“โกดังชาบู” ร่ำไห้ หนี้ท่วม อดทนทุกระลอก รัฐไม่แยแส จบแล้ว8ปีที่สร้าง





เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ช่วงโควิด-19 ระบาดระลอกแรก เมื่อ ‘ร้านโกดังชาบู’ ย่านวุฒากาศ แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กทม. ประกาศว่าเนื่องด้วยสถานการณ์ที่รัฐบาลนำพาให้เชื้อโควิด อาจจะระบาดระลอก 2 และเอามาตรการสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ ชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ เจ้าของร้านลั่น “กูไม่ปิด” ล็อกดาวน์อีกก็จะเปิดไม่สนรัฐบาล ใครหน้าไหนมาสั่งปิดก็ไม่ฟัง

ซึ่งระลอก 2 นั้น ทางร้านไม่ปิดเหมือนรอบแรก โดยระบุว่า “ตายทั้งขึ้นทั้งล่อง สั่งปิดช่วยอะไรได้บ้าง มีแต่ช่วยให้มีหนี้เพิ่มขึ้น ลูกเมียก็ต้องดูแลพนักงานก็ต้องหาเงินกินข้าว ยังไงก็ไม่ปิดร้าน จะจับก็มาจับไปเลยอยู่ก็อดตาย ไม่ช่วยเหลือพวกเรา ภาคเอกชนก็อย่ามาขวาง เห็นคนเจ๊งมาเยอะไม่ช่วยเยียวยาสักบาท

ล่าสุดโควิดระบาดระลอก 3 นางสาวมธุรา อดเหนียว หรือ แก้ว อายุ 30 ปี ภรรยาเจ้าของร้านโกดังชาบู ได้เฟซบุ๊กไลฟ์ทั้งน้ำตาผ่านเพจของร้าน ระบุว่า “ฝากแชร์ไปให้ถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลด้วย หรือใครก็ได้ช่วยเราด้วย ที่นี่คือที่ทำมาหากินให้หนูดูแลลูกและครอบครัว ช่วยด้วยค่ะ” ในไลฟ์มีใจความสำคัญว่า ตนเองอัดอั้นมากจริง ๆมากกว่าครั้งไหน ๆ

นางสาวมธุรา ระบุอีกว่า สู้อดทนมาปีกว่าจนถึงทางตัน มันคงจะหมดเวลาของโกดังชาบูแล้วจริง ๆ เราพยายามทำทุกอย่างแล้ว ขอโทษที่ดราม่าระบายให้ทุกคนฟังเพราะมันอึดอัด ร้านจะเป็นโกดังชาบูถึงเดือนกันยายน นี้ ถ้าแบกรับภาระไม่ไหวทุกอย่างมันคงจบ คงยื้อร้านไว้ไม่ได้แล้ว ตนต่อสู้เพื่อให้มีร้านดังกล่าว พอเจอสถานการณ์โควิด เดี๋ยวให้ปิดร้าน เดี๋ยวให้เปิดร้าน ผลุบ ๆ โผล่ ๆ เหมือนปลาที่โผล่หัวมาในน้ำเพื่อหายใจ ยิ่งสู้ยิ่งเหนื่อยและท้อ

“พยายามอดอดทนยื้อร้านให้ได้นานที่สุดหวังว่าร้านจะกลับมามีลูกค้าคึกคักเหมือนเดิม คงไปต่อไม่ไหวแล้ว ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟ ค่าเช่าที่ รถก็จะโดนยึด หนังสือยังไม่มีเงินซื้อให้ลูก ตื่นขึ้นมาทุกเช้าเจอแต่ข้อความทวงหนี้ ลูกค้าคนไหนอยากมาทานชาบู ไปทานได้ที่ร้านจะเปิดถึงเดือนกันยายน หนูจะสู้จนถึงวินาทีสุดท้าย ขายออนไลน์ก็ไม่ได้อะไรเลย”

รัฐบาลกำลังทำลายคนทำมาหากินไม่เคยแยแสพวกเรา ทั้งนี้หากตนไม่จ่ายค่าเช่าที่ภายในเดือนกันยายน เขาจะยกเลิกสัญญา ตนรู้ตัวยังไงก็หาเงินไม่ทัน “รัฐบาลพวกคุณรู้มั้ยพวกเราทนมานานแค่ไหนแล้ว เคยเห็นพวกเรามั้ย จะให้เป็นแบบนี้อีกสักกี่ร้าน กี่ครอบครอบ กี่คน รอวัคซีนไม่รู้สิ้นปีนี้จะจบมั้ย ช่วยเหลือร้านค้าเล็ก ๆหน่อยเถอะ อยากให้ช่วยแก้ไขปัญหา ”

ตนสู้โควิดรอบแรกยันรอบ 3 ต่อจากนี้คงสู้ไม่ไหวแล้ว “ใครไม่เจอกับตัวไม่รู้สึกหรอกว่ามันเป็นยังไง มันแย่มาก” ไม่อยากให้ถึงวันที่ต้องปิดร้าน มันทำใจไม่ได้แต่ต้องยอมรับ ที่ผ่านมามันจุกในใจ ปลอบใจตัวเองสักวันหนึ่งมันต้องดีขึ้น เดี๋ยวก็ผ่านไป วันนี้ตนยอมแพ้แล้ว สู้ทุกหนทางไม่รู้จะสู้ยังไงแล้ว มันถึงทางตันไร้ที่พึ่ง ร้านเคยมีพนักงาน 30 คนตอนนี้เหลือคนเดียว

โครงการปล่อยกู้ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ตนกู้มาประคองร้านช่วงโควิดรอบแรกและรอบ 2 ยังไม่มีเงินไปใช้หนี้เลย รอบ 3 จะไปกู้อีก เขาจะให้กู้อีกมั้ย กู้ทุกที่จนไม่มีเงินไปใช้หนี้ จนเจ้าหนี้ส่งจดหมายไปทวงหนี้กับเพื่อนที่ช่วยค้ำประกัน ทำได้แต่ขอโทษเพื่อนและบอกไปว่ากำลังหาเงินอยู่

นางสาวมธุรา กล่าวต่อว่า “นายกฯ ค่ะ ถ้าได้นายกฯ ได้ยินหรือเห็นไลฟ์นี้ ถึงแม้ท่านจะช่วยเหลืออะไรร้านเราไม่ได้แล้ว อยากให้ท่านช่วยเหลือคนที่เหลือ ร้านค้าที่เหลือ คนที่เขาตกงาน สิ่งที่ท่านให้มามันแทบจะไม่ช่วยอะไรเราเลยท่านบอกจะไม่ให้ประเทศไทยมีหนี้

ตอนนี้มีแต่หนี้ มีแต่ความพังนาศ คนในประเทศมีแต่ความเจ็บปวดและคราบน้ำตาท่านฟังเสียงนกเสียงกา บ้างเถอะค่ะ รีบเร่งแก้ไขมองเห็นพวกเราหน่อย

ถึงแม้เราจะเป็นจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านเหลือบตา มามองพวกเราหน่อย งบโครงการคนละครึ่งที่ท่านให้ นำไปจัดหาวัคซีนมาฉีดวัคซีนให้ ประชาชนให้จบ ๆ ก่อนไม่ดีกว่าเหรอ เราจะได้ใช้ชีวิตปกติ”

“หนูได้แต่รอความหวังจากท่าน ท่านมัวทำอะไรอยู่ หนูรอไม่ไหวแล้ว มันถึงจุดจบร้านหนู แล้ว ประเทศอื่นดูแลอย่างทั่วถึงเยียวยาทุกร้านค้า แต่ท่านปล่อยให้เราอยู่อย่างหมูอย่างหมา ไม่ เคยเหลียวแลพวกหนูเลย แต่หมูหมาก็รอว่าท่านจะทำสำเร็จเมื่อไหร่ให้กลับมาเหมือนเดิม”

เมื่อวานนี้ (15 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปที่ร้านโกดังชาบู พบว่าร้านเปิดขายปกติ ในร้านเงียบไม่มี ลูกค้า นางสาวมธุรา เล่าว่า โควิดระลอกแรก เรารับได้และให้ความร่วมมือ แต่ระลอก 2 ต้องไปกู้ เงินมาหมุนใช้จ่ายในครอบครัว จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพนักงาน เพื่อให้ร้านอยู่ต่อไปได้ ระลอก 3 ไม่ เหลืออะไรสักอย่างมีแต่หนี้สิน รัฐบาลก็ไม่เข้ามาช่วยเหลืออะไรเลย

ขายของไม่ได้ก็ไม่มีเงิน หนี้สินค้างไว้ร่วมปี ทั้งค่าเช่าที่ ค่าไฟฟ้า เงินกู้ธนาคาร ค่าผ่อนรถ รวมแล้ว 4 แสนกว่าบาท ค่าเช่าสถานที่ค้างเป็นปี 174,800 บาท ต้องนำไปจ่ายเขาก่อนสิ้นเดือน ก.ย. นี้ เพราะจะต้องต่อสัญญาเช่าสถานที่ (สัญญา 3 ปี/ครั้ง ) ไม่งั้นจะถูกยกเลิกสัญญา

โดยวันศุกร์ที่ 18 มิ.ย. นี้ ต้องจ่ายล่วงหน้าก่อน 1 หมื่น ยังไงก็หาไม่ทัน เพราะทุกวันนี้ไม่มีรายได้ ค่ารถค้างจ่าย 4 เดือน 4 หมื่นกว่าบาท ไฟแนนซ์ติดต่อจะมายึดรถ ค่าไฟ 138,417 บาท ค่าหนังหนังสือลูก 2 คน (ป.6/อนุบาล 2) ไม่มีจ่าย โชคดีมีคนดูตนเองเฟซบุ๊กไลฟ์เมตตาช่วยโอนเงินมาซื้อหนังสือให้ลูกได้เรียน เป็นเงิน 4,416 บาท

เมื่อวานนี้มีคนที่ติดตามเฟซบุ๊กไลฟ์ พากันมาอุดหนุนนั่งกินบุฟเฟ่ต์ชาบูเกือบ 10 โต๊ะ ก่อนหน้านี้แทบไม่มีลูกค้ามีรายได้วันละ 1,000-3,000 บาท เท่านั้น ทำเป็นชุดส่งเดลิเวอรี่บางวันได้ลูกค้า 1-2 ราย ปรับตัวทำน้ำจิ้มขายออนไลน์ได้วันละ 1-2 ออเดอร์ ตนกับสามีเครียดจนซึมเศร้าคิดสั้นอยากฆ่าตัวตาย ตนโกรธการทำงานของรัฐบาลมาก

ต่อให้ตนหมดช่องทางหาแล้วตรงนี้ ไปเช่าที่อื่นมันก็ต้องใช้ทุน และต้องตามเคลียร์หนี้เก่า ไปติดต่อขอกู้เงินก็กู้ไม่ได้เพราะเครดิตไม่ดี ไม่อยากไปกู้เงินนอกระบบเพราะดอกเบี้ยแพง อยากให้รัฐบาลรับฟังเราบ้าง ตนเฟซบุ๊กไลฟ์จนกว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้จะได้ยิน ถ้าช่วยร้านของตนไม่ได้ ก็อยากให้ช่วยร้านหรือผู้ประกอบการคนอื่นที่กำลังแย่ หลายร้านปิดตัวแต่ยังต้องแบกภาระหนี้สินไว้

นายพยุหะ ลลิตพงค์พาณิช อายุ 36 ปี เจ้าของร้าน บอกว่า 8 ปี ที่ตนสร้างร้านนี้ขึ้นมาจะต้องจบลงเพราะพิษโควิด ชีวิตพังเพราะการบริหารงานของรัฐบาล เราขายบุฟเฟ่ต์หัวละ 149 บาท ให้นั่งกินโต๊ะละคนจะขายยังไง ช่วงไม่มีลูกค้าก็เก็บใบหูกวางแห้ง ๆ ซึ่งมีต้นอยู่ในร้าน แพ็คขายถุงละ 15 บาท ได้เงินครั้ง 100-200 บาท ไม่คิดไม่ฝันว่าชีวิตจะตกต่ำต้องมาเก็บใบไม้ขาย (ใบหูกวางแห้งช่วยใช้รักษาแผลให้ปลา/ทำให้ปลาลดความตึงเครียด/ช่วยให้ปลามีสุขภาพที่ดี)

ผู้สื่อข่าวได้บอกกับเจ้าของร้านว่าคุณสรยุทธ ดูตอนเฟซบุ๊กไลฟ์แล้วบอกให้ทีมข่าวไปดู ทั้งคู่ถึงกับร้องไห้ด้วยความดีใจที่พี่สรยุทธ มองเห็นความลำบากของพวกเขา และยกมือไหว้ขอบคุณจากใจที่เคยให้การช่วยเหลือ ให้ได้ทำข้าวกล่องไปแจกชาวบ้านที่ประสบวิกฤตโควิด ผ่านโครงการเรื่องเล่าแบ่งปัน ทำให้มีรายได้ค่าสั่งทำข้าวกล่องมาใช้จ่ายในช่วงระยะหนึ่ง ถึงจำนวนเงินไม่มากแต่ก็พอต่อลมลมหายใจ ตั้งหลักขายบุฟเฟ่ต์ต่อไปได้ ก่อนหน้านั้นแทบไม่มีเงินซื้อข้าวสารกรอกหม้อ “พอได้ยินชื่อคุณสรยุทธ ผมโคตรดีใจ”

ข่าวจาก ch3plus

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: