ศาลสั่งปรับ “คนไม่สวมแมสก์” แล้ว 8 คดี จ่าย 1-2 พันบาท





ศาลตัดสินแล้ว 8 คดี “ไม่สวมหน้ากากอนามัย” เมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือสถานที่พำนักละเมิดคำสั่งจังหวัดในการคุมโควิด สั่งปรับรายละ 1,000-2,000 บาท

วันนี้ (28 เม.ย.2564) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงภาพรวมของการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมทั่วประเทศกรณีไม่สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่นอกเคหสถานหรือสถานที่พำนักอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของจังหวัดต่าง ๆ ว่า ศาลยุติธรรมได้เริ่มรวบรวมสถิติคดีลักษณะดังกล่าวแล้วนั้น นอกจากที่มีการฟ้องคดีและมีคำพิพากษาไปแล้วในส่วนของศาลแขวงสุราษฎร์ธานี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 1 คดี จำเลย 1 คน ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2564 มีรายงานคดีเข้ามาอีกในศาลเขตพื้นที่ต่าง ๆ รวม 4 ศาล จำนวน 8 คดีด้วยกัน

โดยมีศาลจังหวัดเวียงสระ รายงานว่าเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 มีฟ้องเข้ามา 1 คดี จำเลย 2 คน ศาลลงโทษปรับคนละ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 1,000 บาท

และเมื่อวันที่ 27 เม.ย.2564 มีรายงานว่าที่ศาลจังหวัดเวียงสระมีฟ้องเข้ามาอีก 1 คดี จำเลย 1 คน ศาลลงโทษเท่ากันกับเมื่อวันที่ 26 เม.ย.

นอกจากนี้ในวันที่ 27 เม.ย. ยังมีที่ศาลแขวงพระนครศรีอยุธยา ฟ้อง 2 คดี จำเลยคดีละ 1 คน รวม 2 คน ศาลลงโทษปรับจำเลยคนละ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับคนละ 2,000 บาท

ศาลจังหวัดยะลาฟ้อง 2 คดี จำเลยคดีละ 1 คน รวม 2 คน ศาลลงโทษปรับจำเลยคนละ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กี่งหนึ่งคงปรับคนละ 2,000 บาท

และศาลจังหวัดเบตงฟ้อง 2 คดี จำเลยคดีละ 1 คน รวม 2 คน ศาลลงโทษปรับจำเลยคนละ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับคนละ 1,000 บาท

นายสุริยัณห์ กล่าวว่า การลงโทษที่มีข้อแตกต่างกันนั้นเนื่องจากผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีของแต่ละคดี ซึ่งอาจมีรายละเอียดและความหนักเบาแห่งการกระทำความผิดที่แตกต่างกัน การลงโทษจึงเป็นไปได้ที่จะไม่เท่ากัน

อย่างไรก็ตามขอย้ำกับประชาชนทั่วประเทศว่าขอให้ติดตามข่าวสาร การประกาศของทางราชการอยู่เสมอเพื่อจะได้ปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยทั้งของตัวเองและของผู้อื่น

ในส่วนของศาลยุติธรรมนั้นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สำนักงานศาลยุติธรรมมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อช่วยสนับสนุนงานการพิจารณาตัดสินคดีของผู้พิพากษา เพื่อลดการเดินทางของคู่ความที่จะต้องเดินทางมาศาลในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ในชั้นของการยื่นคำร้อง คำขอต่าง ๆ ไปจนกระทั่งถึงการสืบพยานสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกประกาศแนวทางการปฏิบัติให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศดำเนินการแล้ว

โฆษกศาลยุติกรรม กล่าวว่า ส่วนของการพิจารณาของศาลนั้น จะลงโทษตามระวางโทษที่กฎหมายกำหนด ส่วนบัญชีอัตราเปรียบเทียบแนบท้ายระเบียบ ฯ นั้น ใช้สำหรับผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ ซึ่งตามคำสั่งกรมควบคุมโรครวมถึงพนักงานสอบสวนด้วย บัญชีนี้ไม่ผูกพันให้ศาลต้องใช้ตามเกณฑ์ที่กำหนดว่าครั้งแรกต้องปรับ 6,000 บาท ศาลจึงยังคงมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจลงโทษได้ไม่เกิน 20,000 บาท ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว อาจเกินกว่าหรือต่ำกว่า 6,000 บาท ก็ได้

อีกทั้ง การชำระค่าปรับตามที่ถูกเปรียบเทียบปรับเป็นผลทำให้คดีอาญาเลิกกัน สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปไม่ต้องมาฟ้องคดีที่ศาลอีก หากไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบปรับคดีอาญาก็ยังไม่ระงับ เจ้าพนักงานก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้

 

ข่าวจาก : ThaiPBS

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: