เช็กสิทธิประกันสังคม ม.33, 39, 40 ช่วยเหลืออะไรบ้างในช่วงโควิดปี64





เช็คเงินประกันสังคมมาตรา 33, มาตรา 39 หรือมาตรา 40

 

 

ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, 40 คือใครบ้าง

  • ผู้ประกันตน มาตรา 33 คือ พนักงาน มนุษย์เงินเดือน หรือลูกจ้างเอกชนที่ยังทำงานกับนายจ้างอยู่ในสถานประกอบการ ซึ่งทั้งนายจ้างและลูกจ้างจะส่งเงินสมทบเดือนละ 5% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 750 บาท
  • ผู้ประกันตน มาตรา 39 คือ พนักงาน-ลูกจ้างเอกชนที่เคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 โดยจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน แต่ปัจจุบันได้ลาออกจากงาน ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว และสมัครใจเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิประกันสังคม ภายใน 6 เดือน หลังลาออก
  • ผู้ประกันตน มาตรา 40 คือ บุคคลทั่วไปที่ทำอาชีพอิสระ หรือเป็นแรงงานนอกระบบ เช่น พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกร ช่างก่อสร้าง ฟรีแลนซ์ ขายของออนไลน์ และอื่น ๆ ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือ 39 แต่สมัครใจสมัครเป็นผู้ประกันตนประกันสังคมเพื่อรับสิทธิต่าง ๆ

สิทธิประโยชน์กรณีตรวจโควิด 19

1. ตรวจโควิดฟรีที่หน่วยตรวจโควิด 19 เชิงรุกของสำนักงานประกันสังคม

โดยผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33, 39 และ 40 สามารถตรวจโควิดฟรี ณ วัน-เวลา และสถานที่ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เช่น การตรวจคัดกรองเชิงรุกตามสถานประกอบการ หรือหน่วยบริการตรวจหาเชื้อโควิด 19 เชิงรุก ที่สนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

ทั้งนี้ ต้องติดตามประกาศจากทางสำนักงานประกันสังคมว่าจะเปิดหน่วยคัดกรองเชิงรุกที่ไหนบ้าง โดยลงทะเบียนล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์ sso.icntracking

2. ตรวจโควิดฟรีที่สถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน กรณีเข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง

ผู้ประกันตนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อสามารถตรวจคัดกรองได้ที่โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนทุกแห่ง ซึ่งผู้เข้าข่ายตรวจฟรีมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. มีอาการทางเดินหายใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเร็วเหนื่อย หายใจลำบาก จมูกไม่ได้กลิ่น หรือลิ้นไม่รับรส)
2. มีประวัติเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่ง คือ
– เดินทางมาจากเขตติดโรค หรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
– ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรค หรือพื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง
– สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัย หรือผู้ป่วยยืนยัน
– เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน
(ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์)

หากไม่เข้าเกณฑ์ 2 ข้อนี้ แต่อยากตรวจหาเชื้อ สามารถไปตรวจได้ที่สถานพยาบาลต่าง ๆ โดยจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

สิทธิประโยชน์กรณีรักษาโควิด 19

ตามหลักเกณฑ์แล้ว รัฐบาลได้ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉินที่สามารถใช้สิทธิตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิ์ทุกที่ หรือ UCEP ได้

ดังนั้น ผู้ติดเชื้อโควิด 19 สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากเป็นสถานพยาบาลเอกชน ทางสถานพยาบาลจะส่งเรื่องเบิกเงินไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม เพื่อจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลของเอกชนโดยตรงต่อไป

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินและได้จ่ายเงินไปแล้ว สามารถร้องเรียนที่สายด่วน 1330 ของ สปสช. หรือ 1426 ของ สบส. เพื่อประสานขอเงินคืนได้

สิทธิประโยชน์กรณีฉีดวัคซีนโควิด

ประกันสังคม มาตรา 33

สามารถลงทะเบียนกับนายจ้างเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนฟรี ตามจุดที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ทั้งสิ้น 45 จุดทั่วกรุงเทพมหานคร และตามที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสถานประกอบการที่ลูกจ้าง/ผู้ประกันตนทำงานอยู่

สำหรับต่างจังหวัดต้องรอการจัดสรรวัคซีนอีกครั้ง หากทางสำนักงานประกันสังคมได้รับวัคซีนเมื่อไร จะแจ้งให้ผู้ประกันตนเข้ารับการฉีดวัคซีนต่อไป

ประกันสังคม มาตรา 39 และมาตรา 40

ไม่สามารถฉีดวัคซีนกับประกันสังคมได้ แต่สามารถลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิดผ่านช่องทางของแต่ละจังหวัด เช่น ไทยร่วมใจของกรุงเทพมหานคร, นนน์พร้อมของจังหวัดนนทบุรี หรือหมอพร้อม เป็นต้น

สิทธิประโยชน์กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้

ผู้ประกันตนที่ติดโควิดต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ Hospitel และต้องหยุดงาน จะได้รับเงินทดแทน ดังนี้

ประกันสังคม มาตรา 33

 1. ค่าจ้างจากนายจ้าง

สามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยโดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้างไม่เกิน 30 วัน/ปี

2. เงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคม

กรณีใช้สิทธิ์ลาป่วยกับนายจ้าง เกิน 30 วัน/ปี แล้ว แต่ยังต้องหยุดพักรักษาตัวเกินวันลา ผู้ประกันตนสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้จากประกันสังคมได้

ใครมีสิทธิ์ : ต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว

จะได้รับเงินเท่าไร : กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนฯ ให้ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดวันละ 250 บาท (คิดจากฐานอัตราเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท) โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับเงินทดแทนฯ ไม่เกิน 365 วัน แต่ต้องมีหนังสือรับรองจากนายจ้างว่าได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยครบ 30 วันทำงานใน 1 ปีปฏิทินแล้ว ส่วนที่ลาป่วยเกิน 30 วัน จึงสามารถยื่นขอรับเงินทดแทนฯ จากประกันสังคมได้

ประกันสังคม มาตรา 39

ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้อันเนื่องมาจากการเจ็บป่วยและต้องหยุดงาน ตามคำสั่งของแพทย์ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง หรือวันละ 80 บาท (คิดจากฐานเงินเดือน 4,800 บาท) โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วัน ปีละไม่เกิน 180 วัน ยกเว้นเป็นโรคเรื้อรัง จะได้รับไม่เกิน 365 วัน

ใครมีสิทธิ์ : ต้องส่งเงินสมทบครบ 3 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนวันที่เข้ารับการรักษาพยาบาล โดยแพทย์มีคำสั่งให้หยุดพักรักษาตัว

ประกันสังคม มาตรา 40

ผู้ประกันตน มาตรา 40 ไม่สามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจากประกันสังคม มาตรา 40 ไม่ครอบคลุมการรักษาพยาบาล หากต้องการใช้สิทธิตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา หรือรักษาพยาบาลเมื่อป่วยโควิด 19 ต้องใช้สิทธิบัตรทอง จาก สปสช.

อย่างไรก็ตาม กรณีแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัว 3 วันขึ้นไป หรือกรณีเป็นผู้ป่วยในต้องนอนโรงพยาบาล ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยให้ ดังนี้

การส่งเงินสมทบประกันสังคม

ประกันสังคม มาตรา 33

          ปกติผู้ประกันตน มาตรา 33 จะส่งเงินสมทบในอัตรา 5% ของเงินเดือน หรือสูงสุดไม่เกิน 750 บาท/เดือน (ฐานเงินเดือน 15,000 บาท) แต่ในปี 2564 มีการปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบหลายครั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องส่งเงินสมทบ ดังนี้

  • เดือนมกราคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 3% เท่ากับว่าจากเดิมเคยส่งเงินสมทบสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะเหลือแค่ 450 บาท
  • เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 0.5% เท่ากับว่าจากเดิมเคยส่งเงินสมทบสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะเหลือแค่ 75 บาท
  • เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 2.5% เท่ากับว่าจากเดิมเคยส่งเงินสมทบสูงสุดเดือนละ 750 บาท จะเหลือแค่ 375 บาท

ประกันสังคม มาตรา 39

  • เดือนมกราคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 278 บาท
  • เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 38 บาท
  • เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 : ลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 216 บาท

ประกันสังคม มาตรา 40

  • เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 ผู้ประกันตน มาตรา 40 ยังต้องส่งเงินสมทบเท่าเดิม
  • เดือนสิงหาคม 2564 – เดือนมกราคม 2565 ปรับลดอัตราการส่งเงินสมทบ เหลือ 60% เป็นเวลา 6 เดือน  ดังนี้- ทางเลือกที่ 1 จ่าย 42 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 70 บาท
    – ทางเลือกที่ 2 จ่าย 60 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 100 บาท
    – ทางเลือกที่ 3 จ่าย 180 บาทต่อเดือน จากเดิมจ่าย 300 บาท

สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย

ประกันสังคม มาตรา 33

สำหรับการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ จะมีเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชยแตกต่างจากการระบาดรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 โดยรอบนี้จะได้รับเงินกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ตามเงื่อนไขดังนี้

–  ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน เนื่องจากต้องกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค

–  ลูกจ้างไม่ได้ทำงาน เนื่องจากนายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากราชการมีคำสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตราย ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ เช่น กรณีคนงานไซต์ก่อสร้าง ลูกจ้างร้านนวด สปา ฯลฯ

ใครมีสิทธิ์ :

–  ต้องเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงานหรือถูกรัฐสั่งให้กักตัว หากส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน จะไม่สามารถรับเงินชดเชยได้

–  ลูกจ้างจะต้องไม่ได้รับค่าจ้างใด ๆ จากนายจ้างตลอดระยะเวลาที่กักตัว หรือปิดกิจการชั่วคราว หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้บางส่วน หรือทั้งหมดตามปกติ จะไม่สามารถขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคมได้

รับเงินชดเชยเท่าไร : ได้รับเงิน 50% ของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีการกักตัว หรือเฝ้าระวังการระบาดของโรค หรือมีคำสั่งปิดสถานที่ แล้วแต่กรณี แต่รวมกันไม่เกิน 90 วัน ดังนั้น จะได้รับเงินสูงสุดไม่เกินเดือนละ 7,500 บาท (คิดจากฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)

วิธียื่นรับสิทธิ์1. ผู้ประกันตนกรอกแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน (สปส.2-01/7) (ดาวน์โหลด) พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของตนเอง

– กรณีกักตัวใช้เอกสารประกอบ คือ ใบรับรองแพทย์ให้กักตัว หรือคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่สั่งให้กักตัว

2. ผู้ประกันตนนำ สปส.2-01/7 และเอกสารอื่น ๆ ส่งให้นายจ้างรวบรวม

3. นายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างตามแบบ สปส.2-01/7 และหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว ผ่านระบบ e-service ที่ www.sso.go.th (นายจ้างที่ใช้ระบบครั้งแรกต้องลงทะเบียนเพื่อใช้ระบบก่อน)

4. เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e-Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์ (ลงทะเบียน) ภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-Service บนเว็บไซต์ www.sso.go.th

5. เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับข้อมูลของนายจ้างถูกต้องครบถ้วน จะทำการอนุมัติจ่าย รอบแรกเงินเข้าบัญชีภายใน 5 วันทำการ ส่วนที่เหลือโอนเข้าบัญชีทุกสิ้นเดือนจนครบ

 

แต่กรณีต่อไปนี้ ไม่สามารถขอรับเงินว่างงานจากประกันสังคมได้

  • ลูกจ้างถูกปรับลดเงินเดือน
  • ลูกจ้างยินยอมลางานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay)
  • สถานประกอบการหยุดชั่วคราว ลูกจ้างไม่ต้องมาทำงาน แต่นายจ้างยังคงจ่ายเงินให้ลูกจ้างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าไรก็ตาม
  • นายจ้างหยุดชั่วคราวเนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และไม่ให้ลูกจ้างทำงาน (กรณีนี้ นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้าง 75% ของค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน)

สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบในเดือนมิถุนายน 2564

  • สำหรับลูกจ้างสัญชาติไทยที่เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี และปทุมธานี และได้รับผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราวในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาลคนละ 2,000 บาท รวมกับเงินช่วยเหลือกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท เท่ากับจะได้เงินสูงสุดไม่เกิน 9,500 บาท
  • ส่วนนายจ้างหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวของลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 200 คน รวมได้รับสูงสุดไม่เกิน 600,000 บาท

โดยกิจการที่เข้าข่ายได้รับผลกระทบ เช่น
– กิจการก่อสร้าง
– กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
– กิจการศิลปะ บันเทิง และนันทนาการ
– กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ตามที่ประกันสังคมกำหนด

 

ประกันสังคม มาตรา 39 และ 40

เนื่องจากประกันสังคม มาตรา 39 และ 40 ไม่คุ้มครองกรณีว่างงาน ดังนั้น ผู้ประกันตนที่หยุดทำงานชั่วคราว หรือไม่ได้ทำงานประจำ จะไม่สามารถรับเงินเยียวยากรณีว่างงานจากประกันสังคมได้

กรณีลาออกเอง / สิ้นสุดสัญญาจ้าง

ประกันสังคม มาตรา 33

หากลาออกเองในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 (ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2565) จะได้รับเงิน 45% ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 90 วัน ดังนั้น จะได้รับเงินสูงสุดไม่เกินเดือนละ 6,750 บาท (ฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)

ใครมีสิทธิ์ : ต้องเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงาน และอายุยังไม่เกิน 55 ปี

วิธียื่นรับสิทธิ์
– ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน โดยใช้เลขบัตรประชาชนในการเข้าสู่ระบบ กรอกข้อมูลจากบัตรประชาชน พร้อมกรอกเลขหลังบัตรประชาชน (laser Code) จะได้รหัสผ่านเพื่อใช้งานระบบ
– เมื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยื่นคำขอ “รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) e-form” บนเว็บไซต์
– รายงานตัวเดือนละครั้ง ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน

ประกันสังคม มาตรา 39 และ 40

ไม่คุ้มครองกรณีดังกล่าว

กรณีถูกเลิกจ้าง

ประกันสังคม มาตรา 33

รับเงินชดเชยเท่าไร : หากถูกเลิกจ้างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 (ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2565) จะได้รับเงิน 70% ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 200 วัน เท่ากับว่าจะได้รับเงินสูงสุดไม่เกินเดือนละ 10,500 บาท (ฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาท)

ใครมีสิทธิ์
– 
ต้องเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนการว่างงาน
– อายุไม่เกิน 55 ปี
– ไม่กระทำผิดจนถูกให้พ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน เช่น ทุจริตต่อหน้าที่, ทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง, จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย, ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร เป็นต้น

วิธียื่นรับสิทธิ์
– ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน โดยใช้เลขบัตรประชาชนในการเข้าสู่ระบบ กรอกข้อมูลจากบัตรประชาชน พร้อมกรอกเลขหลังบัตรประชาชน (laser Code) จะได้รหัสผ่านเพื่อใช้งานระบบ
– เมื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบเสร็จสิ้นแล้ว ให้ยื่นคำขอ “รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) e-form” บนเว็บไซต์
– รายงานตัวเดือนละครั้ง ผ่านเว็บไซต์กรมการจัดหางาน

ประกันสังคม มาตรา 39 และ 40

ไม่คุ้มครองกรณีดังกล่าว

เงินเยียวยาช่วงโควิด

ประกันสังคม มาตรา 33

เป็นความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มอบให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันเกิน 500,000 บาท จะได้รับเงินเยียวยาตามโครงการ ม.33 เรารักกัน จำนวน 4,000 บาท โดยแบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท รวม 4 ครั้ง ผ่านแอปฯ เป๋าตัง ตั้งแต่เดือนมีนาคม-เมษายน 2564

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโควิด 19 ได้ระบาดซ้ำเป็นรอบที่ 3 ครม. จึงไฟเขียวจ่ายเงินเยียวยาเข้าโครงการ ม.33 เรารักกัน เฟส 2 เพิ่มให้อีก 2,000 บาท โดยแบ่งจ่ายครั้งแรกในวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 รวมรับเงิน 6,000 บาท

ประกันสังคม มาตรา 39 และมาตรา 40

ไม่ได้รับสิทธิ์ในโครงการ ม.33 เรารักกัน แต่สามารถลงทะเบียนในโครงการเราชนะได้ ซึ่งแจกเงิน 7,000 บาท ในเฟสแรก และยังให้เพิ่มเติมเฟส 2 อีก 2,000 บาท ในเดือนพฤษภาคม 2564 รวมรับเงิน 9,000 บาท

วิธีตรวจสอบสิทธิประกันสังคมของตนเอง : ผู้ประกันตนทุกคนสามารถตรวจสอบสิทธิประกันสังคมของตัวเองได้ง่าย ๆ ดังข้อมูลต่อไปนี้

หากตรวจสอบแล้วพบว่าเราเข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือด้านใด ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับสิทธิ์นั้นได้ แต่ถ้ายังมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม โทร. 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่  29 มิถุนายน 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานประกันสังคมสำนักงานประกันสังคมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานเฟซบุ๊ก สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานสำนักงานประกันสังคมราชกิจจานุเบกษา, kapook

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: