พิธีกรช่องดังร้องทุกข์ ค้างจ่ายค่าบ้าน 3 เดือน สุดท้ายโดนยึดบ้าน





พิธีกรร้องทุกข์ ค้างชำระค่าบ้าน 2-3 เดือน ทำโดนยึดบ้าน ด้านเพจกฎหมายให้ความรู้ไม่ได้โดนขายทอดตลาดยกันง่าย ๆ มีหลายขั้นตอนกว่าจะโดนยึด ใช้เวลาเป็นปี

กลายเป็นปัญหาที่เริ่มพบเห็นได้บ่อยขึ้นสำหรับการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งหลายคนอาจจะมืดแปดด้าน ทั้งที่ปัญหามาจากการค้างชำระแค่ไม่กี่เดือนเท่านั้น เช่นเดียวกับกรณีของ น.ส.นวินดา บริบูรณ์ พิธีกรรายการคนดีสังคมดี ช่อง 5 ที่ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก นวินดา บริบูรณ์

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 โดยร้องทุกข์ว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องบ้าน หลังจากมีปัญหาด้านการเงินและไม่ได้ผ่อนค่าบ้านไป 2-3 เดือน แต่บ้านกำลังจะถูกยึดขายทอดตลาด ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นี้

ซื้อบ้านราคาเกือบ 3 ล้าน อ้างขาดผ่อน 3 เดือน แต่บ้านกำลังจะถูกขายทอดตลาดในราคาครึ่งเดียว

น.ส.นวินดา เล่าว่า เธอซื้อบ้านในโครงการแห่งหนึ่ง ติดถนนใหญ่สายไหม หทัยราษฎร์ ราคา 2.9 ล้าน ตั้งแต่ปี 2558 ทำสัญญาผ่อน 18 ปี วางเงินดาวน์ 300,000 บาท ผ่อนบ้านมาปกติ จนปีที่ 4 ตนค้างค่าผ่อนบ้าน 2 เดือน เข้าเดือนที่ 3 คือเดือนสิงหาคม 2561 มีบิลใบทวงค่าบ้านมาปกติ คือยอดทวง 18,500 ให้ชำระ

แต่ระหว่างนั้น ตนไม่สามารถหาเงินมาชำระได้เพราะมีภาระจัดคอนเสิร์ตเฉลิมพระเกียรติช่วยคนชรา มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จัดคอนเสิร์ตเสร็จ 1 กันยายน 2561 และไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ ว่าจะขายบ้านให้บริษัทบริหารสินทรัพย์

เริ่มภารกิจติดต่อแบงก์ แบงก์บอกค้างค่างวดมา 5 เดือนแล้ว เจ้าตัวยันจ่ายหมดแล้ว ค้างแค่ 3 เดือนเท่านั้น

จากนั้นวันที่ 2 กันยายน 2561 ตนไปจ่ายค่าบ้าน แต่แบงก์บอกว่าประวัติการชำระเงินของตนถูกลบไปหมดแล้ว พอไปติดต่อสำนักงานใหญ่ ได้มีการส่งหัวหน้าฝ่ายกฎหมายฝ่ายขายทรัพย์มาคุย บอกว่าที่ปิดระบบเพราะเธอค้างชำระตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 รวมเกือบ 5 เดือน เงินไม่เข้ามาในบัญชีเลย

แต่เธอยืนยันว่าชำระแล้วถึงพฤษภาคม 2561 ข้อพลาดคือ อาจเก็บใบเสร็จไม่ครบเพราะงานยุ่งมาก แต่ยังมีใบเสร็จเดือนมกราคม 2561 อยู่ และเธอได้นำใบทวงหนี้ค่าบ้านยอด 18,500 ล่าสุดให้ไป ฝ่ายทวงหนี้บอกจะหาทางคุยหัวหน้า เพื่อดึงบ้านกลับมาให้ แม้ขายให้บริหารสินทรัพย์เป็นหนี้เสียไปแล้ว โดยให้รออีกสามสัปดาห์จะมาแจ้ง ซึ่งเธอได้ทวงถามใบทวงหนี้ที่บอกว่าเธอค้างชำระ 5 เดือนมาด้วย

ธนาคารยื่นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ ให้หาเงินมา 90,000 แต่หาไม่ได้ สุดท้ายต้องปรับโครงสร้างหนี้

วันที่ 2 ตุลาคม 2561 เธอไปถามความคืบหน้า หัวหน้าฝ่ายกฎหมายบอกว่า ผู้บริหารจะช่วย แต่เธอต้องหา 90,000 บาทมาภายในพฤศจิกายน 2561 เป็นค่าดอกเบี้ย แล้วจะทำเรื่องดึงกลับให้ แต่เธอนั้นหาเงินจำนวนนั้นมาจ่ายในเวลาเดือนเศษไม่ได้ เธอมองว่าแบงก์ยื่นเงื่อนไขที่ลูกค้าทำไม่ได้ ส่งผลให้เธอเป็นหนี้เสีย

ต่อมาบริษัทบริหารสินทรัพย์ โทร. มาแจ้งปรับโครงสร้างหนี้ก้อนแรก 250,000 บาท ให้จ่ายภายใน 3 เดือน (ธันวาคม 2561 – กุมภาพันธ์ 2562) พอเธอหาไม่ได้ก็ไม่ปรับโครงสร้างหนี้ให้ และทำเรื่องฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ในวันที่ 23 มีนาคม 2562 ให้ไปขึ้นศาลกรกฎาคม 2562

ระหว่างนั้น เธอร้องทุกข์ไปที่สำนักนายกฯ สายด่วน 1111 ก็ช่วยได้แค่ให้คุยกับแบงก์ชาติ ก่อนทราบว่าเจรจาแล้วแต่ไม่สามารถดึงบ้านกลับมาได้ และให้ไปขอที่ศาลเลย เมื่อปรึกษาทนายอาสาหลาย ๆ ที่ ก็บอกตรงกันว่าเขาฟ้องมาแล้ว คงแก้ไขช่วยอะไรไม่ได้ต้องไปขึ้นศาลเอง ขอศาลเองเลย

เข้าสู่กระบวนการศาล ให้หาเงินมา 250,000 บาทปิดหนี้ หาไม่ได้ กลายไปสู่การยึดทรัพย์

เดือนกรกฎาคม 2562 เธอขึ้นศาลคิดว่าจะคุยต่อรองได้ มั่นใจว่าเป็นฝ่ายถูก เธอเป็นนักข่าว จะพูดเพื่อความถูกต้อง และแม้ในใบจำยอมให้หาเงิน 250,000 ก็พร้อมจะจ่าย ทั้งที่รู้ว่าถูกเอาเปรียบ โดยจะขอผ่อน 50,000 จำนวน 5 ครั้ง แต่ปรากฏว่าบริษัทบริหารสินทรัพย์ไม่ยอม ยืนยันจะให้เธอหาเงิน 250,000 มาจ่ายให้เวลา 3 เดือนเศษ ซึ่งเธอไม่สามารถหาเงินได้ทัน

เดือนธันวาคม 2562 ศาลตัดสินยึดทรัพย์ และถ้าไม่ให้ยึดทรัพย์ ต้องชำระยอดบ้านทั้งหมด รวมดอกเบี้ย 12 เปอร์เซ็นต์ คือ 2,865,000 บาท ต่อมาในปี 2563 มีการเลื่อนบังคับคดีในช่วงโควิด-19 

แต่ต่อมาเดือน พฤศจิกายน 2563 ทางบริหารสินทรัพย์ ทำเรื่องส่งหมายยึดทรัพย์ มีกำหนดคือเริ่มเดินเรื่องบังคับคดีธันวาคม 2563- กุมภาพันธ์ 2564 ปิดหมายบังคับคดียึดทรัพย์ในเดือนเมษายน 2564 จดหมายแจ้งตารางขายทอดตลาดวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ขายทอดตลาด นัดแรก

ทั้งนี้แม้จะร้องทุกข์ไปทั้ง ส.ส.หรือ ภาครัฐ หรือ 1111 ช่วยอีกครั้ง แต่ก็เข้าใจว่าอาจช่วยไม่ได้เพราะศาลตัดสินมาแล้ว ยอมรับว่าคุณแม่เครียดมากทั้งที่ป่วย และหนีไปอยู่บ้านพักคนชราเพราะไม่อยากให้เธอเดือดร้อน ตอนนี้ก็ยังไม่รับคุณแม่ออกมาไม่ได้เพราะติดมาตรการโควิด

เมื่อแม่ออกมาก็กำลังจะถูกยึดบ้านและไม่มีที่อยู่อีกเช่นกัน ปัจจุบันต้องติดเครดิตบูโร ทำให้รีไฟแนนซ์ไม่ได้ เรื่องงานก็สะดุดไปด้วย จึงขอความเห็นใจช่วยซื้อบ้านเธอก่อนขายทอดตลาด พอเธอไม่ติดเครดิตบูโรจะมาไถ่ถอนคืนและแถลงข่าวขอบคุณ และอยากให้กรณีนี้เป็นกระบอกเสียงให้กว่า 30,000 คน ที่ประสบเหตุคล้าย ๆ กัน

เกี่ยวกับข้อกฎหมายเรื่องนี้ ชี้กว่าจะถึงกระบวนการขายทอดตลาด ใช้เวลาเป็นปี ไม่ใช่ไม่รู้ตัวมาก่อน

เพจเฟซบุ๊ก จับเข่าคุย LAW ให้ความรู้กรณีค้างค่าบ้าน 2 เดือน ถูกยึดบ้านขายทอดตลาดโดยไม่รู้ตัวเป็นไปได้หรือไม่นั้น โดยเพจระบุใจความว่า อันนี้ข้อเท็จจริงน่าจะคลาดเคลื่อน มีหลายขั้นตอนมากค่ะกว่าจะไปถึงขั้นการยึดทรัพย์ลูกหนี้ได้ ซึ่งกระบวนการโดยย่อมีดังนี้

ก่อนถึงชั้นศาล

– เจ้าหนี้ส่งโนติสทวงถามไปหาลูกหนี้

ชั้นศาล

– เจ้าหนี้ยื่นฟ้อง
– ศาลส่งหมายศาลไปถึงที่อยู่ของลูกหนี้ตามทะเบียนบ้าน

วันนัดศาล

– ถ้าลูกหนี้ไม่มาศาลเพื่อเจรจา ก็จะเป็นการสืบพยานฝ่ายเจ้าหนี้ฝ่ายเดียว

วันฟังคำพิพากษา

– ถ้าลูกหนี้ไม่มาฟังคำพิพากษา ต้องส่งคำสั่งศาลไปที่ทะเบียนบ้านของลูกหนี้
– ลูกหนี้มีเวลา 30 วันในการทำตามคำพิพากษา

ชั้นบังคับคดี

1. เจ้าหนี้ติดต่อสำนักงานบังคับคดี ตั้งเรื่องยึดทรัพย์สินของลูกหนี้มาชำระหนี้

2. เจ้าพนักงานบังคับคดี (จพค.) มีหนังสืออายัดไปยังสำนักงานที่ดินและส่งหมายแจ้งลูกหนี้

3. จพค. ส่งหมายสอบถามราคาประเมินไปยังสำนักงานประเมินทรัพย์สินกลาง

4. จพค. ส่งหมายแจ้งผู้รับจำนองเพื่อให้ส่งโฉนดมาใช้ในการขายทอดตลาด

5. จพค. ขออนุญาตศาลเพื่อขายทอดตลาด

6. จพค. พิมพ์หมายประกาศขายทอดตลาด

7. ถึงขั้นตอนการขายทอดตลาด

 

ข่าวจาก : kapook
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก จับเข่าคุย LAW , เฟซบุ๊ก นวินดา บริบูรณ์

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: