อนุทิน ไม่เชื่อ ! คนไทยยอมควักเงินซื้อ วัคซีนโมเดอร์นา ถึง 9 ล้านคน





อนุทิน ชาญวีรกูล ไม่เชื่อ คนไทย 9 ล้านคนยอมควักเงินตัวเองซื้อ วัคซีนโมเดอร์นา ทั้งที่มีวัคซีนฟรี ชี้ รัฐบาลกับ สธ. เป็นแค่คนกลาง โบ้ย รพ. เอกชนกับผู้ผลิตวัคซีนต้องไปตกลงกันก่อน

หลังจาก นพ.บุญ วนาสิน จากบริษัทธนบุรี เฮลธ์แคร์ กรุ๊ป จำกัด ออกมาเผยถึงข้อสงสัยว่าเหตุใดประเทศไทยถึงได้วัคซีน mRNA (ไฟเซอร์-โมเดอร์นา) ล่าช้ากว่าประเทศอื่นในอาเซียน ซึ่งเจ้าตัวได้สอบถามความคืบหน้าไปยังผู้ผลิตวัคซีนไฟเซอร์ และ วัคซีนโมเดอร์นา พบว่า องค์การเภสัชกรรมยังไม่มีการเซ็นสัญญาในการซื้อ-ขายวัคซีน ขณะเดียวกันก็มีข่าวออกมาว่าสาเหตุที่ยังไม่ได้จัดซื้อเป็นเพราะมีการตรวจร่างสัญญาจัดซื้ออยู่ เรื่องค้างที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นเวลาหลายเดือนแล้วนั้น

ล่าสุด (3 กรกฎาคม 2564) เรื่องเล่าเสาร์-อาทิตย์ รายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า รัฐบาลกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ได้มีหน้าที่ร่างสัญญาหรือจ่ายเงินซื้อวัคซีนไปก่อน โรงพยาบาลเอกชนกับผู้ผลิตวัคซีนต้องไปตกลงกัน และระบุจำนวนวัคซีนให้เสร็จกระบวนการแล้วค่อยแจ้งความประสงค์มาที่กระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเท่านั้น ดังนั้นจะบอกว่า สธ. ยื้อเวลาจนผ่านมาหลายเดือนไม่เป็นความจริง ส่วนตัวอยากให้วัคซีนทุกตัวเข้ามาในประเทศไทยเร็วที่สุด ยังเคารพคุณหมอบุญอยู่และเข้าใจที่ทางคุณหมอออกมาพูดนั้นเป็นเพราะอยากให้คนไทยได้รับวัคซีนที่ดี

นอกจากนี้ นายอนุทิน ยังกล่าวว่า “ผมอ่านในข่าวบอก มี 9 ล้าน สั่งไป 9 ล้าน ทำไมองค์การเภสัชฯ ไม่ซื้อ ลองนั่งคิดเล่น ๆ นะครับ จะมีประชาชนถึง 9 ล้านคน จองซื้อวัคซีนด้วยตัวเอง ทั้งที่รัฐเนี่ยจัดหาวัคซีนให้จำนวนมากอยู่แล้ว”

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญที่สุดต้องมีการคอนเฟิร์มยอดซื้อกันก่อน จากนั้นจึงค่อยให้องค์การเภสัชฯ เป็นตัวกลางประสานให้เท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ที่จะต้องไปเจรจาอะไรให้ ซึ่งต้องมีการตกลงในเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ถือว่าล่าช้า

อย่างไรก็ตาม ทางสรยุทธ ได้รายงานเสริมหลังจากฟังคลิปสัมภาษณ์ของนายอนุทิน ว่า การซื้อขายวัคซีนมันมีสัญญา และคนทำสัญญาคือองค์การเภสัชกรรมกับซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาเข้ามา

ส่วนที่ให้โรงพยาบาลเอกชนตกลงกับผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์นาเอง มันไม่มีกระบวนการนี้ เพราะตามหลักเงื่อนไขแล้ว โรงพยาบาลเอกชนต้องมาตกลงกับองค์การเภสัชกรรม

 

ข่าวจาก : kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: