วิจัยพบครูมักลำเอียง เด็กดีว่านอนสอนง่ายได้สูงกว่าเด็กดื้อ 10%





ความเป็นธรรมของบรรดาครูอาจารย์ ในการให้คะแนนหรือตัดเกรดข้อสอบแบบอัตนัยมีอยู่จริงหรือไม่

ผลการศึกษาทางจิตวิทยาล่าสุดพบว่า ครูผู้สอนมีแนวโน้มที่จะใช้อคติในการตัดสินใจให้คะแนนกับนักเรียน โดยอิงกับความชื่นชอบในอุปนิสัยหรือความน่าสงสารของเด็กคนนั้นเป็นหลัก

รายงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนส์ยูนิเวอร์ซิตี้เบลฟาสต์ และวิทยาลัยโกลด์สมิธในสังกัดเครือมหาวิทยาลัยลอนดอนพบว่า เด็กที่เรียบร้อยว่านอนสอนง่ายจนเป็นที่ชื่นชอบของครูอาจารย์ จะได้คะแนนในการสอบเพิ่มขึ้นมาถึง 10% ทั้งที่ความสามารถทางวิชาการซึ่งปรากฏในการเขียนตอบข้อสอบไม่ได้เป็นเช่นนั้น

มีการวิเคราะห์ผลคะแนนและคำตอบ จากการสอบวัดผลแบบอัตนัยของนักเรียนชาวรัสเซียวัย 14-18 ปี จำนวน 1,200 คน โดยนำผลคะแนนมาเปรียบเทียบกับบุคลิกลักษณะของแต่ละคนในสายตาของครูผู้สอนด้วย

ผลปรากฏว่านักเรียนที่มีพฤติกรรมแบบ “เด็กดี” เช่นว่านอนสอนง่าย สงบเสงี่ยมเรียบร้อย และเข้ากับผู้อื่นได้ดี จะได้คะแนนเพิ่มเป็นพิเศษสูงกว่านักเรียนที่มีพฤติกรรมเชิงลบ ซึ่งมักชอบก่อกวนหรือต่อต้านสังคม โดยคะแนนพิศวาสที่ครูให้กับเด็กดีนี้ ทำให้พวกเขามีแต้มต่อเหนือกว่าเด็กดื้อที่ถูกกดคะแนนอยู่ถึง 10% โดยเฉลี่ย

ผลการศึกษายังพบว่า ครูมักมีอารมณ์อ่อนไหวโดยแอบเห็นใจนักเรียนที่ดูน่าสงสาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่กำลังประสบปัญหา มีอารมณ์ตึงเครียดหรือมีสภาพจิตใจเปราะบางซึมเศร้า โดยครูก็มักจะให้คะแนนพิเศษและ “ปล่อยเกรด” ให้กับนักเรียนกลุ่มนี้เช่นกัน

ดร. คอสตาส ปาปาจอร์จิอู นักจิตวิทยาผู้นำทีมวิจัยในครั้งนี้บอกว่า “อันที่จริงแล้ว การให้คะแนนของครูนั้นเจือปนไปด้วยอคติซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ทำให้เกิดความลำเอียงทั้งในแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว”

ทีมผู้วิจัยยังบอกว่า ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างอุปนิสัยของนักเรียนกับคะแนนสอบที่ทำได้ เช่นเด็กดีนั้นไม่จำเป็นจะต้องเรียนดีด้วยเสมอไป แต่ในกรณีที่มีความลำเอียงของครูเข้ามาเกี่ยวข้อง เด็กที่ครูชังน้ำหน้ากลับถูกลงโทษเพียงเพราะบุคลิกและลักษณะนิสัยไม่เข้าตา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

“การให้คะแนนและตัดเกรดโดยปกปิดชื่อของนักเรียนผู้ทำข้อสอบ หรือการใช้มาตรการถ่วงดุลอื่น ๆ เข้าช่วย จะทำให้การวัดผลมีความเป็นธรรมเพิ่มขึ้น ซึ่งอันที่จริงครูไม่ควรปล่อยให้อคติที่มีต่ออุปนิสัยของนักเรียน เข้ามามีผลในการให้คะแนนทางวิชาการที่อาจตัดสินอนาคตของนักเรียนได้” ดร. ปาปาจอร์จิอูกล่าว

 

ข่าวจาก : ข่าวสด

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: