ครบ 1 ปี คดีลูกจ้างสาวโกงงบหลวง 40 ล้าน ไม่คืบ มหาดไทยยังไม่ส่งผลสรุป





จากกรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 29 ปี อดีตพนักงานราชการ สำนักงาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ บุตรสาวอดีตกำนัน ต.คลองวาฬ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2563 หลังจากนำเงินงบประมาณของราชการเกือบ 40 ล้านบาท โอนผ่านระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS เข้าบัญชีส่วนตัว พบการกระทำความผิด 165 ครั้ง อ้างว่านำเงินจากการทุจริตไปเล่นพนันออนไลน์

ต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จ.สมุทรสงคราม มีคำสั่งปล่อยตัว น.ส.ขนิษฐาพ้นการคุมขังจากเรือนจำกลาง จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563 หลังครบกำหนดฝากขัง 7 ผัด รวม 84 วัน ทำให้ น.ส.ขนิษฐาได้รับการปล่อยตัวตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2564 แต่ต่อมาถูกออกหมายจับในคดีอื่น แต่ญาติไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว ทำให้ถูกคุมขังที่เรือนจำกลางกรุงเทพฯ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ต.อ.เสมอ อยู่สำราญ ผกก.สภ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 7 ยังไม่มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 3 ราย ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 น.ส.ขนิษฐา หอยทอง จำเลยที่ 2 น.ส.สายพิณ ดิบดีคุ้ม อายุ 61 ปี มารดา น.ส.ขนิษฐา และจำเลยที่ 3 นางประชิต วงศ์ประภารัตน์ หัวหน้างานการเงินและบัญชี สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หลังจากมีการเลื่อนนัดวันฟังคำสั่งฟ้องแล้ว 4 ครั้ง

พ.ต.อ.เสมอกล่าวว่า ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการขอให้พนักงานสอบสวนติดตามว่ามีการรายงานผลสอบสวนทางวินัยร้ายแรงกับข้าราชการระดับสูงในสำนักงานจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ ล่าสุดได้รับแจ้งจากจังหวัดว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงโดยกระทรวงมหาดไทย แต่ไม่ยืนยันว่าผลสอบสวนจะเสร็จสิ้นเมื่อใด

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งด้วยวาจาให้พนักงานอัยการฯทราบแล้ว คาดว่าก่อนสั่งฟ้องคดีนี้อาจต้องรอผลสรุปการสอบสวนจากกระทรวงมหาดไทย แม้ว่า น.ส.ขนิษฐาจะให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาในคดีทุจริต

ด้านนายชาตรี จันทร์วีระชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รับผิดชอบงานศูนย์ดำรงธรรม กล่าวว่า กรณีที่สื่อมวลชนสอบถามความคืบหน้าผลการสอบสวนทางวินัยผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเมื่อหลายเดือนก่อน ยืนยันว่าได้ส่งให้สำนักงานจังหวัดรายงานข้อเท็จจริง จากนั้นรายงานให้บังคับบัญชาในจังหวัดรับทราบแล้ว จากนั้นได้ส่งเรื่องไปถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่ขณะนี้จังหวัดยังไม่รับเอกสารชี้แจงความคืบหน้า หรือผลสรุปการลงโทษทางวินัยกับข้าราชการที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ก่อนหน้านี้นายกิตติพงษ์ สุขภาคกุล ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง สรุปรายงานผลการสอบสวนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 จากนั้นได้แจ้งให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อสอบวินัยร้ายแรงตามเอกสารหลักฐานที่ปรากฏ หลังพบการทุจริตตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ถึงเดือนมิถุนายน 2563 แต่ถึงปัจจุบันครบรอบ 1 ปี กระทรวงมหาดไทยยังไม่มีการชี้แจงความคืบหน้าในการสอบสวนแต่อย่างใด

สำหรับรายงานการสอบสวน ระบุว่า เป็นความบกพร่องของผู้เกี่ยวข้องทั้งนางประชิด และนางกัลยารัตน์ นิลอ่อน หัวหน้าสำนักงานจังหวัด หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการเบิกจ่าย โดยหัวหน้างานการเงิน และหัวหน้าสำนักงาน ถือว่าอาจเข้าข่ายประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่อย่างร้ายแรง หลังจากมอบรหัสในการเบิกจ่ายงบประมาณให้ลูกจ้างเข้าถึงระบบเพื่อทำการทุจริตต่อเนื่องนาน 14 เดือน เนื่องจากมีความไว้วางใจและไม่ตรวจสอบระบบการเบิกจ่าย แต่เชื่อถือเอกสารที่ผู้ต้องหารายงานเท็จ หากผลสอบทางวินัยมีความผิด จากนั้นจะสอบทางละเมิดหากพบว่ามีความบกพร่อง กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการชดใช้ความเสียหายตามสัดส่วน เพื่อคืนเงินให้ทางราชการครบทั้งหมด

 

ข่าวจาก : มติชน

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: