จับตา นายกฯ ถกด่วน 40 ซีอีโอ หาทางออกผลสะเทือนหลังล็อกดาวน์





นายกฯนัด 40 ซีอีโอยักษ์ธุรกิจ ถกด่วนวิกฤตโควิด ครม.อนุมัติเยียวยาแรงงานทุกรูปแบบ 13 จังหวัด ตัดงบฯ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” 1.82 หมื่นล้าน ลดเป้าจาก 4 ล้านสิทธิ เหลือ 1.4 ล้านสิทธิ เกลี่ยเงินเข้าโครงการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิดระลอกใหญ่ จับตา สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นยกระดับคุมเข้ม

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 64 ให้ครอบคลุมพื้นที่จากเดิม 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด เพิ่มเติมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยา โดยยังคงกลุ่มลูกจ้างและผู้ประกอบการใน 9 กลุ่มกิจการที่ได้รับผลกระทบ อัตราการจ่ายและวิธีการจ่ายเงินเช่นเดิม เป็นระยะเวลา 1 เดือน

เคาะเยียวยาแรงงาน 3 จว.เพิ่ม

สำหรับกรอบวงเงิน โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ รวมทั้งสิ้น 10 จังหวัดสำหรับกิจการที่ได้รับผลกระทบ 9 สาขา จากเดิมที่ได้เห็นชอบไปแล้ว 2,519.38 ล้านบาท เพิ่มเป็น 13,504.696 บาท หรือเพิ่มขึ้น 10,985.316 ล้านบาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานกล่าวว่า ส่วนอีก 3 จังหวัดที่ ศบค.ได้มีประกาศเพิ่มเติม ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และพระนครศรีอยุธยานั้น ครม.ได้เห็นชอบในวันนี้ให้ขยายพื้นที่เยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการโควิด เพิ่มเติมจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด และจะนำกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นนำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ เบื้องต้น 3 จังหวัดที่ได้รับการเยียวยาเพิ่มเติม ได้แก่ ผู้ประกันตน ม.33 แบ่งออกเป็นลูกจ้าง 272,000 คน นายจ้าง 19,000 กว่าราย ใช้งบฯเงินกู้ 1,500 ล้านบาท

ผู้ประกันตน ม.39 ในจังหวัดชลบุรี มี 9.1 หมื่นราย ฉะเชิงเทรา 2.3 หมื่นราย พระนครศรีอยุธยา 3.4 หมื่นราย ใช้งบประมาณจากวงเงินกู้รายละ 5,000 บาท

ผู้ประกันตน ม.40 ในจังหวัดชลบุรี 6.6 หมื่นราย ฉะเชิงเทรา 3.5 หมื่นราย พระนครศรีอยุธยา 3.6 หมื่นราย ใช้งบประมาณจากวงเงินกู้รายละ 5,000 บาท

ปรับวงเงิน “ยิ่งใช้ยิ่งได้”

นายอนุชา บูรพชัยศรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังอนุมัติการเปลี่ยนแปลงโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ดังนี้ 1.ขยายระยะเวลาการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้รับการสนับสนุน e-Voucher จากเดิมระหว่าง 1 ก.ค.-30 ก.ย. 2564 เป็นตั้งแต่ 1 ก.ค.-30 พ.ย. 2564

2.เพิ่มวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ ไม่เกิน 10,000 บาท/คน/วัน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-30 พ.ย. โดยยังจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ e-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาทต่อคน

3.ปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ จากเดิมที่ไม่เกิน 4 ล้านคน เป็น “ไม่เกิน 1.4 ล้านคน” ทำให้กรอบวงเงินโครงการ ลดลงจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 9,800 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 18,200 ล้านบาท

ทั้งนี้ การคาดการณ์ว่า จากการประกาศข้อกำหนดของ ศบค.ที่ผ่านมา ซึ่งให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ของประเทศ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 20.00 น.

และเปิดให้เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน รวมทั้งร้านค้าและร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าต้องปิดชั่วคราว จึงมีผลให้อาจจะมีผู้ใช้สิทธิน้อยลง จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงการเพื่อความเหมาะสมด้วย

ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 เดือน

ครม.ยังเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2564

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดให้กับประชาชน สำหรับแนวโน้มการแพร่ระบาดในระยะต่อไป กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าจะมีผู้ติดเชื้อจำนวน 10,000 รายต่อวัน หรือมีผู้ป่วยสะสมมากกว่า 100,000 ราย ภายในระยะเวลา 14 วัน

ซึ่งจะส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในอัตราเกิน 100 รายต่อวัน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อควบคุมและแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข จะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาระต่อบุคลากรทางการแพทย์ เตียงรักษา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์

ทั้งนี้ ศปก.ศบค. พิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและระยะต่อไปยังคงเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข และระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ออกไป เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการควบคุมและระงับยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยในสุขภาพและชีวิตของประชาชน

นายกฯนัดถก 40 ซีอีโอด่วน

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 40 ซีอีโอ เรื่องการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ผ่านระบบ video conference) ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในวันพุธที่ 21 กรกฎาคม 2564

นอกจากนั้นยังพบกับคณะผู้บริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เพื่อรับมอบสิ่งของและเงินบริจาคสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเคยเชิญนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ 70 ราย เข้าหารือที่ทำเนียบมาแล้ว ในช่วงการคลายล็อกดาวน์ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 เชิญตัวแทนและผู้ประกอบการ 3 กลุ่มในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยมีนักธุรกิจกว่า 70 คนร่วมถกแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นในการหารือนายกฯ ต้องการทำความเข้าใจ และสอบถามถึงผลกระทบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลังรัฐบาลประกาศมาตรการล็อกดาวน์คุมเข้มในพื้นที่ 13 จังหวัด รวมทั้งขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจาก 40 ซีอีโอโดยตรง

ขณะเดียวกันมีรายงานข่าวว่า ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นรัฐบาลอาจยกระดับประกาศมาตรการคุมเข้มเพิ่มขึ้นอีก อาทิ มีคำสั่งปิดร้านค้าทุกประเภท ยกเว้นร้านอาหาร หรือที่เกี่ยวกับอาหาร นอกจากนี้จะควบคุมระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมด ให้หยุดเข้าออกในพื้นที่ 13 จังหวัด สีแดงเข้มพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด

 

ข่าวจาก : Microsoft News

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: