วิกฤตหนัก ลูกปัด ปุริมปรัชญ์ อ่วมหนี้ ขายที่ 35 ไร่ แลกอาหารช้าง จุนเจือพนักงาน





วิกฤตหนัก ลูกปัด ปุริมปรัชญ์ อ่วมหนี้ ขายที่ 35 ไร่ แลกอาหารช้าง จุนเจือพนักงาน เผย สู้ไม่ถอย! ไลฟ์สดขายกล้วมออนไลน์

วิกฤตหนัก ลูกปัด – อดทนต่อสู้เพื่อธุรกิจครอบครัวยาวนานเกือบ 50 ปี สำหรับ ลูกปัด ปุริมปรัชญ์ ไชยะคำ รองมิสอัลคาซ่าร์ปี 2005 ได้โพสต์รูปภาพตัดพ้อถึงที่ดิน 35 ไร่ ที่ต้องสูญเสียไปจากการขายฝาก เพื่อแลกเป็นอาหาร และยาให้กับช้าง รวมถึงนำเงินมาจุนเจือจ่ายพนักงาน

ในวิกฤตโควิดที่ไม่มีลูกค้า หรือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งยังต้องปิด MINI ZOO และการแสดงคาบาเรต์ จึงทำให้พนักงานบางส่วนตกงาน และขาดรายได้ในส่วนนี้ไป

ล่าสุด ลูกปัด ปุริมปรัชญ์ ได้เปิดใจกับข่าวสดออนไลน์ เล่าถึงวิกฤตครอบครัวที่มีความจำเป็นต้องขายที่ดิน 35 ไร่ ด้วยปัญหาการหมุนเวียนเงินกับค่าใช้จ่าย รวมถึงหนี้สิน จนทำให้เกิดปรับตัวครั้งใหญ่ในการหารายได้ช่วงโควิด ต้องออกมาไลฟ์สดขายกล้วย และการเปิดมองช้างคาเฟ่

ถึงเรื่องที่กำลังจะโดนยึดพื้นที่ 35 ไร่ เป็นมายังไง? “ต้องบอกว่าที่ตรงนี้ เดิมทีเราเอาไว้ใช้สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทย เมื่อก่อนเอาไว้ขี่ช้าง ทำกิจกรรม ซึ่งหมู่บ้านพัทยาจะมีสองฝั่ง เป็นฝั่งมองช้างคาเฟ่ แล้วอีกฝั่งก็จะเป็นที่พักพิงเก็บช้าง ซึ่งอีกฝั่งตรงนั้นมันค่อนข้างที่จะเป็นธรรม ชาติ มีพื้นที่ 35 ไร่ น้ำล้อมรอบ

คราวนี้คุณพ่อเจอวิกฤติหนัก คุณพ่อก็บอกว่าคงจะทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะว่าเราไม่มีทางหาเงินมาได้ เนื่องจากว่าลูกค้าเราไม่มีอยู่แล้ว เลยต้องเอาที่ตรงนี้ไปขายฝาก จริงๆต้องบอกว่าการทำช้างในลักษณะนี้ ได้กำไรน้อย เนื่องจากคุณพ่อไม่อยากให้ช้างเหนื่อยมากนัก โดยทัวร์ของเราก็เลยจะเป็นไพรเวตทัวร์เสียมากกว่า

แต่พอมันไม่สามารถมีต่างชาติมาได้ทุกอย่างมันก็แย่ลง สุดท้ายกระทั่งเงินเดือนก็แทบจะไม่มีจ่าย อาหารช้างก็จะไม่มี ทุกอย่างมันแย่ไปหมด คุณพ่อก็เลยต้องเอาที่ตรงนี้ไปขายฝาก ถามว่าทำไมต้องทำขายฝาก จริงๆก่อนหน้านี้เราได้กู้เงินผ่อนแบงก์ แต่ทีนี้มันเกินไปกว่าที่เราจะทำได้

ด้วยความที่ช้างกินอาหารวันละ 200 กิโลกรัม และน้ำ 100 ลิตร ไหนจะต้องมีควาน มีพนัก งานช้าง แล้วก็พนักงานต่างๆทำความสะอาดเก็บขี้ช้าง ห้องน้ำ ตกแต่งสวนรายละเอียดเยอะมาก ก็มีคนหนึ่งที่หยิบยื่นข้อเสนอนี้มาซึ่งเกี่ยวกับขายฝาก คุณพ่อก็ปรึกษากับครอบครัวแล้วก็ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้วค่ะ เราก็เห็นดีเห็นงาม ทุกคนโอเคก็ทำเลยเอาที่ตรงนี้ไป”

“อยู่ๆก็มาเจอโควิด ทีนี่มันไม่ใช่รอบแรก มันหลายรอบแล้ว จนมันรันต่อไม่ได้แล้ว หนึ่งปีเท่านั้นที่เราต้องใช้หนี้ มันก็ไม่ไหวจนรอบนี้มันหมด เขาก็บอกว่าที่ตรงนี้เราทำอะไรไม่ได้แล้วเราต้องรื้อถอนก็เลยเป็นที่น่าเศร้าใจ เราไม่สามารถที่จะหาเงินคืนได้ และปัจจุบันก็ไม่มีแขกเลยค่ะ ไม่มีลูกค้า”

“อย่างที่เห็นปกติบริเวณนี้จะต้องมีลูกค้ามาป้อนกล้วยช้าง และเราก็ใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นการขายกล้วยออนไลน์ บางครั้งเราก็ไลฟ์สดขายกล้วยขายอาหารช้าง ขายอาหารสัตว์ เพราะเราไม่ได้มีแค่ช้าง เรายังมีในส่วนของmini zoo ซึ่งก็จะมีสัตว์หลากหลาย ไม่ว่าเป็น ชะนี กวาง ควาย ลิงกระรอก ซึ่งอยู่ในความดูแลของพวกเราค่ะ เราเป็นคนเดียวที่ซัพพอร์ตในเรื่องของค่าใช้จ่ายค่ะ”

“ตอนนี้ก็แย่ค่ะมันไปต่อไม่ได้ ลำพังแค่การหาอาหารให้เขา เราก็จะไม่ไหวอยู่แล้ว เราคงไม่สามารถที่จะไปหาเงิน 35 ล้านบาท ตอนนี้มันก็จะมีดอก มันก็เลยจะเกินจากตรงนั้นก็ต้องทำใจยอมรับเพราะจริงๆ คุณพ่อเป็นคนซื้อ แล้วเขามีเจตนารมย์เดียวคือ อยากให้เป็นที่พักพิงช้าง อยากให้ที่ตรงนั้นเป็นธรรมชาติ แล้วนี่เป็นพัทยา ที่ของเราเป็นป่ามากค่ะ ซึ่งดำรงไว้ เราก็เก็บที่ตรงนี้เพื่อไม่อยากให้เขาเดินถนน เลยคิดว่าถ้าเราสามารถทำเป็นมูลนิธิมูลนิธิดูแลช้างในพัทยา

เราก็อยากทำ เพราะของเราตรงนี้เป็นปางช้างเพื่อการท่องเที่ยว คุณพ่อไปทำเป็นที่แรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปีค.ศ. 1973 ซึ่งนานมากเกือบ 50 ปีแล้ว มีความคิดริเริ่มจะเอาช้างที่ทำงานในป่าลากซุงต่างๆ พักงาน แล้วก็มาอยู่กับคุณพ่อ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติได้จับ สัมผัส เห็น แล้วก็ทำกิจกรรมกับเขา ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ ดูแลป้อนอาหาร”

ตอนนี้มีช้างกี่เชือก? “ตอนนี้มี 13 เชือกทั้งหมด อยู่ในความดูแลในบริษัทมี 9 เชือก ล่าสุดก็มีช้างตัวที่เป็นข่าวโดนฟ้าผ่า ก็ล้มไปหนึ่งเชือก ก็เหลือเป็นช้างทางบ้านเราเลย 8 เชือก ตัวที่ได้รายได้อีก 5 เชือกก็จะรวมกันเป็น 13 เชือก แต่ตอนนี้เราไม่ได้เงินเดือนค่ะ เราก็จะมีแค่ค่าอาหาร”

รายได้กับรายจ่ายบาลานซ์กันไหม? “เอาเฉพาะรายจ่ายก่อน ตีเสียว่ารถที่ต้องขนหญ้าประมาณ 15,000 บาท ก็ต้องมีประมาณ 2 คันได้ ก็คูณไป 30 วัน แล้วก็มีอาหารอีกเยอะเหมือนกันนะคะ เฉียดล้านค่ะ หลายแสนเลย แต่ตอนนี้มันลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากพนักงานก็ลดลงไป เพราะว่าพนักงานเราก็คุยกันอยู่แล้วว่า ตอนนี้เราไม่สามารถที่จะจ้างได้ร้อยเปอร์เซ็นต์นะ เราทำไม่ได้ ก็เลยต้องสลับกันมาทำงานจริงๆ คือต้องบอกว่ารายรับคือศูนย์นะ

เต็มที่ตอนนี้เรามีลูกค้า มาซื้อน้ำบ้าง อาหารไม่มีเลย น้ำก็วันนึง 1-5 แก้ว แก้วละ 80 บาท วันนึงได้ไม่เกิน 1000 บางวันก็ไม่เกิน 500 บาทค่ะ แต่รายจ่ายอย่างที่บอกเป็นหมื่นค่ะ เฉพาะช้างนะคะ ไม่รวมสัตว์อื่นๆ ในช่วงโควิด ซึ่งเราก็ยินดีนะคะที่จะแบกตรงนี้ไว้เพราะเราอยากให้ทุกคนสู้ไปด้วยกันนะ”

ตอนนี้เรามีเงินหมุนเวียนจากไหน? “คือเงินที่เราขายฝากที่ดินจบไปแล้วนะคะ ไม่มีแล้วให้ช้างไปหมดแล้ว เป็นอาหารเป็นยาช้างและค่าพนักงานในส่วนของการดูแลคือจบไปแล้ว ตรงนี้คือเราต้องหาเงินคืน ทุกคนที่มาที่นี่ก็จะรู้เลยว่าช้างที่นี่อ้วน เราไม่ปล่อยให้อดอยากทำทุกอย่างแบบโปร่งใส แม้แต่ไลฟ์สดขายกล้วย เรายังต้องป้อนสดเลย

ทุกอย่างตอนนี้บอกเลยว่าเป็นเงินเก่า เงินเก็บ เอามาหมุนเวียนใช้สุดท้ายแล้วถ้ามันจะยื้อไปไม่ได้ ลูกปัดก็ต้องออกมาเต้นคาบาเรต์ออนไลน์ หาเงินช่วยช้าง ในเฟซบุ๊ก เราก็ต้องทำ ในส่วนของไลฟ์ขายกล้วย ขายอาหารสัตว์ เราก็ทำเป็นรายได้ทั้งหมด หลักๆตอนนี้ ซึ่งเราทำบ่อยอาทิตย์หนึ่ง 3-4 ครั้ง แล้วแต่บางวัน ก็มีก็หมุนเวียนไป และหมดไปกับค่ารถขนหญ้า ไม่พอด้วยสำหรับอาหารช้าง”

เราจะพยุงธุรกิจที่บ้านไปได้นานแค่ไหน เครียดไหมกับภาระกดดันตรงนี้?

“เครียดที่สุดแล้วค่ะ ปัดก็ไม่ได้คิดเลย ว่าอนาคตจะเป็นยังไง จะทำถึงไหน แต่ตอนนี้ปัดทิ้งช้างไม่ได้อยู่แล้ว คือต้องบอกก่อนว่าช้างเป็นช้างบ้าน ไม่ใช่ช้างป่าฉะนั้นเราเอาไปปล่อยป่าไม่ได้ คือต้องบอกให้ทุกท่านทราบว่า ช้างเกิดอยู่กับคน ถ้าเกิดเอาช้างไปปล่อยป่า เท่ากับว่าเป็นการฆ่าช้าง เพราะเขาอาจจะโดนช้างป่าทำร้ายได้ เนื่องจากมีกลิ่นคนเข้าไป หรือเขาไม่คุ้นทาง

ถามว่าโซ่ช้างทำไมต้องมี มันไม่ใช่ว่าเราเอาผูกติดไว้กับเขาตลอดเวลา แต่เราเอาไว้สำหรับให้เขาอยู่กับที่ เขาก็จะชินอยู่ตรงนั้น เพราะเขาคิดว่ามันคือบ้านของเขาแล้ว เขาคุ้นชินมาตั้งแต่เด็ก แล้วการที่เราดูแลเขา ถ้าไม่มีโซ่ช้างอาจจะไปทำร้ายคนได้ เดินออกไปนอกสถานที่ได้ หรือทำลายข้าวของ ทำลายบ้านของพนักงานได้

ดังนั้น เราจำเป็นที่จะต้องมีสถานที่เอาไว้ให้เขาได้เดินออกกำลังกาย เดิมทีมันคือจุด 35 ไร่นี้แหละค่ะ ที่ให้เขาเดินตลอด แต่ตอนนี้แน่นอนว่าที่ตรงนี้มันเปลี่ยนไป มันก็จะไม่ใช่ที่ของเขาแล้ว ดังนั้นช้างก็ต้องออกมาอยู่ย่านคนนิดหน่อย”

“ในส่วนที่คนมีถามว่าการนั่งช้างทรมานมั้ย ต้องบอกว่าคุณหมอสัตวแพทย์เฉพาะทาง เขาได้มีการคิดค้นมาดูแลตลอด และคนที่ให้ความรู้ของเราเขาก็บอกว่าช้างหนึ่งเชือกรับน้ำหนักได้ หนึ่งส่วน 10 ของน้ำหนักตัว ซึ่งเชือกหนึ่งหนักประมาณ 5 ตัน ก็รับน้ำหนักได้ถึง 500 กิโลกรัมดังนั้นแต่เดิมทำไมถึงมีการใช้ช้างลากซุง อันนี้ไม่ได้เป็นการทรมานช้าง เนื่องจากพละกำลังเขาค่อนข้างแข็งแรง

อย่างวันนี้ปัดเสียใจมาก ความฝันที่เราอยากจะให้เขามีที่ของเขา คือช้างเอาไปปล่อยป่ามันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นเราต้องมีสถานที่ให้เขา แต่ก็ต้องมีที่กว้างมากหลายไร่ ตอนนี้ก็ต้องนับศูนย์หาสถานที่เพิ่ม มันมีแต่ความเสียใจของพวกเรามากกว่าที่คุ้นชินกับธรรมชาติ และเป็นความเสียดายมากกว่า”

เราไม่ทิ้งช้าง ไม่เอาช้างไปขายใช่ไหม หากไม่ไหว? “ตัวปัดเองเกิดมาก็มีช้างเลย ดังนั้นชีวิตของปัดมันผูกพันกับเขา หากถามว่าว่าเราประกาศขายช้างแล้วสิ่งที่เราได้มาหลังจากนี้จะคืออะไร ต้องบอกว่าหนึ่งคือกว่าจะขายได้ก็ยาก เพราะเชือกหนึ่งหลายล้าน สองถ้าเราขายได้แล้วคนดูแลต่อเขาดูแลดีมั้ย คือเราไม่ทิ้งเขาแน่นอนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ว่าอาจจลำบากแล้วก็อยู่ยากหน่อย

พ่อพูดเสมอว่าปัดจะทำต่อพ่อจริงหรอ เพราะพ่อทำมา บอกว่าคุณจะลำบาก เพราะคนที่เอาช้างมาดูแลคิดผิด เพราะว่าค่าใช้จ่ายเยอะ คุณจะไม่มีทางได้กำไรถ้าคุณไม่ดูแลเขาจริงจัง และปัดก็รู้ความลำบากของคุณพ่อมาโดยตลอด แต่เรายอมเพราะมันคือครอบครัวของเรา แล้วมันเป็นมากกว่าสัตว์เลี้ยง เขาเป็นสัตว์ที่ฉลาดแล้วเราก็ผูกพันกับเขา เราก็จะสู้เพื่อเขาค่ะ”

ฝากคาเฟ่มองช้างหน่อย สำหรับคนที่ชื่นชอบช้าง และอยากจะอนุรักษ์ช้างไทย? “สาเหตุหรือเจตนาหลักของการเปิดมองช้างคาเฟ่ คือเพื่อเอาเงินรายได้ให้ช้าง หมู่บ้านชาวพัทยาถ้าเกิดเอาเรื่องจริงมาพูดกัน คือมันจบไปนานแล้วค่ะ วิกฤตมากแล้ว ตั้งแต่ช่วงโควิดแรกมาเราก็ต้องปิดตั้งแต่ตอนนั้น แล้วตอนนี้เราก็ถูกสั่งปิดในเรื่องของสวนสัตว์

นี่คือเหตุผลหลักของการเปิดมองช้างคาเฟ่ก็จะมีมุมถ่ายรูป มีเครื่องดื่มอาหาร อยากฝากว่าคาเฟ่นี้มันเป็นการรวมตัวคนกลุ่มหนึ่งที่มาช่วยกันทำเพื่อช้าง และสัตว์นานาชนิด แล้วก็สาวประเภทสองที่มีคาบาเรต์โชว์ก็ตกงานกันเยอะ ของเราก็มีโรงละครอยู่ในหมู่บ้านช้างพัทยา กิจกรรมก็ค่อนข้างหลากหลาย ใครที่สนใจกิจกรรมในมองช้างคาเฟ่ วันที่เปิดได้ปกติก็ขอต้อนรับ เชิญทุกท่านมาเลยนะคะ”

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: