โควิด-19: รู้จักยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลน





โควิด-19: รู้จักยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ประเทศไทยกำลังขาดแคลน – BBCไทย

ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่ใช้ต้านเชื้อไวรัสที่ก่อโรคโควิด-19 เป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงมากในการระบาดระลอกเดือน เม.ย. ทั้งการขาดแคลนยาในบางพื้นที่เนื่องจากปัญหาการเบิกจ่ายและปริมาณยาที่ต้องใช้มากขึ้นจนยาไม่เพียงพอ และการปรับแนวทางการให้ยาแก่ผู้ป่วย

ในขณะที่หลายพื้นที่พบว่าฟาวิพิราเวียร์เริ่มจะหายากในบางช่วง ทว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.จัดซื้อยาต้านไวรัสชนิดนี้มาได้ 50,000 เม็ด และได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี อีก 50,000 เม็ด รวมเป็น 100,000 เม็ด

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กทม. มีแนวคิดที่จะให้ยาชนิดนี้แก่ผู้ป่วยระดับสีเขียว (ผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก) ที่เข้ามากักตัวที่โรงพยาบาลสนามตั้งแต่วันแรกทุกคน ๆ ละ 50 เม็ด ซึ่งทำให้แพทย์หลายคนออกมาแสดงความกังวลถึงความจำเป็นและอาจก่อให้เกิดภาวะดื้อยา

ท้ายที่สุดหลังจากมีการหารือร่วมกับกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็มีการสรุปว่าผู้ป่วยระดับสีเขียวจะได้รับยาชนิดนี้ก็ต่อเมื่อเข้าเกณฑ์การประเมินของแพทย์ คือ เป็นผู้ป่วยที่มีปริมาณไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้อื่นและเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้หากได้รับยาตั้งแต่แรกและรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5-10 วัน จะช่วยป้องกันไม่ให้อาการทรุดลงจนกลายเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลืองหรือสีแดง

ล่าสุด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขออกมาระบุว่า ยังไม่แนะนำให้ใช้ยาฟาร์วิพิราเวียร์สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการ ยกเว้นผู้ที่มีโรคร่วม และ/หรือมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ โดยให้เหตุผลว่ายังมีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการไม่เพียงพอที่ยืนยันถึงประโยชน์ของการให้ยาโดยเร็วตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

“ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ที่ไม่มีอาการมักจะหายจากโรคได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส ซึ่งหากจะนำมาใช้ควรดำเนินการในลักษณะของการศึกษาวิจัยที่เป็นไปตามหลักการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี…” กรมการแพทย์ระบุในแถลงการณ์ในวันนี้ (6 พ.ค.)

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับยาต้านโควิด-19 ชนิดนี้ และปริมาณยาในประเทศไทยมีเพียงพอหรือไม่

ยาฟาวิพิราเวียร์ในไทย

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย เขียนข้อความในเฟซบุ๊กให้ข้อมูลเกี่ยวกับยาชนิดนี้ว่า ได้รับการจดทะเบียนยาและอนุมัติให้ใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกรณีพิเศษสำหรับการระบาดระลอกแรกในไทย โดยให้ใช้เฉพาะในผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบรุนแรง เนื่องจากมียาจำกัด และการเก็บข้อมูลย้อนหลังโดยคณะทำงานพบว่า ยานี้น่าจะช่วยลดความรุนแรงและการสูญเสียจากโรค และมีความปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากยานี้ไม่มีใช้ในประเทศทางตะวันตก จึงไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการที่หนักแน่นรองรับ แต่คณะกรรมการจัดเตรียมยาของประเทศก็ได้จัดเตรียมไว้ให้เพียงพอในระลอกสอง ซึ่งไม่เกิดปัญหา เพราะมีอัตราการใช้ราว 20% ของผู้ป่วยทั้งหมด

ในระหว่างนั้น คณะกรรมการวิชาการได้ขยายข้อบ่งใช้ให้ครอบคลุมตั้งแต่ปอดอักเสบขั้นต้น และผู้ป่วยที่อาจเกิดปอดอักเสบรุนแรง ซึ่ง รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ในนามสมาคมอุรเวชช์ฯ ได้ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อบรรจุยานี้ไว้สำหรับให้ทุกโรงพยาบาลจัดซื้อได้เอง เพื่อให้มีใช้งานเพียงพอ

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในระหว่างดำเนินการนี้ เกิดศึกระลอกสามตามมาอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ป่วยเพิ่มแบบทวีคูณควบคู่ไปกับยอดการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ โดยมีอัตราการใช้ระหว่าง 20-70% แล้วแต่ความสะดวกการเข้าถึงยาในพื้นที่ เป็นที่มาของความฉิวเฉียดของการมียาสำรองใช้เกือบไม่เพียงพอ ทว่ามียาต้นแบบจากญี่ปุ่นที่สามามารถนำเข้ามาได้ทันจำนวน 2.2 ล้านเม็ด ซึ่งรักษาผู้ป่วยได้ราว 30,000-40,000 คน

แนวทางการรักษาผู้ป่วยด้วยยาฟาวิพิราเวียร์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงวันนี้ (6 พ.ค.) ว่า จากการลงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วมจะยังคงไม่ให้ยารักษาเฉพาะ โดยมีรายละเอียดตามลำดับ ดังนี้

  • ผู้ติดเชื้อยืนยัน ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วม จะไม่มีการให้ยาเฉพาะ และไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะ
  • ผู้ติดเชื้อยืนยัน มีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการแต่มีโรคร่วม/ปัจจัยเสี่ยง มีการปรับเปลี่ยนให้สามารถยาฟาวิพิราเวียร์ได้ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ผู้ติดเชื้อยืนยันที่มีอาการเล็กน้อย มีความเสี่ยง และปอดอักเสบเล็กน้อย ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ควบคู่กับการให้ยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงจะสามารถลดอาการรุนแรงได้
  • ผู้ติดเชื้อยืนยัน ปอดอักเสบรุนแรง จะมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ สเตียรอยด์ และโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ควบคู่กันไป

“เกณฑ์การให้ยาต้านไวรัส โดยเฉพาะฟาวิพิราเวียร์ เราให้เร็วขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับให้ทุกคนนะครับ” อธิบดีกรมการแพทย์กล่าว

นพ.สมศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์แบบเหวี่ยงแหมีข้อเสียหลายประการ โดยเฉพาะอาการข้างเคียง อย่างตับอักเสบ และอาจนำมาซึ่งเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งเป็นภาวะที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นห่วง อีกทั้งข้อมูลผู้ป่วยกว่า 80-90% ที่ไม่มีอาการและไม่มีโรคร่วมไม่มีการแสดงอาการแย่ลง จึงไม่มีความจำเป็นในการรับยา

“เราก็ต้องเก็บยา (ฟาวิพิราเวียร์) ซึ่งเป็นเหมือนอาวุธสำคัญไว้ใช้ เราจึงไม่อยากเหวี่ยงแห”

มีเพียงพอแค่ไหน

อธิบดีกรมการแพทย์ยืนยันว่า ขณะนี้มีการกระจายยาจำนวน 2 ล้านเม็ดไปทั่วประเทศแล้ว และอีก 3 ล้านเม็ดจะเข้ามาในประเทศไทยราววันที่ 10 พ.ค.นี้ โดยอัตราการใช้งานอยู่ที่วันละ 50,000 เม็ดโดยประมาณ ซึ่งองค์การเภสัชกรรมจะทำการสำรองยาให้มีสำรองไว้ 2 ล้านเม็ดโดยตลอด

“5 ล้านเม็ดที่เรามี จะพอใช้ไปประมาณ 3 เดือนกว่า ๆ”

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่าเพิ่มเติมว่าได้มีการกระจายยาไปยังโรงพยาบาลในทุกจังหวัดเพื่อให้สะดวกในการเบิกจ่าย จากเดิมที่จะมีการสำรองเขตสุขภาพตามเมืองใหญ่เท่านั้น ในกรุงเทพฯ เองก็กระจายไปยังเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงในโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัด กทม. หรือโรงพยาบาลทหารและตำรวจ อีกทั้งมีการสำรองไว้ในโรงพยาบาลสนาม และฮอสปิเทลด้วย

ก่อนหน้านี้ขาดแคลนจริงในบางพื้นที่

เพจเฟซบุ๊กของชมรมแพทย์ชนบทรายงานเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ว่าเกิดการขาดแคลนยาหรือภาวะคลังยาไม่พอเบิกใช้

“ยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาสำคัญที่ใช้รักษาโรคโควิด วันนี้ยาตัวนี้ขาดแคลนอย่างหนัก น้องแพทย์ที่โรงพยาบาลได้ขอเบิกยานี้เพื่อใช้กับผู้ป่วยที่ อ.จะนะ (จ.สงขลา) ทราบว่าที่คลังโรงพยาบาลหาดใหญ่ที่เป็นจุดสำรองยาของจังหวัดสงขลาเหลือเพียง 150 เม็ด ดีที่รัฐบาลสั่งยามาจากญี่ปุ่นทันเวลา 2 ล้านเม็ด” เพจชมรมแพทย์ชนบทระบุ

ชมรมแพทย์ชนบทเชื่อว่าหากอัตราการใช้เป็นเช่นปัจจุบัน ยาจำนวน 2 ล้านเม็ดจะเพียงพอใช้ได้ไม่เกิน 3 เดือน

ความเห็นของชมรมแพทย์ชนบทสอดคล้องกับการเปิดเผยของนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ยาสำรองใช้ “เกือบไม่เพียงพอ” เนื่องจากอัตราการใช้เพิ่มขึ้นจำนวนมากจากตัวเลขผู้ป่วยที่สูงขึ้นในการระบาดระลอกที่สาม

ใช้วันละ 4-5 หมื่นเม็ด

“ยาฟาวิพิราเวียร์ ในผู้ป่วยโควิด 1 คน จะต้องใช้คนละ 50 เม็ด คือวันแรกทาน 9 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง และอีก 4 วันถัดมาทาน 4 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง ดังนั้นยา 2 ล้านเม็ด ก็จะใช้ได้กับผู้ป่วย 40,000 คนเท่านั้น ไม่ได้มากมายในสถานการณ์การระบาดเช่นนี้” ชมรมแพทย์ชนบทแสดงความกังวลถึงปริมาณยาสำรองของประเทศเมื่อวันที่ 28 เม.ย.

ขณะที่องค์การเภสัชกรรม ยืนยันเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ว่าขณะนี้ไทยมียาฟาวิพิราเวียร์เพียงพอ และมีการกระจายไปโรงพยาบาลทุกภาคส่วนแล้ว ทั้งนี้ ยอดคงคลังมีจำนวนกว่า 1.5 ล้านเม็ด จะเข้ามาเพิ่มอีก 3 ล้านเม็ด ในเดือน พ.ค.

นพ. วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมระบุว่ายาล็อตล่าสุดมาถึงเมื่อวันที่ 26 เม.ย. และได้การกระจายไปยังสถานพยาบาลทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนแล้ว เขาให้ข้อมูลด้วยว่าขณะนี้ประเทศไทยใช้ยาชนิดนี้วันละประมาณ 40,000-50,000 เม็ด

ข้อมูลอีกด้านของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยการเปิดเผยของ นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุด้วยว่า ระหว่างวันที่ 26-30 เม.ย. มีการกระจายยาไปยังทุกจังหวัดที่มีผู้ป่วยทุกเขตสุขภาพแล้ว 765,600 เม็ด (แถลงเมื่อ 1 พ.ค.)

ข้อโต้แย้งจากแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยในการจ่ายยาผู้ป่วยสีเขียวของ กทม.
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และนายแพทย์จากศิริราช แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดขยายการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ให้เข้าใกล้ผู้ป่วยทั้ง 100% เขาระบุว่า การให้ยาแบบไม่แยกแยะมีข้อเสีย 3 ประเด็น ตั้งแต่ภาวะยาขาดมือไปจนถึงการเกิดเชื้อดื้อยา

  • ยาอาจขาดมือจากที่สำรองไว้ ทำให้ผู้ป่วยรายที่จำเป็นอาจไม่ได้ยาชั่วคราวหรือได้ไม่เต็มจำนวน
  • การใช้ยาตั้งแต่แรกอาจทำให้แพทย์นิ่งนอนใจในประสิทธิภาพของยา จนอาจละเลยการเฝ้าระวังการเกิดปอดอักเสบ ยานี้ยังไม่มีหลักฐานว่าป้องกันการเกิดปอดอักเสบหรือทำให้ปอดอักเสบเล็กน้อยไม่ลุกลาม
  • การใช้ยาฆ่าเชื้อที่ไม่สมเหตุสมผล (non-rational drug use) จะนำมาซึ่งการเกิดเชื้อดื้อยาภายหลัง

ด้านนายแพทย์ที่ดูแลการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ออกมาท้วงติงแนวคิดเรื่องการให้ยาต้านโควิดแก่ผู้ป่วยที่กักตัวใน รพ.สนาม

“ความเห็นส่วนตัว ควรเก็บยา Favipiravir ใช้ในคนที่มีความเสี่ยงที่จะมีโรครุนแรงหรือเป็นปอดอักเสบดีกว่าครับ ใช้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ดีที่สุด ไม่ควรให้ยานี้ในทุกราย หน้าที่ของ รพ. สนามคือ isolation คือแยกผู้ติดเชื้อออกมากับดูแลตามอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ครับ” นพ.โอภาส พุทธเจริญ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ความเห็นบนเฟซบุ๊ก

ฟาวิพิราเวียร์ ในต่างประเทศ

บทความเรื่อง “การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 1 : ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)” ของหน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และข้อมูลจากกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ค้นพบโดยบริษัทฟูจิฟิล์ม โตยามะเคมิคอล ในประเทศญี่ปุ่น และได้รับอนุมัติให้ใช้ในญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล

มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลาในแถบแอฟริกาตะวันตกช่วงปี 2557-2559 และในการระบาดของโรคโควิด-19 ที่อุบัติใหม่ขึ้นมาเมื่อปีที่แล้ว

สำนักงานบริหารผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ประเทศจีนได้ให้การรับรองว่ายาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพต่อต้านโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2563

ฟาวิพิราเวียร์ จะมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกายและยาถูกเปลี่ยนแหลงภายในเซลล์เป็นสารฟาวิพิราเวียร์ อาร์ทีพี ทั้งนี้ ยาชนิดนี้มีผลป้องกันการเพิ่มจำนวน RNA ของไวรัส แต่ไม่มีผลยับยั้งการสังเคราะฆ RNA หรือ DNA ของเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อต้นเดือน เม.ย. สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร เพิ่งจะเริ่มโครงการทดสอบทางคลินิกในการใช้ยาตัวนี้รักษาผู้ป่วยที่พักฟื้นจากโควิด-19 และสถานรักษาตัวอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล โดยโครงการได้เปิดรับสมัครอาสาสมัครผู้ป่วยโควิดเข้าร่วมการรักษาจากทางบ้าน

ฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาชนิดที่ 6 ที่เข้าสู่โครงการทดลองรักษาทางคลินิกโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยของสหราชอาณาจักร ภายหลังนักวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดและคณะกรรมการโครงการที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตัดสินใจนำตัวยาชนิดนี้เข้าสู่การทดลองรักษา

 

ข่าวจาก : khaosod

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: