มะกันพบเคสฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มีปัญหาลิ่มเลือดอุดตันเพิ่ม





มะกันพบเคสฉีดวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มีปัญหาลิ่มเลือดอุดตันเพิ่ม

รอยเตอร์รายงานเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมว่า ศูนย์เพื่อการป้องกันและควบคุมโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐอเมริกาแถลงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมนี้ว่า พบผู้ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันหรือเจแอนด์เจ

แล้วเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (ทีทีเอส) รุนแรงจำนวน 28 ราย หลังจากมีการฉีดวัคซีนของเจแอนด์เจให้กับคนอเมริกันไปมากกว่า 8.7 ล้านราย โดยในจำนวน 28 รายดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตอยู่ด้วย 3 ราย

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อ 25 เมษายนที่ผ่านมา ซีดีซี เคยรายงานว่าตรวจสอบพบผู้ได้รับวัคซีนเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเพียง 17 รายจากจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนเจแอนด์เจไปเกือบ 8 ล้านราย ทั้งนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อการสร้างภูมิคุ้มกัน (เอซีไอพี) ซึ่งเป็นคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนต่อซีดีซี กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบทบทวนด้านความปลอดภัยจากข้อมูลที่พบใหม่นี้อยู่ในเวลานี้

ซีดีซี แถลงว่า กรณีที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะคล้ายคลึงกับกรณีที่สังเกตุพบหลังการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าในยุโรปก่อนหน้านี้ โดยวัคซีนทั้งสองตัวเป็นวัคซีนเชื้อเป็น ที่ใช้อะดีโนไวรัส ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัด เป็นพาหะสร้างโปรตีนของไวรัสบางอย่างขึ้นในร่างกาย เพื่อโน้มน้าวให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี ที่ต่อต้านไวรัสก่อโรคโควิด-19 ขึ้น โดยในเวลานี้นัก

วิทยาศาสตร์กำลังค้นคว้าวิจัยเพื่อหาว่ากลไกส่วนใดที่ทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นในร่างกายของผู้ได้รับวัคซีนนี้ โดยสมมุติฐานที่เชื่อกันว่าเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ อะดีโนไวรัสที่เป็นตัวพาหะอาจเป็นตัวการก่อให้เกิดภาวะนี้ขึ้น โดยไม่พบภาวะเช่นเดียวกันนี้ในผู้ที่ได้รับวัคซีน ไฟเซอร์/ไบออนเทค และ โมเดอร์นา ที่เป็นวัคซีนประเภท เอ็มอาร์เอ็นเอ แต่อย่างใด

ซีดีซี แถลงว่า เกือบทั้งหมดของผู้ที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีนเจแอนด์เจ เป็นผู้หญิง อายุ ระหว่าง 18-49 ปี โดยมีอัตราการเกิดสูงสุดในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุ 30-39 ปีที่อัตรา 12.4 รายต่อ 1 ล้านรายที่ได้รับวัคซีน รองลงมาคือ กลุ่มอายุระหว่าง 40-49 ปี ที่อัตรา 9.4 รายต่อ 1 ล้านราย ทั้งนี้ในจำนวน 28 รายที่เกิดภาวะทีทีเอส มีเพียง 6 รายเท่านั้นที่เป็นเพศชาย

 

ข่าวจาก : มติชนออนไลน์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: