือนบ้าง ซึ่งบางทีมันก็ไม่ได้ช่วยเท่าไหร่ หรือโดยส่วนใหญ่คือปล่อยให้เงินต้นหยุดแต่ดอกเบี้ยยังเดินอยู่ ในขณะที่รายได้บางคนหายไปเลย บางคนเหลือ 25% บางคนอย่างเก่งก็ 50% เพราะฉะนั้นอยากให้รัฐบาลลงรายละเอียดให้มากขึ้นกว่านี้หน่อย

“มีเมื่อไหร่จะรีบคืน”

นายธรรศพลฐ์ เปิดใจว่า มีหลายครั้งที่ตัวเองคิดว่าต่อสู้แค่ไหนก็ไม่น่าจะไหวแล้ว โดยเฉพาะ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ต้องตัดสินใจจ่ายเงินเดือนไม่ครบ คือที่ผ่านมาเราจ่ายเงินเดือนตามกฎกติกาตลอด ใครอยู่บ้านได้ 25% ใครมาทำงานเราจ่ายตามที่มา แต่นี่เป็นครั้งแรกตั้งแต่มีโควิดขึ้นมาเดือน ก.พ. ปีที่แล้ว เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่เราจะต้องใจแข็ง แล้วบอกว่าเราไม่สามารถที่จะจ่ายเงินเดือนได้ครบ

ซึ่งเราก็พยายามวิ่งหาเงินไม่ว่าจะด้านส่วนตัวหรือแหล่งเงิน มันก็ได้มาบ้างแต่มันไม่ทันวันที่ต้องจ่ายเงิน แล้วเราเองก็ต้องประกาศในเดือน ส.ค. ว่าเราอาจจะไม่จ่ายเงินให้กับใครเลยแม้แต่บาทเดียว และจะไปจ่ายอีกทีสิ้นเดือน ก.ย. ที่เหลือที่เราติดเขาไว้ ก็จะจ่ายคืนเพราะทุนใหม่ที่จะเข้ามา จะมาช่วงเดือน ก.ย. พอดี ซึ่งก็มีบิลหลายอย่างที่ต้องจ่าย เราต้องเลือกจ่ายที่สำคัญเท่านั้น

เพราะฉะนั้นต้องมีคนที่จะคุยกับเรา เห็นใจและรู้เรื่อง หรือคุยกับเราแล้วไม่รู้เรื่อง มันก็ต้องมีความเศร้า หรือบางครั้งเป็นคู่ค้าระยะยาวกันมา แต่พอเป็นเรื่องเงินเราอะลุ่มอล่วยกันไม่ได้ มันก็เจ็บพอสมควร แต่ที่เจ็บที่สุดคือการจ่ายเงินเดือนพนักงานได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็นอนไม่หลับอยู่หลายวันเหมือนกัน

นายธรรศพลฐ์ ทิ้งท้ายถึงผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วไว้ว่า เราอยากมีสถานะทางการเงินที่ดีกว่านี้ แต่ตอนนี้แม้แต่เงินที่จะจ่ายในส่วนสำคัญของบริษัทเรายังไม่มีเลย เราอยากให้คนที่ฟังอยู่ช่วยเข้าใจด้วย ถ้ามีเมื่อไหร่จะรีบคืนเลยครับ

นอกจากให้สัมภาษณ์กับ The MATTER แล้ว ซีอีโอไทยแอร์เอเชีย ยังกล่าวในคลับเฮาส์ ที่สนทนาร่วมกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ด้วยว่า “คาดว่ากว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้คงจะกลางปี 65 และกลับสู่ภาวะปกติได้คงจะเป็นต้นปี 66 คำแนะนำสำหรับธุรกิจและกลุ่มเอสเอ็มอี และประชาชนทั่วไป คือ เก็บเงินสดไว้ อย่าใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็น”

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: