พยาบาลห้องฉุกเฉิน โพสต์ระบาย ช่วยคนไข้ฉุกเฉินไม่ได้ เพราะคนป่วยโควิดเยอะกว่า





พยาบาลห้องฉุกเฉิน โพสต์ระบาย ไม่สามารถช่วยคนไข้ฉุกเฉินได้เท่าที่ควร ดูแลไม่ทั่วถึง เพราะคนป่วยโควิดเยอะกว่า วอนหน่วยงานแก้ไข

จากสถานการณ์โรคโควิดในประเทศไทย ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมาขึ้นหลักหมื่นมานานเกือบเดือน ส่งผลให้เตียงในแต่ละรพ. เต็มไม่พอรักษา และเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล รวมถึงบุคลากรทางแพทย์ทุกคน ต้องทำหน้าที่หนักเพิ่มขึ้น

เนื่องจากมีคนไข้เข้ามารักษาจำนวนมาก โดยจะพบว่าในหลาย ๆ รพ. คนป่วยอยู่บนเตียงนอนเรียงรายกันอยู่ด้านหน้ารพ. หรือ หน้าห้องฉุกเฉิน

วันที่ 8 ส.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Nutty Nattaporn โพสต์ระบุว่า พยาบาลขอระบาย วันนี้ขอมาเล่าสู่ฟังในฐานะพยาบาลห้องฉุกเฉิน ในฐานะที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิดและไม่ใช่โควิด ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ยอดคนไข้โควิดที่รอ Admit 20-30 กว่าเคสว่าเยอะแล้ว

ล่าสุดเดือน ส.ค. ยอดที่รอ Admit ปาเข้าไป 40 กว่าเคสแล้ว อีกหน่อยคงถึง 100 แน่ ๆ เยอะกว่า ward ผู้ป่วยในแต่ล่ะแผนกด้วยซ้ำ คำนิยามของ ER ( Emergency Room ) คือ ดูแลคนไข้ให้พ้นภาวะวิกฤติ ภาวะคุกคามถึงชีวิตแล้วส่งต่อให้แผนกเฉพาะทางดูต่อ แต่ไม่ใช่ที่นี่ เพราะที่นี่ให้ ER รับผิดชอบคนไข้โควิดที่รอ Admit ทั้งที่ควรจะเป็นหน้าที่ของ Ward Covid

Ward covid ของ รพ มีรับยอดชัดเจน 10-20 เคสก็แล้วแต่ ward นั้น ๆ ยอดเต็มคือเต็ม ถ้าเตียงว่าง อาจจะมีรับย้ายหรือรับใหม่ แต่ ER ไม่มีคำว่าเต็ม ยกตัวอย่าง เช่น มีเคส walk-in เข้ามา ด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง ปวด บลาๆๆ เดินมา รู้ตัวรู้เรื่องดี คำแนะนำแรกที่ผู้รับบริการจะได้คือ รอนานนะ รอหลายชั่วโมงนะ บอกไม่ได้นานแต่ไหน

ขณะคุย ๆ อยู่นั้น อ้าวว มีเข็นรถนอนเข้ามา คนไข้เหนื่อยมาก ซึม เรียกไม่ตอบสนอง ออกซิเจนต่ำมาก ๆ หมอและพยาบาลต้องรีบให้การช่วยเหลือ ซึ่งตอนนี้จะใส่ท่อช่วยหายใจก็ทำไม่ได้ เครื่องช่วยหายใจไม่พอ ห้องแรงดันลบไม่ว่างมีเคสโควิดรอ Admit นอนค้างอยู่ แล้วจะทำอย่างไรดี

มาถึงจุด ๆ นี้ ญาติต้องทำใจเพราะมันเกินศักยภาพมาก ๆ พอญาติเข้าใจจุดนี้หมอจะทำการรักษาแบบประคับประคอง ให้ออกซิเจน ให้ยาให้สงบ และทรมานน้อยที่สุด ทุก ๆ วันเหตุการณ์จะวนไปแบบนี้จนหมดวัน พอให้การพยาบาลคนไข้วิกฤตเสร็จก็ต้องกลับมาดูคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินต่อ

อ้าวนี่คนไข้รอหมอตรวจหรือรอพยาบาลมาหลายชั่วโมงแล้วนี่ บางคนนานเกิน 3-4 ชม. บางคนรอได้เพราะเข้าใจ บางคนรอไม่ได้เพราะไม่เข้าใจก็มี บางคนรอจนดีขึ้นเอง กลับบ้าน หรือแม้กระทั่งรอจนอาการแย่ จนถึงขั้นไม่ไหวก็เกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งมันเป็นเหตุการณ์ที่เศร้ามาก ๆ ในชีวิตการเป็นพยาบาล

ในแต่ละเวรจะมีพยาบาลขึ้นเวร 6-9 คน พอถึงเวลาที่ต้องให้การพยาบาลผู้ป่วยโควิด ไม่ว่าจะเป็นวัดไข้ วัดความดัน ฉีดยา ป้อนข้าว ป้อนยา เปลี่ยนแพมเพิส จะต้องมีพยาบาลไปดูคนไข้โควิด 3-6 คน/คนไข้ 30-40 กว่าคน ใช้เวลาดูนานแค่ไหน => รอบล่ะ ประมาณ 2-3 ชม/ครั้ง ในชุด PPE ที่ร้อนมาก ๆ แต่ก็ต้องอดทน เพราะไม่ทำก็ไม่ได้

อ้าว แล้วถ้าพยาบาลไปดูคนไข้โควิดเกือบหมด คนไข้ที่ไม่ใช่โควิดใครจะดูแล ก็คงเป็นพยาบาล อีก 3 คน ที่เหลือ ซึ่ง 3 คนนี้มีหน้าที่ต่างกัน คร่าว ๆ ดังนี้

1.พยาบาลหัวหน้าเวร ที่ทำหน้าที่ติดต่อประสานงาน รับเคสเข้า ส่งเคสออก รับเวร ส่งเวร รายงานข้อมูลต่างๆของคนไข้แก่หมอ

2.พยาบาลคัดกรอง ที่ทำหน้าที่แยกประเภทความเร่งด่วน เช่น คนไข้ด่วนมากต้องช่วยเหลือทันทีไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิต, คนไข้ด่วนที่รอได้แค่ 10 นาทีไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิต ,คนไข้รอได้ 1 ชม.และรอได้ไม่จำกัดเวลา เมื่อคัดกรองเสร็จก็ทำหน้าที่รายงานหมอให้รีบดูคนที่ด่วนที่สุดก่อน

3.พยาบาลรับคำสั่งหมอ เช่น เจาะเลือด ฉีดยา ให้น้ำเกลือ ใส่สายให้อาหาร ใส่สายสวนปัสสาวะ ทำแผล เย็บแผล ส่งคนไข้ไปเอ็กซเรย์ บลาๆๆๆ คนไข้ 1 คนต้องมีหัตถการหลายอย่าง กว่าจะเสร็จคนไข้ 1 คนปาไปเกือบ ชม. คนไข้คนอื่น ๆ ก็รอต่อไปตามความเร่งด่วน

ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่ควรเป็นแบบนั้นเพราะ ที่นี่คือแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ไม่ใช่หอผู้ป่วยเฉพาะทางโควิด พยาบาลที่ขึ้นเวร 6-9 คน ควรได้มาช่วยเหลือคนไข้ที่ Emergency จริง ๆ เพื่อช่วยให้คนไข้มีชีวิตรอดมากขึ้น และกลับไปใช้ชีวิตในครอบครัวได้ปกติมากที่สุด

วอนผู้ที่เกี่ยวข้อง รับทราบปัญหา และเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ทีคะ ตอนนี้ห้องฉุกเฉินไม่สามารถช่วยชีวิตคนไข้ฉุกเฉินได้เท่าที่ควรทำได้ 100% แล้ว เพราะยอดรอ Admit โควิดมันเยอะกว่า ward อื่น ๆ มาก ๆ ภาระงานเยอะขึ้น

ดูแลคนไข้ไม่ตรงบริบทห้องฉุกเฉิน คนไข้แย่ลง เพราะรอนาน ดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้เกิดการสูญเสียขึ้นในครอบครัวนั้น ๆ ซึ่งคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นแน่นอน

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: