ซีอีโอ 40 บริษัทใหญ่ห่วงไทยฉีดวัคซีนล่าช้า พร้อมจ่ายให้พนักงานเอง 1 ล้านคน





โควิด-19: ซีอีโอกว่า 40 บริษัทใหญ่ห่วงไทยฉีดวัคซีนล่าช้า เผยเอกชนพร้อมจ่ายค่าวัคซีนให้พนักงานเองกว่า 1 ล้านคน – BBCไทย

ผู้บริหารระดับสูงจาก 40 บริษัทชั้นนำของไทยแสดงความกังวลต่อการจัดหาและดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่เป็นไปอย่างล่าช้า โดยมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 0.4% ของประชากร ซึ่งอาจส่งผลต่อการเปิดประเทศ เสนอรัฐบาลให้ภาคเอกชนมาช่วยเจรจาหาซื้อวัคซีนเพิ่ม

ความเห็นและข้อเสนอดังกล่าวมาจากที่ประชุมระดมความคิดเห็นของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัทขนาดใหญ่กว่า 40 บริษัทจากทุกกลุ่มธุรกิจ จัดโดยหอการค้าไทยช่วงเย็นวันที่ 19 เม.ย. ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของภาคเอกชนเพื่อสะท้อนความเห็นและยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะบทบาทของภาคเอกชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้ไทยสามารถกลับมาเปิดประเทศไทยได้โดยเร็ว

“ผลสรุปจากการประชุม ซีอีโอทุกบริษัทเห็นตรงกันว่าขณะนี้ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปเพียง 0.4% ของประชากรเท่านั้น ซึ่งถือว่าล่าช้ามากสำหรับการที่จะเปิดประเทศที่จะต้องฉีดให้ได้ถึง 70% ของประชากร ภาครัฐจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับทุกคน” นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าว

ซีอีโอที่เข้าร่วมประชุมเห็นตรงกันว่าจะต้องมีการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ และภาคเอกชนสนับสนุนภาครัฐให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องดึงความร่วมมือจากทุกฝ่าย ประธานหอการค้าระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนวันที่ 20 เม.ย.นี้

เอกชนพร้อมช่วยการกระจายวัคซีน
แถลงการณ์ของหอการค้าฯ ระบุว่า สำหรับวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะเข้ามาตั้งแต่เดือนมิ.ย.นี้ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและวางแผนการกระจายวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ ซึ่ง หอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมา ให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด โดยจะเริ่มที่กรุงเทพฯ ก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่น ๆ

นอกจากนี้หอการค้ายังเสนอให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการเจรจาซื้อวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม

“หอการค้าไทยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2564 ต้องบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ 70% โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นด่านหน้าของกรุงเทพฯ ต้องได้รับการฉีดทั้งหมด 100% ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. ส่วนการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปในกรุงเทพฯ ต้องให้ได้อย่างน้อย 50,000 โดสต่อวัน โดยภาคเอกชนจะเข้ามาเสริมการทำงานของภาครัฐเพื่อให้ได้เป้าหมายดังกล่าว พร้อมกันนั้น จะจัดทำรูปแบบมาตรฐาน หรือรูปแบบตัวอย่างของภาคเอกชนที่สนับสนุนการฉีดวัคซีน ให้กับจังหวัดอื่น ๆ ภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้ และเชื่อมั่นว่า ภาคเอกชนสามารถใช้ความถนัด ความเชี่ยวชาญ และ ทรัพยากรของพวกเราเพื่อประเทศได้ ” นายสนั่นกล่าว

เสนอจัด 4 ทีมสนับสนุนการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ หอการค้าไทยและเครือข่าย จะแบ่งงานออกเป็น 4 ทีม เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีน ได้แก่

  • ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ช่วยสนับสนุน สถานที่ บุคลากร อาสาสมัคร และอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์เอกสาร เครื่องอ่านบัตรประชาชน ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพิ่มจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งตอนนี้ได้มีการเตรียมและไปลงพื้นที่สำรวจกับ กทม. แล้ว

ในระยะแรก จำนวน 10 พื้นที่ใน กทม. ที่เอกชนจะนำร่อง เช่น กลุ่มเซ็นทรัล , SCG , เดอะมอลล์ , สยามพิวรรธน์ , เอเชียทีค , โลตัส , บิ๊กซี , ทรูดิจิตัลพาร์ค เป็นต้น โดยจะสรุปกับ กทม. ภายในวันที่ 27 เม.ย. และในระยะถัดไปจะมีการหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชน

  • ทีมการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม เพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีน หลายคนไม่ยอมฉีด ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ภาครัฐจะทำระบบ “หมอพร้อม” เสร็จสิ้นในเดือน เม.ย. ซึ่งจะสามารถระบุสถานที่ต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน การจัดคิวการฉีดที่ไม่หนาแน่น หรือลำดับการฉีดที่เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัท อาทิเช่น Google, LINE, Facebook, VGI และ Unilever เป็นต้น
  • ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมสามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ โดยมีหลายบริษัท นำทีมโดย IBM เข้ามาสำรวจและปรับปรุงกระบวนการ
  • ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น นำโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งประเมินว่ายังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ

ผู้บริหารจาก 45 บริษัทที่เข้าประชุม ประกอบด้วย

  1. บจก.น้ำตาลมิตรผล
  2. บจก.ปูนซิเมนต์ไทย (SCG)
  3. บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์
  4. บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ
  5. บมจ.ซีแวลูกรุ๊ป
  6. บจก.เซ็นทรัลพัฒนา
  7. บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น
  8. บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป
  9. บมจ.ดุสิตธานี
  10. บมจ.เดอะมอลล์ กรุ๊ป
  11. บจก.โตชิบา ไทยแลนด์
  12. บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
  13. บจก.ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม
  14. บจก.ไทยน้ำทิพย์
  15. บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ
  16. บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป
  17. บมจ.ไทยวิวัฒน์ประกันภัย
  18. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  19. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
  20. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  21. ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
  22. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
  23. บมจ.บี.กริม เพาเวอร์
  24. บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล
  25. บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์
  26. COSO Foods Thailand & Vietnam of Pepsi Cola (Thai) Trading Co., Ltd.
  27. บจก.เมืองไทยประกันภัย
  28. บจก.ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง
  29. บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา
  30. บจก.โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท
  31. บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  32. บจก.ไลน์ ประเทศไทย
  33. บจก.สยามพิวรรธน์
  34. บจก.สิงห์ คอร์เปอเรชั่น
  35. บจก.หลักทรัพย์จัดการกองทุนเมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์
  36. บจก.เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม (เทสโก้ โลตัส ประเทศไทย)
  37. บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ปอเรชั่น
  38. บจก.ไอบีเอ็ม ประเทศไทย (IBM)
  39. บมจ. เอ็ม บี เค (MBK Group)
  40. บจก.เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย)
  41. บจก.กูเกิล (ประเทศไทย)
  42. Kao Industrial (Thailand) Co., Ltd.
  43. SIAM MAKRO PCL
  44. Minor International PCL
  45. Nestle Indochina, Nestle
ข่าวจาก : Khaosod Online
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ๆ
- ไม่สามารถ copy ข้อความจากที่อื่น แล้วนำมา paste ในช่องแสดงความคิดเห็น
- ไม่สามารถใส่ชื่อเว็บไซต์ใด ๆ ก็ตาม ลงในช่องแสดงความคิดเห็น
- ระบบสามารถรับข้อความ ได้สูงสุดเพียง 2,000 ตัวอักษร ต่อหนึ่งครั้ง
- ผู้ดูแลเว็บไซต์ จะลบข้อความที่ไม่เหมาะสม และข้อความโฆษณาสินค้า หรือบริการ
error: